ป.ป.ช.แห้ว! มติศาล รธน.5:4 ไม่รับคำร้องปมขอไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร
ป.ป.ช.แห้ว! ศาล รธน.ข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ไม่รับคำร้องปมขอไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามกฎหมาย หลังศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เปิดข้อมูลคดีแหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน ‘ประวิตร’ แก่ ‘วีระ’
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่น่าสนใจของประชาชน โดยเรื่องพิจารณาที่ 30/2566 กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) (เรื่องพิจารณาที่ 30/2566)
โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ 210 วรรคหนึ่ง (2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่กรณี มีมติมิให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารโดยอาศัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 เป็นหน้าที่และอำนาจเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 59 และมาตรา 63 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 36 และมาตรา 180 ที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ ต่อมามีการโต้แย้งอำนาจดังกล่าว ผู้ร้องจึงส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้องค์กรอิสระมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เป็นความขัดแย้งเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจระหว่างองค์กรอิสระตั้งแต่สององค์กรขึ้นไป ซึ่งการยื่นคำร้องในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหน้าที่และอำนาจที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง หรือมีการกำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญได้บัญญัติหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 234 วรรคหนึ่ง (1) (2) (3) และ (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 กรณีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการ ซึ่งมิใช่หน้าที่และอำนาจของผู้ร้องที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยตรง บุคคลใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ย่อมมีสิทธิขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทางราชการดังกล่าว หากมีข้อโต้แย้งประการใดย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษา กรณีตามข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงมิใช่ปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (5 ต่อ 4) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีแหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน ที่มีมติตีตกกรณีกล่าวหา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือไม่ ให้แก่นายวีระ สมความคิด