‘อนุทิน’ ชี้ เลิก MOU44 ต้องเจรจาให้ ‘กัมพูชา’ ยินยอม

‘อนุทิน’ ชี้ เลิก MOU44 ต้องเจรจาให้ ‘กัมพูชา’ ยินยอม

“อนุทิน” เผย ไม่เคยได้ยิน พรรคร่วมฯ ไม่ปลื้ม แก้สัญญารถไฟฟ้า 3สนามบิน ยัน เกาะกูดเป็นของไทยทุกตารางนิ้ว แจง ยกเลิก MOU44 ต้องเจรจา กัมพูชา ต้องยอมถึงจะได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมพรรคร่วมรัฐบาลตามคำเชิญของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ได้รับแจ้งว่า นายกฯได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุย น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรืออะไรต่างๆ ซึ่งตนต้องฟังที่ประชุม เพราะเป็นการหารือโดยที่ไม่มีเอกสาร หรือวาระประชุมใดๆ เป็นการหารือทั่วไป และเป็นไปตามที่นายกฯ เคยพูดไว้ว่า ถ้ามีประเด็นอะไรให้มันเป็นทางการน้อยๆ หารือกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เดี๋ยวก็ไปฟัง เมื่อหารือเสร็จ ท่านคงมีข้อมูลมาให้ผู้สื่อข่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรค ภท. ไม่ปลื้มโครงการหรือนโยบายใดๆ ของรัฐบาลหรือไม่ ที่จะนำมาหารือ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไรไม่ปลื้มเลย ทำงานด้วยกัน เมื่อถามถึงกรณีการแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลไม่ปลื้ม ได้ยินเรื่องนี้บ้างหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่เคยได้ยินเลย

เมื่อถามว่า กรณีเอ็มโอยู 44 พรรค ภท.มีข้อห่วงใยหรือกังวลอะไรหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ในฐานะตนเป็น รมว.มหาดไทย โดยเจตนารมณ์และการไปสืบหาข้อมูลหลักฐานอะไรต่างๆ ยืนยันว่า เกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีประเด็นอื่นใดทั้งสิ้น เกาะกูดเป็นดินแดนในราชอาณาจักรไทยทุกตารางนิ้ว เรามีพี่น้องประชาชนอยู่ที่นั่น ได้รับการยกฐานะให้เป็นอำเภอหนึ่งของ จ.ตราด ฉะนั้น ข้อกังวลอะไรต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกาะกูดว่า จะมีการเสียดินแดนบางส่วนจากเส้นที่เขาลากมา ขอยืนยันว่า ไม่มี เพราะมีทั้งพระบรมราชโองการ และยังมีข้อมูล รวมถึงบันทึกต่างๆ ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับว่า เกาะกูดเป็นของไทย 

เมื่อถามว่า มีเสียงเรียกร้องให้ ยกเลิก MOU44  เพื่อลดความหวาดระแวง นายอนุทิน กล่าวว่า เอ็มโอยู หรือบันทึกข้อตกลงความเข้าใจเป็นการลงนามทั้งสองฝ่าย ถ้าจะยกเลิกโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยกเลิกไม่ได้ เพราะเป็นการยินยอมทั้งสองฝ่าย เรื่องนี้ก็ชัดเจน ฉะนั้น ต้องระวังในเรื่องของการรับข่าวสาร บางกลุ่มไปพูดว่า เอ็มโอยูฉบับนี้เคยจะถูกยกเลิกหลังจากมีการลงนามไปแล้ว ถามว่า ยกเลิกได้หรือไม่ ยกเลิกได้ แต่ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน เหมือนกับสัญญา อยู่ดีๆ เราไปเซ็นอะไรร่วมกับเขาแล้วบอกว่า ไม่เอาแล้ว ไม่ชอบ ยกเลิกฝ่ายเดียว แต่ถ้าเกิดเขาบอกว่า ก็ไม่ชอบเหมือนกัน ตรงนี้ยกเลิกได้ แต่ถ้าเขาบอกว่า มันยังต้องเป็นไปตามนั้นอยู่ มันเป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตรงนี้อยากฝากผู้สื่อข่าวอย่าไปเสนอประเด็นว่า เอ็มโอยูฉบับนี้จะถูกยกเลิก หรือมีการนำเสนอจะให้ยกเลิก ทั้งหมดต้องผ่านการเจรจา อยากจะยกเลิก ยกเลิกได้ก็ต้องไปเจรจากับเขาว่า ควรจะยกเลิก ถ้าเขายอมก็ยกเลิกได้