ศาลฎีกาฯเลื่อนอ่านคำพิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีย้าย 'ถวิล' ไป 29 พ.ย.
ศาลฎีกาฯ เลื่อนนัดอ่านคำพิพากษา 'ยิ่งลักษณ์' คดีโยกย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' ออกจากเลขา สมช.โดยมิชอบ เป็น 29 พ.ย. เหตุมีองค์คณะผู้พิพากษา 1 รายไม่มา โดยเหตุจำเป็นไม่อาจก้าวล่วงได้
เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2566 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 เเละ พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้อำนาจโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีโดยมิชอบ
โดยก่อนเวลานัด นายวิญญัติ ชาติมนตรี และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางมาเป็นตัวแทนในการรับฟังคำพิพากษา โดยระบุถึงกระบวนการสู้คดีที่ผ่านมา ในฐานะทนายทำให้ดีที่สุด มีการสืบพยานฝ่ายโจทก์ 6 ปาก และฝ่ายจำเลย 4 ปาก โดยเริ่มสอบเมื่อต้นปี 2566
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า วันนี้มาเป็นตัวแทนในการรับฟัง พร้อมเผยว่าก่อนมาฟังคำพิพากษาในวันนี้ ไม่ได้มีการติดต่อพูดคุยกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่มาทำหน้าที่ตามที่ศาลได้นัดหมายไว้
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และทีมทนายความมีความกังวลกับคดีนี้หรือไม่ นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ทนายความได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด มีความมั่นใจในการสู้คดี
อย่างไรก็ดีเมื่อถึงเวลานัดศาลได้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นวันที่ 29 พ.ย. 2566 เวลา 13.30 น.
ภายหลังศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา นายนรวิชญ์ ให้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากวันนี้มีองค์คณะผู้พิพากษา 1 ท่านไม่มา โดยมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจก้าวล่วงได้ ถึงไม่สามารถอ่านคำพิพากษาในวันนี้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2554 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงนามในคำสั่งให้นายถวิล ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และ ครม.มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่งเลขา สมช. ซึ่งนายถวิลได้ยื่นต่อศาลปกครองสูงสุดและศาลได้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว อีกทั้งศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย
ต่อมา เมื่อวันที่ วันที่ 1 ก.ค.2563 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวหาว่าการโยกย้ายดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และส่งให้ อสส.ส่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย อสส.ส่งฟ้องต่อศาลฎีกา และมีการออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เนื่องจากไม่เดินทางมาศาลโดยไม่ได้แจ้งเหตุผล