‘ภูมิธรรม’ ไล่ ‘พปชร.’ ถาม ‘ประวิตร’ ทำไมเคยไปเจรจากัมพูชา ตาม MOU44

‘ภูมิธรรม’ ไล่ ‘พปชร.’ ถาม ‘ประวิตร’ ทำไมเคยไปเจรจากัมพูชา ตาม MOU44

“ภูมิธรรม” โยน กต. ชงเรื่องตั้ง JTC ถกแบ่งขุมทรัพย์ พื้นที่ทับซ้อนกัมพูชา ไล่ พปชร. กลับไปถาม “ประวิตร” ตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา ระบุ ต้องดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลอย่างไร

ที่ทำเนียบรัฐบาลนาย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี  และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา เพื่อเจรจาพื้นที่ทับซ้อน ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการชุดเดิม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ เป็นประธาน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ จะมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน ตัวแทนกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ กรมเอเชีย กฤษฎีกา ประมาณนั้น กระทรวงต่างประเทศเป็นเจ้าของเรื่องโดยตรงต้องทำเรื่องมา ถ้าเป็นความมั่นคงเรื่องก็ส่งมาที่ตน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นรายละเอียด และตนยังไม่ทราบจะเป็นประธานหรือไม่ ทางกระทรวงต่างประเทศเป็นผู้เสนอน่าจะทราบ 

เมื่อถามว่า นายกฯ ระบุว่าหากยกเลิก MOU44 ไทยจะเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และยกฝั่งจ.ตราด และเกาะต่างๆให้ไทย ดังนั้น เกาะกูดหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว การแบ่งเส้นเขตแดน จึงเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลง และทางกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้น การนำมาเป็นประเด็นว่าจะยกเกาะกูดให้จึงไม่เป็นจริง และไม่เกี่ยวกับMOU ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกฯได้ประกาศแล้วว่าเราจะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป และรักษาไว้เท่าชีวิต ขอให้ยุติเรื่องนี้เพราะเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

นายภูมิธรรม กล่าวว่า MOU44 เกิดขึ้นจากการประกาศไหล่ทวีป ซึ่งปี 2515 กัมพูชาประกาศพื้นที่มาใกล้เขตแดนไทย และปี 2516 เราก็ประกาศไปใกล้เขตแดนเขา ดังนั้น จึงมีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวก็เป็นเรื่องของเอ็มโอยูที่บอกว่าในโลกทั้งหมดไม่ว่าใครที่มีพื้นที่ทับซ้อนจะต้องเจรจา ดังนั้น MOU44 จึงเป็นข้อตกลงที่ให้ไปเจรจากัน ว่าการแบ่งดินแดนในทะเลจะเป็นของใคร หากเข้าใจตรงนี้ก็จะไม่สับสนแล้วมาตั้งคำถามที่เป็นปัญหา ดังนั้น ไทยกับกัมพูชาจึงต้องเจรจากัน เพราะหากไทยยกเลิกตรงนี้ก็เท่ากับว่าไทยไม่รักษาสิทธิในเขตแดน

นายภูมิธรรม กล่าวว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศ เสนอให้ยกเลิก MOU44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และเรื่องชายแดนต่างๆ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทุกหน่วยงานยืนยันว่า MOU44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา และที่บอกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง และในปี57 สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ดำเนินการต่อโดยมีพล.อ.ประวิตร ไปเจรจาเรื่องMOU44 ดังนั้น ไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์ และข้อตกลงระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส จึงอย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และหากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าวก็คงต้องหาคำตอบกันเอง และสำหรับประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบอีกแล้ว

เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่พรรคพลังประชารัฐออกมาโจมตีเรื่องนี้ ทั้งที่ปี57 พล.อ.ประวิตร เป็นประธานเจรจาเรื่องดังกล่าว นายภูมิธรรม กล่าวว่า กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจาMOU44ทั้งหมดเหมือนกัน ถ้าถามแบบนี้พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา

เมื่อถามว่า เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ กับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิกยกมาโจมตีในรัฐบาลนี้ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าควรยืนยันข้อเท็จจริง และหากถามมาก็ทำให้ภายในแตกแยก และวันนี้ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย

เมื่อถามว่า หลักการเจรจาแบ่งขุมทรัพย์ใต้ทะเล รัฐบาลนี้จะแบ่งเท่ากันหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปคุยตรงนั้นเลย เพราะมันยังไม่เกิดถึงเวลาเราใช้กฎหมายทางทะเล และกฎหมายระหว่างประเทศเป็นตัวดำเนินการ