ป.ป.ช.ระดมสมองเคาะประเมิน ITA 3 หน่วยงาน ตร. 'ทางหลวง-ท่องเที่ยว-ตม.'
ป.ป.ช.เชิญ 'บิ๊กเนม-นักวิชาการ' ระดมสมอง ขยายการประเมินคุณธรรมความโปร่งใส ลงสู่ 'ตำรวจทางหลวง-ตม.-ตร.ท่องเที่ยว'
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนากรอบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรม (สถานีตำรวจ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต้อนรับคณะ ผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็น
โดยคณะผู้เข้าร่วมระดมความคิดเห็น ประกอบด้วยคณะกรรมการ ITA คณะผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาทิ พล.ต.ต.พิทักษ์ อุทัยธรรม รอง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร. ศ.พล.ต.ต หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา ที่ปรึกษาคณะตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อาจารย์ฉวีวรรณ นิลวงศ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พันตำรวจโท วิชิต อาษากิจ อาจารย์ (สบ.2) กลุ่มงานคณาจารย์ตำรวจศาสตร์ โรงเรียนนายร้อย ดร.วิชิต แย้มยิ้ม นักวิชาการ ผู้แทนจเรตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดตำรวจภูธร ภาค 1 – 9 ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้แทนหน่วยงาน ในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ผู้แทนหน่วยงานในสังกัดกองบังคับการตำรวจทางหลวง และเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช.
ทั้งนี้ ดร.ชนิดา อาคมวัฒนะ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาระบบและวิชาการ สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ร่วมกับ คณะผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นวิทยากรกระบวนการร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคู่มือและเครื่องมือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐระดับสถานีตำรวจ ให้ครอบคลุมกลุ่มหน่วยงานเป้าหมายที่เพิ่มขึ้น อันได้แก่
- กองบังคับการตำรวจนครบาล
- ตำรวจภูธรจังหวัด
- สถานีตำรวจในสังกัดกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว
- สถานีตำรวจในสังกัดสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
- สถานีตำรวจในสังกัดกองบังคับการตำรวจทางหลวง
สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีการหารือร่วมกันในประเด็นการขยายการประเมิน ITA ลงสู่ตำรวจทางหลวง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว คือ
1. กำหนดกรอบเกณฑ์การประเมิน สัดส่วน เกณฑ์การให้คะแนนของสถานีตำรวจ
2. การยกระดับและปรับข้อคำถามและการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะของสถานีตำรวจ
2.1 แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (EIT) มีการปรับข้อคำถาม เน้นเรื่อง การเรียกรับสินบนเฉพาะกลุ่มงานของผู้มารับบริการ
2.2 แบบตรวจการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ (OIT) มีการเพิ่มข้อมูลให้สอดคล้องตามบทบาท และภารกิจของสถานีตำรวจมากยิ่งขึ้น
- ข้อมูลการดำเนินงานในเชิงสถิติ เช่น ในเรื่องการตั้งด่านจุดตรวจ จุดสกัด และสถิติด้านคดี
- รายการตรวจ (Checklist) ในการพิจารณาการออกใบอนุญาต เช่น การขออนุญาตต่อวีซ่า
- การประเมินความเสี่ยงการทุจริต มุ่งเน้นการป้องกันเรื่องการรับสินบน
- แนวทางการจัดเก็บของกลาง
- มาตรการ No Gift Policy ของผู้บริหารสถานีตำรวจ
- การพัฒนายกระดับการให้บริการ/One Stop Service
การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาคู่มือและเครื่องมือประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ระดับต่ำกว่ากรม (สถานีตำรวจ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ถือเป็นการพัฒนาประเด็นข้อคำถามให้สอดคล้องกับบทบาท ภารกิจของสถานีตำรวจ พ.ศ. 2567 ให้ครอบคลุมกับการขยายการประเมินเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายในปีงบประมาณ พ.ศ.2567
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. จะร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อสอบทาน คู่มือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ(Integrity and Transparency Assessment: ITA) ของหน่วยงานระดับต่ำกว่ากรม (สถานีตำรวจ) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ครั้งที่ 2 ในวันที่ 13 พ.ย. 2566 ต่อไป