เปิดผลงาน 2 ปีศูนย์ปราบโกงฯ ป.ป.ช. ยับยั้งความเสียหายงบประมาณกว่า 1.3 แสนล.
ป.ป.ช.เปิดผลงาน 2 ปี ศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ แจ้งเบาะแส 1,300 เรื่อง ยับยั้งความเสียหายงบประมาณกว่า 1.31 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. (Corruption Deterrence Center : CDC) ขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าระวัง และประเมินสภาวการณ์ทุจริตเพื่อให้สามารถป้องปรามและลดปัญหาการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงาน ตลอดจนเพื่อให้เกิดระบบการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงการทุจริตและการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วน เพื่อช่วยระงับยับยั้งการทุจริตและแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นระบบ สร้างความเชื่อมั่นต่อระบบเฝ้าระวังการทุจริตที่มีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือและผนึกกำลังต้านทุจริตในวงกว้างตามกลไกของกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
เลขาฯ ป.ป.ช. กล่าวว่า ซึ่งผลการดำเนินงานของศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 สามารถขับเคลื่อนงานด้านการป้องปรามการทุจริต โดยมีรายละเอียดตั้งแต่เปิด มีจำนวนเรื่อง ประเด็น หรือข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตเข้ามายังศูนย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 1,360 เรื่อง โดยจำแนกตามปีงบประมาณ ระหว่างเดือน มกราคม - กันยายน 2565 จำนวน 541 เรื่อง และระหว่างเดือน ตุลาคม 2565 - กันยายน 2566 จำนวน 819 เรื่อง
ผลการดำเนินการจากข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริต 1,360 เรื่อง แจ้งให้สำนักส่วนกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค หรือสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด รับทราบเพื่อดำเนินการ 220 เรื่อง และได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น มีการลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือดำเนินการเฝ้าระวัง และรายงานกลับแล้ว 1,140 เรื่อง โดยมีการตรวจสอบเฝ้าระวังและแจ้งหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเข้าดำเนินการแล้ว 844 เรื่อง เป็นการดำเนินการปรับปรุง แก้ไขแล้ว 245 เรื่อง ตรวจสอบปรากฏข้อมูลหลักฐานว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายกระทำการทุจริต 51 เรื่อง
สำหรับข้อมูลเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตที่เข้ามายังศูนย์ฯ แบ่งเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
1.การจัดซื้อจัดจ้าง ระบบสาธารณูปโภค เป็นกรณีขอให้ตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หรือ โครงการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค จำนวน 985 เรื่อง
2.การทุจริตต่อหน้าที่ แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบ 212 เรื่อง
3.ทรัพยากรธรรมชาติกรณีขอให้มีการตรวจสอบเจ้าพนักงานของรัฐดำเนินการเกี่ยวกับทรัพยากรสาธารณะไปแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย 118 เรื่อง
4.เรียกรับทรัพย์สิน เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด 42 เรื่อง
5.ร่ำรวยผิดปกติ สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ 3 เรื่อง เมื่อรวมงบประมาณโดยคำนวณเฉพาะงบประมาณโครงการที่ศูนย์ฯ ได้เข้าไปตรวจสอบเพื่อป้องปรามระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น รวมมูลค่างบประมาณกว่า 131,462,000,000 ล้านบาท