'ราเมศ' รับเพิ่มองค์ประชุมสำรอง 9 ธ.ค.เลือกหัวหน้า ปชป.ฉลุย
'ราเมศ' เผยหลังประชุม กก.บห.รักษาการ 14 พ.ย.ได้หารือกันหลายประเด็น เชื่อการเพิ่มองค์ประชุมสำรอง ทำให้ 9 ธ.ค.ประชุมเลือก หัวหน้า.ปชป. สำเร็จลุล่วง รับความเป็นเอกภาพ-น้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2566 ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ว่า จากการประชุม กก.บห. พรรคชุดรักษาการ เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ได้มีการพูดคุยในหลายประเด็น ทั้งในส่วนการเลือกตั้ง กก.บห. การจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ที่ขณะนี้ชัดเจนว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค. 2566 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ โดยเริ่มประชุมเวลา 8.30 น.
นอกจากนี้ จากการที่มีสื่อนำเสนอข่าวเรื่องการกำหนดเพิ่มองค์ประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค ซึ่งอาจมีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง ซึ่ง นายราเมศ ได้ชี้แจงว่า ในการกำหนดเพิ่มองค์ประชุมนั้น ที่ประชุม กก.บห. ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งสมาชิกพรรคตามข้อบังคับพรรคที่ 88 (19) คือ ให้มีสมาชิกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งก็คือในการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือก กก.บห. พรรค พร้อมกับย้ำว่าในการเพิ่มจำนวนองค์ประชุมนั้นไม่ได้เป็นการแก้ไขข้อบังคับพรรค แต่เป็นการเพิ่มเติมองค์ประชุมที่เป็นสมาชิกพรรคและเป็นไปตามข้อบังคับพรรคทุกประการ
โดยจำนวนที่ กก.บห. พรรคชุดรักษาการได้กำหนดคือ 150 คน ซึ่งมาเป็นการเปิดให้สมาชิกพรรคจากทุกภาคของประเทศ ที่เป็นสมาชิกมาจนถึงวันที่ 14 พ.ย. 2566 และได้เปิดให้สมัครเป็นองค์ประชุมสำรอง ใน 2 ช่องทาง ทั้งระบบออนไลน์ และเดินทางมาสมัครด้วยตนเองที่สำนักงานใหญ่ โดยเริ่มสมัครได้ตั้งแต่วันนี้ (18 พ.ย. 2566) จนถึงวันที่ 22 พ.ย. 2566 เวลา 16.30 น. หลังจากนั้นพรรคได้รวบรวมรายชื่อเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 พ.ย. 2566 และประกาศรายชื่อองค์ประชุมสำรองทางเพจพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 25 พ.ย. 2566
“ขอเชิญสมาชิกพรรคทุกภาค ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมกับพรรค ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองอย่างกว้างขวาง ผมคิดว่า 150 คน เมื่อสมัครมาแล้ว การทำหน้าที่ในองค์ประชุมใหญ่ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของพรรคการเมือง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว
นายราเมศ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้พูดถึงเรื่ององค์ประชุมในการประชุมใหญ่วิสามัญว่า ตามกฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 39 ได้กำหนดให้องค์ประชุมใหญ่ต้องมีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 250 คน ซึ่งข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ได้กำหนดองค์ประชุมไว้ทั้งหมด 19 กรณี โดยกรณีที่ 1 – 18 นั้น ได้กำหนดไว้จำนวน 346 คน แต่ กก.บห. ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อออกระเบียบเพื่อกำหนด กฎเกณฑ์กติกา กรณีที่องค์ประชุมไม่ครบ 250 คน ก็จะมีการนำองค์ประชุมสำรองที่พรรคกำลังรับสมัคร จำนวน 150 คน เพิ่มให้ครบตามจำนวน 250 คน และให้เพิ่มอีก 10 คนเสมอ ซึ่งเป็นการกำหนดเพื่อให้การประชุมสามารถดำเนินการให้ความสำเร็จลุล่วงไปได้
“ผมเชื่อว่าการกำหนดเพิ่มองค์ประชุมสำรอง ได้เคยมีการทำมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้อาจมีเหตุผลพิเศษ เพราะการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมาไม่ครบ ทำให้ต้องหาวิธีการเพื่อให้การประชุมสำเร็จลุล่วงไปได้ สำหรับสัดส่วนน้ำหนักคะแนนยังคงเป็นแบบ 70 : 30 เช่นเดิม เพราะยังไม่ได้มีการแก้ไข หรือของดเว้นจากสมาชิกพรรค” นายราเมศ กล่าว
นายราเมศ กล่าวอีกว่า สำหรับในส่วนของการเสนอชื่อเข้าชิงเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายราเมศ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มีคุณสมบัติหลายท่าน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าสู่การแข่งขันได้ และถือว่าเป็นสีสันในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคในครั้งนี้ด้วย ตามที่สื่อมวลชนมีการคาดการณ์ผู้ลงแข่งขันเพื่อเป็นหัวหน้าพรรค และเมื่อพรรคได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ก็เชื่อว่าจะเกิดกระบวนการฟื้นฟูพรรคให้ก้าวไปข้างหน้า มีการพัฒนาให้กลับเข้าสู่การเมืองอีกครั้ง
“ผมเชื่อว่าความเป็นเอกภาพ ความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเป็นสิ่งสำคัญ แต่ ณ เวลานี้ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าใครจะเป็นหัวหน้าพรรค แต่เมื่อผ่านกระบวนการเลือกตั้งแล้วก็จะได้เห็นทั้งผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค และองคาพยพที่จะได้มาร่วมกันทำงานให้กับพรรคต่อไป เมื่อทุกคนมีภาระหน้าที่แล้ว ก็จะเป็นความท้าทายที่นำทางให้ประชาธิปัตย์ไปสู่อนาคตที่ดีต่อไป” นายราเมศ กล่าว
นายราเมศ กล่าวด้วยว่า เชื่อมั่นว่าด้วยกระบวนการในการมีองค์ประชุมสำรอง ทำให้ไม่ห่วงเรื่ององค์ประชุมล่ม เมื่อการประชุมสามารถดำเนินไปได้ สิ่งที่ตามมาก็จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและ กก.บห. พรรคได้ต่อไป แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร พรรคก็จะทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างเต็มที่ และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ไม่จำเป็นต้องพูดทุกเรื่องก็ได้ สิ่งไหนที่รัฐบาลทำในสิ่งที่ดี เราก็ต้องเห็นด้วยกับรัฐบาล แต่สิ่งไหนที่รัฐบาลทำไปไม่ถูกต้อง ก็ต้องมีการติติง และบางเรื่องที่ฝ่ายค้านมืออาชีพจะต้องเก็บข้อมูลไว้ ทำให้ยังเปิดเผยสู่สาธารณะไม่ได้ แต่จะต้องรอดูในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจ