ผ่างบจัดจ้าง กอ.รมน. 8 ปี นับหนึ่ง ‘ก้าวไกล’ ชงยุบทิ้ง
"...หากไล่เรียงดูจะพบว่า ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจัดทำงบประมาณภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 กอ.รมน.ใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดในรอบ 8 ปี สอดคล้องกับใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ กอ.รมน.มักจะได้รับงบเพิ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลจาก “รัฐประหาร”..."
ประเด็นการยุบกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ “กอ.รมน.” ยังคงถูกพูดถึงอย่างมาก ในช่วงจังหวะการเมืองกำลังคุกรุ่น
เมื่อประชาชนจำนวนไม่น้อย นักวิชาการ และพลพรรค “ฝ่ายค้าน” ดาหน้าถล่มโจมตีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท พลันที่ “นายกฯเศรษฐา” แก้เกม เดินหน้าจ่อเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้กับโครงการนี้
“ก้าวไกล” สบช่องจ่อยื่นกฎหมายยุบ กอ.รมน. หวังเป็นต้นธาร “ปฏิรูปกองทัพ” ตามนโยบายที่หาเสียงไว้ นำโดย “รอมฎอน ปันจอร์” สส.บัญชีรายชื่อ และนักวิชาการด้านสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ขุดประเด็น “รัฐซ้อนรัฐ” ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กอ.รมน.อีกคำรบ
ในประวัติศาสตร์ของ กอ.รมน. หลายคนอาจทราบว่า ถูกก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 โดยเริ่มจากเป็นกองบัญชาการปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์ ต่อมาเมื่อเกิดวิกฤติ “ป่าแตก” หน่วยงานนี้ถูกลดบทบาทลง และปรับปฏิบัติการเป็นการดูแลความมั่นคง และปราบปรามยาเสพติด
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กอ.รมน.ถูก “ฝ่ายการเมือง” นำมาใช้ “แทรกซึม-หาข่าว” เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง
เบื้องต้น "กรุงเทพธุรกิจ" นำเสนอไปแล้วว่า ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างปีงบประมาณ 2556-2566 กอ.รมน.ได้รับรวมทั้งสิ้น 100,274,700,800 บาท หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับปฏิบัติการด้านความมั่นคง และแผนงานแก้ไขพัฒนา 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยงบประมาณส่วนมากของ กอ.รมน. มักได้รับเพิ่มมากขึ้นในช่วงรัฐบาลจาก “รัฐประหาร”
ในจำนวนงบประมาณดังกล่าว เมื่อตรวจสอบเชิงลึกในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ย้อนกลับไปในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา (ระหว่างปีงบประมาณ 2558-2566) พบว่า กอ.รมน. ใช้งบประมาณไปกับการจัดซื้อจัดจ้างยุทโธปกรณ์ งานก่อสร้าง ฯลฯ ไปแล้วอย่างน้อย 50,258 โครงการ รวมวงเงินไม่ต่ำกว่า 17,459.38 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้
งบประมาณปี 2566 (อัปเดตถึงแค่ไตรมาส 1/2566) ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 1,743 โครงการ รวมวงเงิน 986.40 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ เช่าระบบป้องกันความปลอดภัยเขตเมือง (ระยะที่ 2) ด้วยระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ในพื้นที่ 6 อำเภอ สนับสนุน กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประจำปีงบประมาณ 2566-2570 โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 609.90 ล้านบาท บริษัท วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซีสเต็ม จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 26 ต.ค. 2565
งบประมาณปี 2565 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 7,235 โครงการ รวมวงเงิน 1,628.29 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ จ้างพัฒนาบิ๊กดาต้าแพลตฟอร์มด้านความมั่นคง ประจำปีงบประมาณ 2565-2568 โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 357.04 ล้านบาท บริษัท คอมเซิร์ฟ สยาม จำกัด (สัญญากิจการค้าร่วม) เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 11 ก.ค. 2565
งบประมาณปี 2564 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 8,863 โครงการ รวมวงเงิน 1,631.98 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ จ้างบริการเช่าเหมาลำเครื่องบินพาณิชย์ขนส่งกำลังพล และสนับสนุนภารกิจของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ประจำปีงบประมาณ 2564 ต.ค. 63 ก.ย. 64 แบบราคาคงที่ไม่จำกัดปริมาณ (OPEN END) โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 150 ล้านบาท บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 26 พ.ย. 2563
งบประมาณปี 2563 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 9,330 โครงการ รวมวงเงิน 2,319.68 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ เช่ารถยนต์จากเอกชน เพื่อใช้ในราชการของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. จำนวน 235 คัน ประจำปีงบประมาณ 2563-2568 (เม.ย. 63 - มี.ค. 68 รวม 60 เดือน) โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 320.21 ล้านบาท บริษัท เอ็ม.แซท.ดี. คาร์เซ็นเตอร์ จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 27 มี.ค. 2563
งบประมาณปี 2562 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 6,750 โครงการ รวมวงเงิน 2,178.13 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ ซื้อเครื่องรบกวนสัญญาณการจุดระเบิดด้วยสัญญาณ DTMF แบบติดตั้งบนยานพาหนะ สนับสนุนภารกิจ การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2562 โดยวิธีคัดเลือก วงเงิน 245 ล้านบาท บริษัท เรย์โซน (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 4 ม.ค. 2562
งบประมาณปี 2561 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 4,694 โครงการ รวมวงเงิน 1,965.04 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ ซื้อเครื่องส่งสัญญาณรบกวนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูง สนับสนุน ภารกิจแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เงินประจำปีงบประมาณ 2561 โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 224.40 ล้านบาท บริษัท คูดอส แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 15 ธ.ค. 2560
งบประมาณปี 2560 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 3,915 โครงการ รวมวงเงิน 1,876.05 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ ซื้อปืนเล็กยาว ขนาด 7.62 มิลลิเมตร สนับสนุน กอ.รมน.ภาค 4 สน โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 321.78 ล้านบาท บริษัท สยามคอมเมอร์เชียล แอนด์ อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 1 มี.ค. 2560
งบประมาณปี 2559 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 2,648 โครงการ รวมวงเงิน 2,200.15 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ เช่ากล้อง และระบบโครงการติดตั้งระบบป้องกันความปลอดภัยในเขตเมืองระยะที่ 2 ของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 610.15 ล้านบาท บริษัท วิชั่น แอนด์ ซีเคียวริตี้ ซีสเต็ม จำกัด เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 29 ก.ย. 2559
งบประมาณปี 2558 ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างน้อย 5,080 โครงการ รวมวงเงิน 2,703.66 ล้านบาท โดยโครงการที่ใช้เงินงบประมาณมากที่สุดคือ ซื้อรถยนต์บรรทุก ขนาด 1 ตัน แบบ 4 ประตู 4X4 พร้อมการติดตั้งเกราะกันกระสุน โดยวิธีพิเศษ วงเงิน 627.30 ล้านบาท กิจการร่วมค้าอิทธิพร เป็นผู้ชนะการเสนอราคา ลงนามเมื่อ 29 เม.ย. 2558
หากไล่เรียงดูจะพบว่า ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งจัดทำงบประมาณภายหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 กอ.รมน.ใช้งบประมาณจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุดในรอบ 8 ปี สอดคล้องกับใน พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่ กอ.รมน.มักจะได้รับงบเพิ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลจาก “รัฐประหาร”
อย่างไรก็ดี นี่เป็นเพียงข้อมูลเท่านั้น ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวข้างต้นแต่อย่างใด
ส่วนหนึ่งใน “ความฝัน” ของ “ก้าวไกล” ในการปฏิรูปกองทัพ นับหนึ่งด้วยการชงยุบ “กอ.รมน.” จะสำเร็จหรือไม่ ต้องรอดูกัน