กมธ.สภาฯ เรียก 'คลัง-แบงก์ชาติ' แจงเงินดิจิทัล19ต.ค. 'จุรินทร์' จี้หยุดใช้โล่กำบัง
กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ เรียก 'บิ๊กคลัง-แบงก์ชาติ' แจงเงินดิจิทัล19ต.ค.นี้ 'จุรินทร์'เขย่ารัฐบาล-เพื่อไทย หยุดเอาประชาชนเป็นโล่กำบัง
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ รักษาการหัวหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีนายเศรษฐา ทวีสินนายกรัฐมนตรีได้ออกมาเรียกร้องให้ประชาชนออกมาส่งเสียงต่อต้านการคัดค้านการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตคนละ 10,000 บาทของรัฐบาลว่า…ถ้าเอาเงินไปแจก ส่วนใหญ่ใครก็เอา ไม่ต้องไปถามหรือไปส่งเสียงให้เขาออกมาหนุนหรอก แต่ต้องบอกด้วยว่าเงินที่จะเอาไปแจกมันเงินของประเทศ เป็นเงินที่ประชาชนจะต้องแบกรับภาระร่วมกันในอนาคต ไม่ใช่เงินส่วนตัวของนายเศรษฐา คนที่เขาเห็นต่างเขาจึงมีสิทธิ์แสดงออก เพราะจะเป็นภาระกับเขาในอนาคตด้วย
และประชาชนก็ไม่ได้ออกมาเรียกร้องแต่แรกว่าต้องการเงินหมื่นบาท แต่เป็นเรื่องพรรคการเมืองที่ไปเสนอให้เพื่อแลกกับคะแนนตอนหาเสียง และเมื่อได้เสียงมาแล้วก็จำเป็นต้องทำ แต่ต้องทำบนความรับผิดชอบของพรรคการเมืองนั้นๆที่เป็นต้นคิด รวมทั้งรัฐบาลที่ไปผูกมัดไว้เป็นนโยบายด้วย
ฉะนั้นหากเกิดความเสียหายขึ้นในอนาคต จะไปโทษประชาชนหรือโทษคนอื่นไม่ได้ การไปปลุกประชาชนที่เห็นด้วย ให้ลุกขึ้นมาต่อสู้กับฝ่ายที่เห็นต่างจึงเป็นเรื่องไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการปลุกประชาชนออกมาชนกันแล้ว
ยังเหมือนไปเอาประชาชนมาเป็นโล่มนุษย์กำบังความรับผิดชอบประชานิยมในอนาคตให้กับพรรคการเมืองและรัฐบาลด้วย ซึ่งคนมีวุฒิภาวะไม่ควรทำ
ส่วนความคืบหน้าในการพิจารณาญัตติการติดตามการแจกเงินดิจิทัล ในคณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจของสภาผู้แทนราษฎรนั้น นายจุรินทร์กล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมแล้ว
โดยคณะกรรมาธิการได้มีมติให้เชิญกระทรวงการคลังและผู้แทนของธนาคารแห่งประเทศไทยมาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการในวันพฤหัสบดีที่19ต.ค.เวลา 9.30 น. ซึ่งเท่ากับว่านอกจาก ปปช. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการจากหลายสถาบันกำลังติดตามแล้ว กรรมาธิการของสภา ก็ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่นายกรัฐมนตรีเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วยกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทุกคนให้ออกมาแสดงออก สนับสนุน เพื่อเป็นกำลังใจให้รัฐบาลว่า เป็นสิทธิของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลจะเดินหน้าหรือถอยหลังในนโยบายที่หาเสียงไว้ระหว่างการเลือกตั้ง
เมื่อนายกฯ ตัดสินใจจะเดินหน้า นายกฯ ควรรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งคนที่เห็นด้วย และคนที่เห็นต่าง แต่ควรรับฟังคนที่เห็นต่างอย่างจริงจัง เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจให้ละเอียดรอบคอบมากที่สุด ไม่ควรมองคนเห็นต่างเป็นเสียงนกเสียงกา พวกขาประจำ ที่มีอคติออกมาขัดขวางการทำงานตามนโยบายที่หาเสียงไว้ของรัฐบาล
เพราะเมื่อพิจารณากลุ่มคนที่ออกมาแสดงความเห็นต่างส่วนมากก็เป็นกลุ่มคนที่ออกมาติติงนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาหลาย ๆ รัฐบาลเช่นกัน ขณะที่บางส่วนยังเป็นกลุ่มคนที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพรรคแกนนำรัฐบาลชุดนี้อีกด้วย ความคิดเห็นของคนเห็นต่างเปรียบเสมือนแสงสว่างนำทาง ทำให้นายกฯ ทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบมากยิ่งขึ้น
นายกฯ ไม่ควรปลุกประชาชนให้สนับสนุนนโยบายด้วยการแสดงออกว่าเห็นด้วยชนกับพวกที่ไม่เห็นด้วย หรือพวกที่เห็นต่าง ถึงแม้ภายหลังคนของรัฐบาลจะออกมาชี้แจงว่านายกฯ ไม่ได้ปลุกให้มาชนกัน แต่ก็เป็นการอ้อนประชาชนเพื่อให้ออกมาให้กำลังใจนายกฯ ให้กำลังใจรัฐบาลมากกว่า
แต่นายกฯ ก็ต้องเข้าใจว่าท่าทีการแสดงออกของนายกฯ ที่บอกว่า อ้อนประชาชน กับปลุกประชาชน เป็นเส้นแบ่งบางๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการทำนโยบายให้ประสบผลสำเร็จ และไม่ส่งผลดีต่อความน่าเชื่อถือต่อนายกฯ แต่อย่างใด
นายกฯ ควรอดทน อดกลั้น ต่อความเห็นต่าง พร้อมกับอธิบายความสร้างความเข้าใจให้ถึงที่สุด เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางที่นายกฯ ตั้งเป้าหมายไว้