ผ่า ‘เสาไฟประติมากรรม’ พันล้าน ขุมทรัพย์ ‘ท้องถิ่น’ วัดฝีมือ ป.ป.ช.
"...ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการ “เสาไฟประติมากรรม” ที่กลับมาหลอกหลอนสังคมไทยอีกครั้ง คงต้องรอวัดฝีมือ ป.ป.ช.ในฐานะ “แม่งาน” ในการตรวจสอบการทุจริตว่า จะดำเนินการเอาผิด “คนที่เกี่ยวข้อง” ได้แล้วเสร็จเมื่อใด?..."
ประเด็น “เสาไฟเครื่องบิน” ที่ถูกชาวโซเชียลฯขุดภาพกลับมาแชร์กันสนั่นในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา
เพราะต้องไม่ลืมว่า นอกเหนือจาก “ความสวยงาม” แล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นสำคัญคือ การใช้งานตรงวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการหรือไม่
ทว่า “เสาไฟประติมากรรม” ทั้งหลาย ล้วนตั้งอยู่ในเขตที่ “ร้างผู้คน” บางทีติดตั้งเสาถี่เกินไปจนเกินควร หรือบางครั้งต้นทุนต่อเสา “แพงเกินจริง” หรือไม่
ในบรรดา “เสาไฟประติมากรรม” ที่ถูกสาธารณชนวิพากษ์วิจารณ์ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา หนีไม่พ้นกรณีใหญ่ 2 กรณีคือ “เสาไฟกินรี” ดำเนินการโดย อบต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ และ “เสาไฟเครื่องบิน” ดำเนินการโดย อบต.หนองปรือ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ
ที่น่าสนใจ เอกชนที่เข้าไปรับงานโครงการติดตั้งเสาไฟทั้ง “เสาไฟเครื่องบิน-เสาไฟกินรี” มีบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เป็นคู่สัญญาเกือบทุกโครงการ รวมวงเงินอย่างน้อยเฉียด 1,000 ล้านบาท
ปัจจุบันเรื่องนี้ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบพบความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบแล้ว
เริ่มจากกรณี “เสาไฟเครื่องบิน” ของ อบต.หนองปรือ ที่ถูกขุดกลับมาให้วิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง
โดยตามข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อพบว่า มีการติดตั้งไปแล้วประมาณ 300 ต้น โดยตามเอกสารโครงการของ อบต.หนองปรือ ที่มีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะพบว่า ตกเสาละ 106,800 บาท โดยที่เป็น “โมเดลเครื่องบิน” จะติดตั้งบนถนนสายหลัก ส่วนถนนสายรอง และในตรอกซอกซอยต่าง ๆ จะไม่ติดตั้งโมเดลเป็นเสาไฟส่องสว่างปกติ
จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ พบว่า อบต.หนองปรือ ดำเนินโครงการติดตั้ง “เสาไฟเครื่องบิน” อย่างน้อย 12 สัญญา ระหว่างปีงบประมาณ 2562-2563 รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 97.3 ล้านบาท โดยมีบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เป็นคู่สัญญาทั้งหมด
อย่างไรก็ดี “อุดม กลิ่นพวง” นายก อบต.หนองปรือ (ขณะนั้น) เคยชี้แจงประเด็นนี้ว่า ราคาเสาไฟนั้นความเป็นจริงตกต้นละ 92,000 บาท โดยในสเปกเป็นสเตนเลส ค่อนข้างหนา เส้นผ่าศูนย์กลางจะใหญ่ ตัวเครื่องบินเป็นสเตนเลสขึ้นรูป จะมีความทนทานมาก นอกจากนี้ในการจัดทำโครงการนี้ยังผ่านเสียงของประชาคมในพื้นที่มาแล้ว
ต่อมา “เสาไฟกินรี” ที่โด่งดังอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ดำเนินการโดย อบต.ราชาเทวะ ถูกเผยแพร่ข้อมูลว่าเสาไฟดังกล่าวมีการจัดซื้อไปแล้วเกือบ 7,000 ต้น โดยระหว่างปีงบประมาณ 2556-2564 วงเงิน 871,020,971 บาท โดยเป็นมีบริษัท บางกอกไฟถนน จำกัด เป็นคู่สัญญาทั้งหมด
โดยเป็นการประกวดราคาปกติ และการสอบราคา แบ่งเป็น ปี 2556 วงเงิน 64,760,000 บาท ปี 2557 วงเงิน 2,534,519 บาท ปี 2561 วงเงิน 27,622,585 บาท ปี 2562 วงเงิน 171,840,000 บาท ปี 2563 วงเงินรวม 215,768,864 บาท ปี 2564 วงเงินรวม 388,505,000 บาท
ขณะที่ช่วงปีงบประมาณ 2565 อบต.ราชาเทวะ ยังอนุมัติงบประมาณจัดซื้อเสาไฟกินรีเพิ่มอีก 727 ต้น ด้วยงบประมาณ 69 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณจัดซื้อพร้อมติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) พร้อมระบบเตือนภัยฉุกเฉิน เพื่อติดตั้งภายในตำบลราชาเทวะ งบประมาณกว่า 50 ล้านบาท จนถูกหลายฝ่ายจับตาถึงความคุ้มค่า และความโปร่งใส เพราะโครงการ “เสาไฟกินรี” เดิมวงเงินราว 871 ล้านบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช.อยู่
ปัจจุบันคดีนี้ ป.ป.ช.ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแล้วไม่ต่ำกว่า 40 คน ใน 2 สำนวน จากทั้งหมด 5 สำนวน ในจำนวนนี้รวมถึงชื่อของ “ทรงชัย นกขมิ้น” นายก อบต.ราชาเทวะ (ขณะนั้น) ซึ่งกำลังเผชิญชะตากรรมถูกชี้มูลผิดไปแล้ว 2 คดีก่อนหน้านี้ ทั้งกรณีการจัดซื้อรถยนต์ดับเพลิงกู้ภัยแบบกระเช้าบันได ดำเนินการปี 2555 และคดีจัดซื้อกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เมื่อปี 2557 ด้วย
นอกเหนือจากเสาไฟประติมากรรมที่โด่งทั้ง 2 อย่างข้างต้นแล้ว ยังพบว่า ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายพื้นที่ มีการจัดซื้อเสาไฟลักษณะเดียวกันด้วย รวมวงเงินอีกหลายร้อยล้านบาท
ประเด็นร้อนของ “เสาไฟประติมากรรม” ทำให้หลายภาคส่วนเริ่มขยับตัวหามาตรการป้องกัน “ช่องโหว่” ในการดำเนินโครงการดังกล่าวทันที
เช่น รศ.อิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินลุยตรวจสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟประติมากรรม และเสาไฟโซล่าเซลล์ทั่วประเทศ พบว่ามีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกหลายแห่งกำลังดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรม โดยมีลักษณะการใช้งบประมาณที่สูงเกินความจำเป็น ขาดการคำนึงถึงความเหมาะสม ความคุ้มค่า จึงเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกระทรวงมหาดไทย ร่วมหารือพร้อมติดตามการแก้ไขปัญหา
โดยพบข้อสังเกตสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
1.ยังไม่มีการกำหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะ และราคากลางของเสาไฟฟ้าประติมากรรมสำหรับเป็นมาตรฐานอ้างอิงราคาประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้กรมบัญชีกลางจะจัดทำฐานข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยมุ่งว่าจะส่งผลต่อความคุ้มค่า โปร่งใส เกิดประสิทธิผล และตรวจสอบได้มากยิ่งขึ้น
2. ยังไม่มีแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้างเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 แต่กรมบัญชีกลางจะกำลังเสนอมาตรการป้องปราม ต่อคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ โดยให้ส่วนขั้นตอนการประชาคมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ควรต้องแจ้งวงเงินงบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละครั้ง เพื่อให้ทราบว่าการจัดซื้อจัดจ้างนั้นวงเงินเท่าไหร่ เพื่อประกอบการพิจารณาถึงความคุ้มค่าที่จะได้รับ ที่สำคัญองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแจ้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อทราบด้วย
3. แนวทางและมาตรการเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณในการติดตั้งเสาไฟฟ้าประติมากรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยได้มีการหารือถึงเรื่องการกำกับการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพโดยแยกเป็น 2 ส่วน คือเรื่องเสาไฟฟ้ากับเรื่องประติมากรรม โดยเสาไฟฟ้าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ที่สามารถกำหนดราคากลางได้ และต้องชัดเจนเรื่องความคุ้มค่า เช่น ความสูงของเสาไฟ ความสว่าง ระยะห่าง เป็นสิ่งต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน
ทั้งหมดคือความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการ “เสาไฟประติมากรรม” ที่กลับมาหลอกหลอนสังคมไทยอีกครั้ง คงต้องรอวัดฝีมือ ป.ป.ช.ในฐานะ “แม่งาน” ในการตรวจสอบการทุจริตว่า จะดำเนินการเอาผิด “คนที่เกี่ยวข้อง” ได้แล้วเสร็จเมื่อใด?