อ.ส.ค. คว้าคะแนน ITA ปี66 ด้านคุณธรรม-ความโปร่งใส 6 ปีซ้อน
อ.ส.ค. สุดปลื้มคว้าคะแนน ITA ปี2566เฉลี่ย 94.09 ด้านคุณธรรม-ความโปร่งใส 6ปีซ้อน อยู่ในระดับเกณฑ์ดี เป็นอันดับ 3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมสนองนโยบายภาครัฐเร่งพัฒนาขีดความสามารถ ยกระดับคุณธรรม ธรรมาภิบาล บริหารจัดการองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นายสมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยว่า จากความมุ่งมั่นในการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณธรรมและธรรมาภิบาล ตลอดจน ความโปร่งใสในการบริหารจัดการองค์กรของ อ.ส.ค.ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปลูกฝัง และสร้างวัฒนธรรมคุณธรรมและความโปร่งใสในองค์กรในการปฏิบัติงาน ควบคู่กับการสร้างนวัตกรรมและนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการองค์กร
ส่งผลให้ อ.ส.ค.สามารถคว้ารางวัลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้รับการประเมินในภาพรวมมีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 94.09 ในระดับเกณฑ์ดี และอยู่ในอันดับ 3 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอันดับ 29 จาก 51 หน่วยงานของรัฐวิสาหกิจทั้งหมดของประเทศ
ทั้งนี้ สำหรับจากสถิติผลการประเมินในรอบ 5 ปี ของ อ.ส.ค.ที่ผ่านมา คือ ในปี 2565ได้รับคะแนน 94.48, ปี 2564 ได้รับคะแนน 96.17, ปี 2563 ได้รับคะแนน 91.29 และปี 2562ได้รับคะแนน 94.31 ซึ่งคะแนนที่ได้รับในปีนี้ อ.ส.ค.ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี และมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก
สำหรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดให้ทุกหน่วยงานเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ผ่านระบบ ITAs
โดยการประเมิน ITA ในปีนี้ มีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งสิ้น 8,323 หน่วยงาน โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 และสิ้นสุดการประเมินในวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินและความถูกต้องน่าเชื่อถือทางวิชาการ โดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญโดยกำหนดตัวชี้วัดในประเด็นต่างๆ จำนวน 10 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย
การป้องกันการทุจริต, การเปิดเผยข้อมูล, การปฏิบัติหน้าที่, การใช้อำนาจ, การใช้ทรัพย์สินของราชการ, การใช้งบประมาณ, การแก้ไขปัญหาการทุจริต, คุณภาพการดำเนินงาน, การปรับปรุงการทำงาน และประสิทธิอภาพการสื่อสาร รวมทั้งเก็บข้อมูลจาก 3 แบบวัด คือ 1.แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน 2.แบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก และ 3. แบบวัดการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ
“อ.ส.ค.มีความมุ่งมั่นในการสนองนโยบายภาครัฐด้วยการเร่งพัฒนาขีดความสามารถ ในการยกระดับคุณธรรมและธรรมาภิบาล ตลอดจนความโปร่งใสในการบริหารจัดการองค์กรของอ.ส.ค.ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดยิ่งขึ้นไปอีก”