ป.ป.ช.เชิญเลขา ส.ป.ก.แจง ปมแจกโฉนดยุค 'ธรรมนัส' ยกระดับจับตาป้องทุจริต

ป.ป.ช.เชิญเลขา ส.ป.ก.แจง ปมแจกโฉนดยุค 'ธรรมนัส' ยกระดับจับตาป้องทุจริต

คณะกรรมการเฝ้าระวังทุจริตฯ ป.ป.ช.จับตานโยบายปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ยุค 'ธรรมนัส' จ่อเชิญเลขา ส.ป.ก.แจง หลังเตรียมแจก ปชช.กว่า 1.6 ล้านราย 22 ล้านไร่

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่ข้อมูล กรณีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต มีนางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานคณะกรรมการฯ

โดยในการประชุมครั้งที่ 19/2566 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 ได้พิจารณานโยบายของรัฐบาล ตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 แล้วมีมติให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ศึกษาและเฝ้าระวังการทุจริตเกี่ยวกับนโยบายการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ประสงค์จะแก้ไขปัญหาเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ โดยการนำที่ดินมาจัดให้กับเกษตรกร

โดยเกษตรกรจะเป็นผู้ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง และป้องกันมิให้ที่ดินตกอยู่ในมือของนายทุนหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดใดกลุ่มหนึ่งที่อาศัยเกษตรกรถือครองที่ดินแทน ซึ่งกรณีการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ดังกล่าว คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ในการประชุมครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ได้มีมติเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมีการแต่งตั้งคณะบุคคลเพื่อพิจารณาและแก้ไขระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการประชาพิจารณ์ร่างระเบียบที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม – 10 พฤศจิกายน 2566 และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษามีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 โดยสามารถออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมฉบับแรกได้ภายในวันที่ 15 มกราคม 2567

สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงเบื้องต้น และมีแผนจะเชิญเลขาธิการ ส.ป.ก. เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต เพื่อชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประกอบการเฝ้าระวังการทุจริตตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2566 ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประธานประชุม คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) ว่า ได้พิจารณาหลักการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)

โดยเห็นชอบหลักการปรับปรุงเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 เพื่อยกระดับเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่สำคัญ คือ

1.การจัดที่ดินยังคงเป็นไปเพื่อประกอบเกษตรกรรมตามศักยภาพของพื้นที่

2. สามารถเปลี่ยนมือได้ระหว่างเกษตรกรที่มีคุณสมบัติด้วยกันตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรณีที่ต้องการประกอบกิจกรรมทางการเกษตรต้องจะถือครองได้ไม่เกิน 50 ล้านไร่ กรณีทำกิจกรรมด้านปศุสัตว์ถือครองได้ไม่เกิน 100 ไร่

3. ต้องปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนด 4. สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้ทุกแห่ง โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ (SFIs) และ5. ต้องถือครอง ส.ป.ก. 4-01 และทำประโยชน์มาไม่น้อยกว่า 5 ปี

โดยมีเกษตรกรที่เข้าเงื่อนไข จำนวน 1,628,520 ราย เอกสารสิทธิรวม 2,205,561 ฉบับ เนื้อที่รวม 22,079,407.67 ไร่ ทั้งนี้ ส.ป.ก. จะเป็นนายทะเบียนในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่างๆ เอง