เปิดที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วปท. 35 ล้านไร่ ก่อนนโยบาย ‘ธรรมนัส’ แจกเกษตรกรเกินครึ่ง
เช็คลิสต์ที่ดิน ส.ป.ก. ทั่วประเทศ พื้นที่เกษตรกรรมอยู่ใน 67 จังหวัด 3.1 ล้านแปลง เนื้อที่กว่า 35 ล้านไร่ ก่อนนโยบายแปลงโฉนดยุค ‘ธรรมนัส’ เตรียมแจกเกษตรกรกว่า 1.6 ล้านราย 22 ล้านไร่
ประเด็นการแจกที่ดินด้านเกษตรกรรมให้กับเกษตรกร นับเป็นหนึ่งในนโยบาย “เสาหลัก” ที่ปฏิบัติกันมาในทุกรัฐบาล เช่นเดียวกับรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 โดยใช้กลไกผ่านคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ “คทช.”
นโยบายดังกล่าวถูกขับเคลื่อนโดย “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมว.เกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในโต้โผสำคัญที่ริเริ่มโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่สมัยเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” โดยในช่วงเวลานั้นเขาดำเนินการยึดที่ดินจากบุคคลซึ่งครอบครองโดยมิชอบหลายพันไร่ กรณีสำคัญเช่น การยึดสวนส้มชื่อดังใน จ.เชียงใหม่ กว่า 7-8 พันไร่ การยึดที่ดินที่ถูกครอบครองโดยมิชอบ 2,432 ไร่ การลงพื้นที่ตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงไก่ของ “ปารีณา ไกรคุปต์” อดีต สส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งมีที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 กว่า 682 ไร่ เป็นต้น
แต่การขับเคลื่อนดังกล่าวยังไม่ทันสำเร็จเป็นรูปธรรมมากนัก ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งแบบ “ฟ้าผ่า” เนื่องจากถูกครหาว่าอาจเกี่ยวพันกับปฏิบัติการ “เลื่อยขาเก้าอี้นายกฯ” ช่วงซักฟอกรัฐบาลปลายปี 2564
กระทั่งกลับมามีบทบาทอีกครั้งช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 หลังจากนั้นเมื่อ “สมการการเมือง” เปลี่ยน “เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ เขาได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่ง รมว.เกษตรฯ หวังสานต่อนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ให้กับเกษตรกรอีกครั้ง
โดยในมติคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) เมื่อ 12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ที่มี “ผู้กองธรรมนัส” เป็นประธาน เคาะเห็นชอบหลักการ “แปลงที่ดิน” ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดให้แก่เกษตรกรหากถือครองครบกำหนด 5 ปี คิกออฟเป็น “ของขวัญปีใหม่” ให้แก่ประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
โดยหลักการแปลงที่ดินดังกล่าวมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ 5 ข้อคือ
1) การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่
2) สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด
3) ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด
4) สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ
5) ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ทั้งนี้มีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ โดย ส.ป.ก. จะทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่าง ๆ เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้
เบื้องต้นตรวจสอบข้อมูลการถือครองที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ที่อยู่ในมือของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ “ส.ป.ก.” มาให้ทราบดังนี้
โดยรายงานสรุปการจัดพื้นที่ทั้งประเทศ ของที่ดิน 3 ประเภท คือ ที่ดินเกษตรกรรม ที่ดินชุมชน และที่ดินเอกชน เมื่อเดือน ส.ค. 2566 ของ ส.ป.ก. ระบุว่า ที่ดินรวมทั้งประเทศมีจำนวน 72 จังหวัด ใน 726 อำเภอ 3,667 ตำบล โดยมีผู้ครอบครอง 2,996,068 ราย จำนวน 3,843,399 แปลง เนื้อที่ 36,582,232 ไร่
แบ่งเป็นพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด 179 อำเภอ 957 ตำบล ครอบครอง 722,770 ราย 954,243 แปลง เนื้อที่ 6,366,225 ไร่
ภาคกลาง 21 จังหวัด 127 อำเภอ 546 ตำบล ครอบครอง 347,161 ราย 443,490 แปลง เนื้อที่ 5,761,343 ไร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด 298 อำเภอ 1,662 ตำบล ครอบครอง 1,654,778 ราย 2,068,787 แปลง เนื้อที่ 18,594,052 ไร่
ภาคใต้ 14 จังหวัด 122 อำเภอ 502 ตำบล ครอบครอง 271,359 ราย 376,879 แปลง เนื้อที่ 3,860,612 ไร่
หากจำแนกรายละเอียด จะพบว่า ที่ดินของรัฐ คือที่ดินเกษตรกรรม และที่ดินชุมชน ซึ่งได้รับอนุญาตหรืออนุมัติจากปฏิรูปที่ดินจังหวัด หรือคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด โดยเป็นที่ดิน ส.ป.ก. ได้มาตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ เช่น ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดินป่าสเสื่อมโทรม ที่ได้มาจากกรมป่าไม้ตามมติ ครม. ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 เป็นต้น แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่
ที่เกษตรกรรม มีจำนวน 67 จังหวัด ครอบครอง 2,313,356 ราย จำนวน 3,100,349 แปลง เนื้อที่ 35,635,400 ไร่
ที่ชุมชม มีจำนวน 62 จังหวัด ครอบครอง 647,619 ราย จำนวน 696,525 แปลง เนื้อที่ 409,519 ไร่
ส่วนที่ดินเอกชน คือที่ดินที่ ส.ป.ก.ได้มาตามมาตรา 25 ทวิ หรือมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ได้แก่ ที่ดินพระราชทาน ที่ดินบริจาค ที่ราชพัสดุ และที่ดินเอกชนที่ ส.ป.ก.จัดซื้อโฉนดที่ดินหรือ นส.3 มาจากเอกชน หรือการจัดให้เช่าซื้อจากเอกชน มี 55 จังหวัด ครอบครอง 35,093 ราย จำนวน 46,525 แปลง เนื้อที่ 537,313 ไร่
ดังนั้นหากพิจารณาจากมติ ค.ป.ก. ที่เตรียมยกระดับโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะพบว่า อยู่ในเงื่อนไขของที่เกษตรกรรม ซึ่ง ส.ป.ก.ครอบครองใน 67 จังหวัด 2,313,356 ราย จำนวน 3,100,349 แปลง เนื้อที่ 35,635,400 ไร่ โดยในจำนวนนี้มีเกษตรกรเข้าเงื่อนไข 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิ 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่ 22,079,407 ไร่ เท่ากับว่า “เกินครึ่ง”
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับที่ดิน ส.ป.ก.ซึ่งกำลังถูกยกระดับแปลงเป็น “โฉนด” เพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกรในหลายจังหวัด กว่า 22 ล้านไร่ ทั่วประเทศ