วาระด่วน! ป.ป.ช.ย้ำลุยสอบแจกเงินดิจิทัล ศึกษารอบด้าน ลดจุดเสี่ยงโกง
ป.ป.ช.ย้ำนโยบายแจก 'เงินดิจิทัลวอลเล็ต' 10,000 บาท เป็นวาระเร่งด่วน ดำเนินการตรวจสอบรอบด้าน อย่างรัดกุม ลดจุดเสี่ยงเกิดทุจริต จ่อเชิญนักวิชาการ-ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์การเงินการคลังร่วมศึกษาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข่าวสำนักงานป.ป.ช.ต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 ในการประชุมวุฒิสภา มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณารายงานผลการตรวจสอบ และผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ประจำปีงบประมาณ 2565 และรายงานสถานการณ์การทุจริตประเทศไทย ประจำปีงบประมาณ 2565
ในระหว่างการอภิปรายของสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำงานเชิงรุกของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อการตรวจสอบนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่สำคัญคือนโยบายเกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้กับประชาชน พบข้อท้วงติงจากฝ่ายต่าง ๆ และกังวลว่าจะซ้ำรอยโครงการรับจำนำข้าว ที่ได้สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาลมาแล้ว
นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงประเด็นข้อซักถามในการติดตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่รัฐบาลเตรียมดำเนินการ ว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ทำการศึกษาและรวบรวมรายละเอียดข้อมูล โดยได้ศึกษาคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน พ.ศ.2566 เกี่ยวกับโครงการเติมเงินหมื่นบาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต และนำไปวิเคราะห์ตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบาย และจะขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว นำเสนอข้อมูลให้แก่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และอาจมีการเชิญนักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินการคลัง มาเข้าร่วมศึกษาในรายละเอียดให้ครบถ้วน
นางสุวณา กล่าวด้วยว่า การตรวจสอบนโยบายสาธารณะของรัฐบาลดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจภายใต้กรอบของกฎหมาย เหมือนรัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา และแม้ว่าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท จะยังไม่มีการแถลงให้เห็นภาพที่ชัดเจนออกมา แต่ด้วยความห่วงใยจากสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับประเด็นการแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว ทางคณะกรรม ป.ป.ช. ถือเป็นวาระเร่งด่วน ที่จะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ และรัดกุมที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการทุจริต และคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก