‘วิโรจน์’ ซัด ‘สุทิน’ อ่าน รธน.ไม่แตกปมเรือดำน้ำ ชม ผบ.ทร.รัดกุม

‘วิโรจน์’ ซัด ‘สุทิน’ อ่าน รธน.ไม่แตกปมเรือดำน้ำ ชม ผบ.ทร.รัดกุม

‘วิโรจน์’ ชี้ชัดเจนแล้ว ทร.ไม่ต้องการ ‘เรือฟริเกต’ ซัด ‘สุทิน’ ไร้ศักยภาพนำทัพกลาโหม ผิดหวังอ่าน รธน.ไม่แตก ทั้งที่เป็นสัญญาระหว่างประเทศตาม รธน. หากจะเปลี่ยนต้องชงเรื่องขอความเห็นชอบสภาฯ รอ ‘เศรษฐา’ ตัวกลางเคลียร์ปัญหา ชม ‘ผบ.ทร.’ ทำรัดกุม

เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) แถลงถึงความคืบหน้าเรื่องเรือดำน้ำ ว่า ตามที่ กมธ.การทหารฯ ทราบมาแต่ก่อนแล้วว่า ได้เชิญผู้แทนกองทัพเรือ และผู้แทนกระทรวงกลาโหม การเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต กมธ.ได้ยินมาตลอดว่า ทร.ไม่มีความประสงค์จะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตจากจีน แต่ รมว.กลาโหม ยืนยันมาโดยตลอดว่า ทร.ต้องการ เมื่อวานนี้ชัดเจนแล้วว่า ทร.ไม่ต้องการเรือฟริเกต ตรงนี้คงต้องไปเคลียร์กันเองระหว่าง ผบ.ทร. และ รมว.กลาโหม
    
เมื่อถามว่า เมื่อความเห็นไม่ตรงกันต้องแก้ไขอย่างไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า คิดว่านายสุทินทำการบ้านมาน้อยเกินไป และ กมธ.การทหารฯ ได้ทำหนังสือย้ำถึงนายสุทินว่า ถ้ามีการแก้ไขสัญญา ตรงนี้เป็นสัญญาระหว่างประเทศ รัฐธรรมนูญไม่ได้แคร์ว่าชื่อเรียกจะชื่ออย่างไร เพราะกรณีเขาพระวิหารเป็นแถลงการณ์ร่วมยังนับว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศ หรือกรณีการขายข้าวจีทูจีก็เช่นเดียวกัน ต่อให้นายสุทินอ้างว่าไม่ใช่สัญญาระหว่างประเทศ เป็นข้อตกลงร่วม แต่รัฐธรรมนูญไม่สนใจชื่อเรียก แค่แคร์ว่าผลของมันคืออะไร ดังนั้น กมธ.การทหารฯ ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศตามรัฐธรรมนูญ ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เข้าใจว่า ผบ.ทร.ตระหนักเรื่องนี้เช่นกัน เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่ ผบ.ทร. นำเรื่องนี้หารือกับอัยการสูงสุด (อสส.) ว่าจะคลี่คลายให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญอย่างไร

“น่าผิดหวังนิดหนึ่ง คุณสุทิน ในฐานะ รมว.กลาโหม แม้ว่าจะไม่ตอบว่าจะนำเรื่องนี้เข้ารัฐสภาเพื่อเห็นชอบ แต่ในเนื้อหาบอกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศเคยให้ความเห็นลักษณะนี้ว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่สัญญาระหว่างประเทศ ตรงนี้อ่านรัฐธรรมนูญไม่แตก ไม่นำกรณีเขาพระวิหาร หรือการขายข้าวแบบจีทูจีมาเทียบเคียงเลย ดังนั้นผมสนับสนุนแนวคิดของ ผบ.ทร. ต้องพินิจพิเคราะห์ให้รอบคอบ” นายวิโรจน์ กล่าว
    
เมื่อถามว่า เรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ต้องมาเคลียร์ปัญหาทั้ง 2 ฝ่ายระหว่าง ผบ.ทร. และนายสุทินหรือไม่ อย่างไร นายวิโรจน์ กล่าว่า คิดว่านายกฯคงเข้ามาเป็นตัวกลางในการหารือกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะเห็นไม่ตรงกันอย่างนี้ ให้ข่าวไม่ตรงกัน ย้ำว่าการเปลี่ยนจากเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ไม่ใช่ว่าเรือฟริเกตไม่ดี ศักยภาพสูงมาก แต่เรือคนละกลุ่มกับเรือรบหลวงภูมิพล ที่เป็นเรือฟริเกตที่เรามีอยู่ เรามีแผนจะต่อเรือฟริเกตจากเกาหลีเช่นกัน ทีนี้เวลามีกองเรือ เราจะต้องมีกองเรือคลาสเดียวกัน หมายความว่า ขีปนาวุธบนเรือต้องเป็นประเภทเดียวกัน อะไหล่บำรุงรักษา การควบคุมเรือมีวิธีการคล้ายคลึงกัน ทำให้กองทัพบริหารจัดการกองเรือได้ง่าย ทั้งเรื่องทำงานด้านยุทธการ การบำรุงรักษา การสำรองขีปนาวุธ อะไหล่ต่าง ๆ แต่ถ้าเรือกระจายคนละคลาส จะถูกตั้งคำถามอย่างใหญ่หลวงว่า จะสำรองอะไหล่อย่างไร และเป็นการตัดสินใจขัดกับสมุดปกขาวที่กองทัพเรือเขียนไว้เองด้วย อย่างไรก็ตามนายกฯคงต้องเข้ามาเคลียร์เรื่องนี้ สะท้อนถึงสภาพที่ไร้การนำของ รมว.กลาโหม

เมื่อถามว่า กมธ.การทหารฯ จะเป็นตัวกลางเชิญ ผบ.ทร. และนายสุทิน มาหารือให้ตรงกันหรือไม่ นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตามที่ ผบ.ทร.ตอบมาผ่านสื่อสาธารณะ เนื้อหาเกือบครบถ้วนแล้ว เพื่อประหยัดเวลาราชการให้ตอบเป็นหนังสือ เพราะตนได้ทำหนังสือถามไปแล้ว จะได้มีหลักฐานยืนยัน หากมีข้อสงสัยประการใด อาจติดตามในเดือน ธ.ค. 2566 หรือ ม.ค. 2567 เพราะสัญญาเรือดำน้ำจะสิ้นสุด 31 ธ.ค.นี้ การตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร การตัดสินใจไม่ตรงกัน ต้องจบภายในปีนี้

เมื่อถามย้ำว่าทั้ง ทร. และกระทรวงกลาโหม ไม่ได้คุยกัน จะทำอย่างไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า ที่กระทรวงกลาโหมอ้างว่ากองทัพเรือต้องการเรือฟริเกต ตรงนี้ไม่จริงแล้ว เพราะถ้ากองทัพเรือต้องการเรือฟริเกตจริงคงไม่ได้ยิน ผบ.ทร.ให้สัมภาษณ์อย่างนั้น ท่านไม่ได้ให้ความเห็นว่าจะแลกเป็นเรือฟริเกตเลย ในเมื่อสภาฯอนุมัติเงินงบประมาณจากภาษีประชาชนมาซื้อเรือดำน้ำ สมมติถ้าจะเปลี่ยนเป็นแบบอื่น ทาง รมว.กลาโหม หรือ ผบ.ทร. ไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนเอาเอง ต้องดูข้อกฎหมาย การเปลี่ยนวัตถุประสงค์แบบผิดฝาผิดตัวแบบนี้ คงเปลี่ยนเองไม่ได้ อย่างไรก็ชื่นชม ผบ.ทร.ดำเนินการรัดกุม รอบคอบ