สัญญาประชานิยม ‘เศรษฐา’ ‘ค่าแรง 400’ ซื้อใจโหวตเตอร์?
"สัญญาประชานิยม" จากปาก “เศรษฐา ทวีสิน” ประกาศกลางสภา ในวันแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 12 พ.ย.2566 "ขึ้นค่าแรง" 400 บาท โดยเร็วที่สุด เวลานี้ถูกจับตาพร้อมทวงถามถึง "ของขวัญปีใหม่" ที่จะมอบให้ประชาชน
“ค่าแรงขั้นต่ำเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องนี้เราจะมีการเจรจาทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งแรงงาน ผู้ว่าจ้าง และรัฐบาล เพื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำให้อยู่ในระดับเหมาะสม โดยมีเป้าหมายที่ 400 บาท โดยเร็วที่สุด” สัญญาประชานิยมจากปาก “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ประกาศกลางสภา ในวันแถลงนโยบายรัฐบาลเมื่อ 12 พ.ย.2566
ในวันดังกล่าว “เศรษฐา” ยังย้ำชัด มอบนโยบายให้กับ “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รมว.แรงงาน ดำเนินเป็นวาระเร่งด่วน หลังแถลงนโยบาย
“เพิ่มค่าแรง” ถือเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญ ที่พรรคเพื่อไทยหยิบยกมาประโคมโหมโรงตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง เมื่อช่วงต้นปี 2566 เวลานั้นพรรคเพื่อไทยชูนโยบายในหมวดค่าแรง ทั้ง สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง รายได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 บาทต่อปี ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 เงินเดือนปริญญาตรี 25,000 บาท เป็นต้น
ฉะนั้น ในยามที่พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลจนกระทั่งบริหารราชการมากว่า 2 เดือน ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 จึงไม่แปลกที่เสียงทวงถามถึงคำมั่นสัญญาของนายกฯ ที่เคยประกาศกร้าวกลางสภา จะดังก้องเป็นระยะ
โดยเฉพาะช่วงสิ้นปีที่กำลังเข้าสู่เทศกาลแห่งการเฉลิมฉลอง จังหวะเดียวกันกับการท่องเที่ยว กำลังอยู่ในโหมด“ไฮซีซัน” ด้วยแล้วแน่นอนว่า ความต้องการของประชาชนในการจับจ่ายใช้สอยย่อมมีมากขึ้นตามไปด้วย
เช่นนี้ย่อมมีการจับตาไปที่ของ “ขวัญปีใหม่” จากรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย“ค่าครองชีพ” ที่จะมอบให้กับประชาชน
ตอกย้ำชัด ด้วยสัญญาณจากรัฐบาล ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พ.ย.ที่ผ่านมา “ธวัชชัย จันทร์ไพศาลสิน”ที่ปรึกษาประจําสํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด เร่งปฏิบัติกรณีมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบตามนายกฯรัฐมนตรี เสนอใน 2 ประเด็น
หนึ่งในนั้นคือประเด็น “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่ให้กระทรวงแรงงาน เร่งรัดการศึกษาความเหมาะสม และเป็นไปได้
โฟกัสเฉพาะประเด็นนี้ ต้องจับตาในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของพรรคภูมิใจไทย
โดยเฉพาะท่าทีจาก “พิพัฒน์” เจ้ากระทรวงล่าสุด ยืนยันว่า “ในปีนี้ มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ 400 บาททั่วประเทศ เพราะฐานของค่าแรงขั้นต่ำแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน โดยจะพิจารณาบนพื้นฐานของข้อมูลใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ”
ย้อนสถิติ “ค่าจ้างขั้นต่ำ” มีการปรับเพิ่มครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565 แบ่งเป็น 9 อัตรา ไล่ตั้งแต่
- สูงสุดที่ 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
- 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
- 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
- 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
- 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
- 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
- 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
- ต่ำสุดที่ 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี
เทียบครั้งก่อนหน้านั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้นเมื่อ 1 ม.ค. 2563 เวลานั้น อัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10 อัตรา ตามเขตพื้นที่ สูงสุดอยู่ที่ 336 บาท และ ต่ำสุดอยู่ที่ 313 บาท
ฉะนั้น หากเทียบ 2 ครั้งพบว่า ค่าแรงขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 15-19 บาท
ขณะที่การปรับค่าแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นใน “ยุครัฐบาลเศรษฐา” หากมีการปรับขึ้นตามนโยบายรัฐบาลที่ 400 บาท (อาจไม่เท่ากันทุกพื้นที่) เท่ากับว่า การปรับค่าแรงรอบนี้ คิดคร่าวๆ เฉพาะอัตราสูงสุด ณ ปัจจุบัน จาก 354 บาทเป็น 400 บาท จะมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นอีก 46 บาทเป็นอย่างน้อย
ขณะเดียวกันในจังหวะที่รัฐบาลพยายามประโคมโหมโรงในเรื่องขึ้นค่าแรง หวังเป็นของขวัญปีใหม่ซื้อใจประชาชน ยังเป็นจังหวะเดียวกันกับที่เสียงสะท้อนจากภาคส่วนต่างๆดังก้องขึ้นเช่นเดียวกันว่า “จะทำได้ไหม-ทำได้รึเปล่า!”
ทั้งในมุมของผู้ประกอบการที่จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น เช่นนี้อาจส่งผลให้ค่าครองชีพขยับขึ้นตามไปด้วยหรือไม่ ต่างๆเหล่านี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่จะนำไปพิจารณาประกอบกันหลังจากนี้
“สัญญาประชานิยม” ค่าแรง 400 บาท ที่นายกฯเศรษฐาเคยประกาศกลางสภา ในยามที่กระทรวงแรงงานอยู่ในมือพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย”
ถือเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ต้องจับตาว่า ที่สุด“นายกฯเศรษฐา” ในฐานะประมุขฝ่ายบริหาร จะสามารถปิดเกมได้อย่างเบ็ดเสร็จเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ซื้อใจ “โหวตเตอร์” เป็นผลงานชิ้นโบแดงให้กับรัฐบาล รวมถึงพรรคเพื่อไทย ในการตุนกระสุนนำไปใช้ “ชิงแต้มซ้าย-ดึงแต้มขวา”ในการเลือกตั้งรอบหน้าได้สำเร็จหรือไม่ อย่างไร?