‘เพื่อไทย’ รัฐบาล 4 นายกฯ มือซูเปอร์เซฟ ‘กองทัพ’
แม้ "พรรคเพื่อไทย" ถูกมองเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ กองทัพ เหตุถูกรัฐประหาร2ครั้ง แต่เมื่อกลับมามีอำนาจก็เลือกดูแลกองทัพอย่างดี นับตั้งแต่ยุค สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึง “นายกฯเศรษฐา”
นัยหนึ่งอาจมองได้ว่า “รัฐบาลเพื่อไทย” ภายใต้การนำของ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ และรมว.คลัง เล็งเห็นความสำคัญของการคงไว้ซึ่ง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ “กอ.รมน.” องค์กรทหารที่มีอำนาจเหนือรัฐ ในยุคสงครามเย็น เพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์
หลังพิสูจน์แล้วว่าการใช้ กอ.รมน. เป็นตัวขับเคลื่อนบูรณาการทำงานส่วนราชการต่างๆ ผลักดันนโยบายรัฐบาลนั้นเวิร์กเพียงใด หลังการขอคืนที่ดินในครอบครองของกองทัพ จัดสรรให้ประชาชนทำกินสำเร็จเป็นรูปธรรม ในเวลาไม่ถึง 2 เดือน กลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง “รัฐบาลเพื่อไทย” เตรียมส่งมอบให้ประชาชนเป็นของขวัญปีใหม่นี้
ต่อคิวมาติดๆ ข้อสั่งการ “นายกฯเศรษฐา” ขอให้ กอ.รมน. และกองทัพ เป็นกลไกสำคัญปัดเป่าภัยพิบัติให้ประชาชน ด้วยการระดมทรัพยากร กำลังพล บูรณาการส่วนราชการทำงานในเชิงรุก เพื่อรับมือภัยแล้งที่กำลังมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะปัญหาใหญ่เอลนีโญ
ไม่สน ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือร่างกฎหมายยุบ กอ.รมน.ของ “รอมฎอน ปันจอร์” ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นประชาชน ซึ่งต้องได้รับการรับรองจากนายกฯ ถึงจะเข้าสู่การพิจารณาสภาฯได้ เพราะเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวด้วยการเงิน
“เศรษฐา” ประกาศลั่น การยุบหน่วยงาน กอ.รมน. ไม่ได้เป็นหนึ่งในนโยบายรัฐบาลเพื่อไทย โดยมี “ผบ.เหล่าทัพ” ยกแผงกันมายืนเป็นแบ็คกราวนด์ ขอให้โฟกัสที่การทำงานมากกว่าการสร้างวาทกรรม พร้อมบอกให้"ก้าวไกล" เข็นร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสภาฯ เอาเอง
“ไม่อยู่ในความคิด และนโยบายของรัฐบาลแม้แต่สักน้อย ชัดเจนนะครับ วันนี้หน่วยงานรัฐทำงานรวดเร็ว พูดกันอย่างผู้ใหญ่ๆ ขอไปเรื่องเดียว ขอไปแป๊บเดียว เดือนครึ่งก็ออกมาแล้ว เราพูดด้วยผลงาน ฝ่ายกองทัพ หน่วยงานรัฐ และฝ่ายพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง เราทำงานอย่างเดียว” นายกฯ ระบุ
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีกด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ที่เอื้ออาทร พึ่งพากันระหว่างรัฐบาลเพื่อไทยกับกองทัพ ซึ่งไม่เพียงแต่ประเด็นร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.เท่านั้น ที่ “เศรษฐา”ประกาศตัดรอนพรรคก้าวไกล หันมาเป็นแบ็คให้กองทัพ
ในส่วน “ประชาชาติ” พรรคร่วมรัฐบาลถึงกับดีใจเก้อ กับนโยบาย 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปลอดกฎหมายพิเศษที่ได้หาเสียงไว้
เดิมที“เศรษฐา” มีท่าทีจะเดินตามแนวทางดังกล่าวหลัง ไฟเขียวต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพียง 1 เดือน เพื่อให้เวลากองทัพปรับแผนการทำงาน
แต่หลังจากกองทัพได้ทำข้อมูล โดยยกสถิติตัวเลขการก่อเหตุในพื้นที่มาเป็นตัวชี้วัด ขอคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน"อำเภอเป็นสีแดง"ที่ยังมีความเคลื่อนไหวและก่อเหตุสูง ส่วน"อำเภอเป็นสีเขียว"ให้ยกเลิก บางอำเภอยกเลิกไปแล้ว ก็กลับมาประกาศใช้ใหม่ เช่น อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส
ก่อนที่ “เศรษฐา” ไฟเขียวเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในจังหวัดชายแดนภาคใต้ออกไป 3 เดือน ระหว่างวันที่ 20 ต.ค.2566 -19 ม.ค.2567 แบบเงียบๆ ไม่มีการแถลงข่าวภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเสร็จสิ้น
“รอมฎอน” เดินเกมกดดันทุกทาง ไม่ให้ ร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน.ของก้าวไกลตกน้ำ ไม่ถูกบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาฯ โดยใช้ทั้งพลังโซเชียลมีเดีย โชว์ตัวเลขถลุงงบประมาณ 15 ปี กอ.รมน.กว่าแสนล้านบาท ควบคู่กระทุ้งจุดยืน “พรรคประชาชาติ” ที่มีฐานเสียงสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะหาก “เศรษฐา” และพรรคเพื่อไทย ไม่เอาด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ยุบ กอ.รมน. แนวโน้มร่างกฎหมายชุดปฏิรูปกองทัพ ของพรรคก้าวไกลที่เหลืออยู่อีก 4 ฉบับ ที่รอบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภาฯ คงไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ทั้ง ร่าง พ.ร.บ. รับราชการทหาร เพื่อยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติ และเปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ 100% ร่าง พ.ร.บ. จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ เพิ่มความโปร่งใสเรื่องภาระค่าใช้จ่าย และเงินนอกงบประมาณของรัฐ ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศ และคำสั่งหัวหน้า คสช.
แม้พรรคเพื่อไทยจะถูกมองเป็นไม้เบื่อไม้เมากับกองทัพ เหตุถูกทหารทำรัฐประหารถึง 2 รอบ แต่เมื่อกลับมามีอำนาจก็เลือกเล่นบทสมานฉันท์ ดูแลกองทัพอย่างดีมาโดยตลอด นับตั้งแต่ยุค สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนมาถึง “นายกฯเศรษฐา”
ชัดเจนว่ารัฐบาลเพื่อไทย ยืนหยัดแนวทางเดิม เปลี่ยนจาก “ปฏิรูปกองทัพ” มาเป็น “พัฒนาร่วมกัน” พิสูจน์ได้จาก “กอ.รมน.” ที่เลือกจะปรับภารกิจ แทนการยุบทิ้ง