41 คนไทยในเล่าก์ก่ายถึงไทยแล้ว 'ทหารไทย-เมียนมา'ร่วมรับส่ง
41 คนไทยในเล่าก์ก่ายถึงไทยแล้ว "ทหารไทย-เมียนมา" ร่วมรับส่ง ก่อนเดินทางไปค่ายเม็งรายมหาราช เข้าสู่ขั้นตอนตรวจโรค-ซักประวัติ
18 พ.ย.2566 เวลา 12.40 ที่จุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ไทย-เมียนมา มีการรับส่งคนไทย 41 คน ที่ได้รับการช่วยเหลือออกจากเมืองเล่าก์ก่าย
ฝ่ายไทยนำโดย พล.ท. อนุภาพ สิริมณฑล เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารบก พล.ต.ประพัฒน์ พบสุวรรณ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง และ พ.อ.ณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ในฐานะประธาน TBC ผ่านสั่งการ พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก
ส่วนฝั่งเมียนมา มี พ.อ.ตู่ล่า ส่อ วิน โซ ผู้บังคับกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็กในฐานะประธาน TBC ผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองท่าขี้เหล็ก และเจ้าหน้าที่ TBC ฝ่ายเมียนมา
โดยคนไทยทั้ง 41 คนออกเดินทางจากจังหวัดเชียงตุง ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ประมาณ 160 กิโลเมตร โดยข้ามจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพแม่น้ำสายแห่งที่ 1 ก่อนขึ้นรถบัสเดินทางยังไปมณฑลทหารบก 37 ค่ายเม็งรายมหาราช เข้าสู้ขั้นตอนการตรวจคัดโรค โดย รพ.ค่ายเม็งรายมหาราช รวมทั้งดำเนินกรรมวิธี ของ ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ทั้งนี้ทางกองกำลังผาเมือง กองทัพภาคที่ 3 ได้เตรียมที่พักสามารถรองรับได้ถึง 200 คน พร้อมจัดจุดพักคอยให้กับญาติที่มารอรับ
สำหรับ การปฏิบัติการช่วยเหลือคนไทยได้ดำเนินการเป็นขั้นตอนตามลำดับ โดยมีหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก กองกำลังผาเมืองและคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก
ส่วนคนไทยอีกกว่า 200 คนที่อยู่ในค่ายทหารที่เป็นที่พักพิงในเมืองเล่าก์ก่าย จะได้เดินทางออกมาเมื่อใดนั้น รัฐบาลเมียนมากำลังพิจารณาและกำหนดเส้นทางเพราะรอบเมืองเล้าก์ก่าย มีการสู้รบกันอยู่
อย่างไรก็ตามรัฐบาลเมียนมา ได้พาเจ้าหน้าที่กงสุลของประเทศไทยและประเทศอื่นที่อยู่กรุงย่างกุ้ง เพื่อเข้าไปจำแนกสัญชาติของแต่ละกลุ่มและจำนวน เบื้องต้นพบว่า 164 คนไทยไม่มีหนังสือเดินทาง เพราะนายจ้างยึดหนังสือเดินทางไว้ ดังนั้นกระทรวงต้องไปออกหนังสือเดินทางชั่วคราวเพื่อให้คนไทยเดินทางออกมาซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนไม่สามารถอพยพได้ทันที
รวมถึงเส้นทางที่จะเดินทางออกมาขึ้นอยู่กับทหารเมียนมา จะพิจารณาในการโยกย้าย ต้องมีการขอวีซ่าผ่านทางจีน ซึ่งห่างจากชายแดน 5 กิโลเมตร ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง ไทยจีนและเมียนมา ซึ่งการจะนำคนไทยออกมาขณะนี้ได้มีการประสานงานกับหลายฝ่ายทั้ง สถานทูต ณ กรุงปักกิ่งประเทศจีนและ NGO