'อุ๊งอิ๊ง' แห่ง 'อำนาจละมุน' ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ยังสับสน

'อุ๊งอิ๊ง' แห่ง 'อำนาจละมุน' ซอฟต์พาวเวอร์ ที่ยังสับสน

ดูเหมือน จังหวะก้าวของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  กำลังถูกเคี่ยวกรำ ให้สุกงอมก่อนห่าม แถมบ่มแก๊สอีกต่างหาก เพื่อให้ทันก้าวขึ้นสู่ “ตำแหน่งใหญ่” ต่อจาก นายเศรษฐา ทวีสิน หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าฟังจาก นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หรือ “หมอเลี้ยบ” อดีต รมว.คลัง กรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ หนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อบางสำนักเห็นได้ชัดว่า บทบาทไม่ธรรมดา ไม่เป็นรองใครในรัฐบาลก็แล้วกัน

“หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ เล่าว่า เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ นอกจากตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ มีนายกฯเป็นประธาน ตอนนี้มีการตั้ง ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งมี น.ส.แพทองธาร เป็นประธาน จะมีการประชุมทุกเดือน เพื่อติดตามความคืบหน้า และมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 12 คณะ สำหรับ 11 อุตสาหกรรม

เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ กับละคร และซีรีส์ มีธรรมชาติของการทำงานและปัญหาไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงมีคณะอนุกรรมการสำหรับภาพยนตร์คณะหนึ่ง กับละคร และซีรีส์อีกคณะหนึ่ง

เรื่องอื่นๆ มีการคิดเป็นลำดับ เช่น เรื่องการให้สมัครคนที่มาฝึกอบรม บ่มเพาะในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น อาหาร มวยไทย แฟชั่น การออกแบบ ซึ่งกระบวนการของกองทุนหมู่บ้านเตรียมการไปไกลพอสมควรแล้ว

“คุณแพทองธาร (ชินวัตร) บอกว่า อยากให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน ดังนั้นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้จริง ๆ ผ่าน พ.ร.บ.THACCA”

ดังนั้นอาจจะต้องเป็นหน่วยงานที่ใหญ่พอสมควรภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี มีงบประมาณมากพอสมควร รวมอำนาจหน้าที่ที่ซ้ำซ้อนกันมาอยู่ในที่เดียว และรวมกองทุนงบประมาณที่รวมกัน 7 พันกว่าล้าน มารวมในการบริหารจัดการเป็นแพ็กที่เป็นยุทธศาสตร์ โดยจะนำร่างกฎหมายเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ภายในกลางปี 2567

“หมอเลี้ยบ” เผยว่า ต้นปี 2567 จะเห็นชัดเจนในหลาย ๆ อุตสาหกรรม แต่ที่จะได้เห็นเร็วกว่า ตั้งแต่เทศกาลลอยกระทงนี้เป็นต้นไป เราได้ทำเรื่อง winter festival เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม เราอยากให้ประเทศไทยเป็น festival country เป็นประเทศแห่งเทศกาล27 พฤศจิกายนนี้ จะเห็นความเปลี่ยนแปลง

อีกอันหนึ่งเราเตรียมการแล้วคือ water festival คือ เทศกาลสงกรานต์ จะเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ดังนั้นเราจะไม่จัดแค่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่จะจัดทั้งเดือนเมษายน จะมีกิจกรรมทั้งดนตรี ภาพยนตร์ ศิลปวัฒนธรรม เราตั้งเป้าให้เป็นเทศกาลระดับโลกให้ได้ ทำให้ทั่วโลกรู้สึกว่า เมษายนของทุกๆ ปีต้องมาประเทศไทย

“ซอฟต์พาวเวอร์ จึงเป็นการสร้างรายได้ของประชาชนในระยะกลาง 1 ปี หรือ 1 ปีกว่าไปแล้ว เพราะต้องมีการฝึกอบรมบ่มเพาะ ที่เราตั้งเป้าหมายว่า อยากให้ 20 ล้านคน มีรายได้ 2 แสนบาทต่อปี เป้าหมายสุดท้ายภายใน 4 ปี อยากให้คน 20 ล้านคนมีรายได้ รวมแล้ว 4 ล้านล้านบาท ดังนั้นจะไม่เกิดเร็ว จึงมีการมองขั้นตอนว่า 6 เดือนแรกจะทำอะไร6 เดือนที่สองจะทำอะไร ปีที่สองจะทำอะไร ทั้งหมดต้องเป็นแพ็กเกจ”(ประชาชาติธุรกิจ/22 พ.ย.66)

แต่สิ่งที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร สื่อสารออกไป กลับทำให้หลายฝ่าย หลายคนที่สนใจเรื่องนี้ เกิดความสับสน ไม่แน่ใจ สิ่งที่พรรคเพื่อไทยมีนโยบายเรื่องนี้ เป็นการเข้าใจที่ตรงกันหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” กับ “คอนเซ็ปต์” ของผู้คิดค้นคำนี้ขึ้นมา

อย่างกรณี “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ยืนยัน จะผลักดัน “หมูกระทะ” เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ให้ได้ โดย เมื่อวันที่ 22พ.ย.2566 หลังร่วมประชุมตั้งสาขาพรรคเพื่อไทยที่จังหวัดอุตรดิตถ์ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ก็ได้พูดเรื่องนี้อีกครั้งว่า อยากดัน “หมูกระทะ” เป็นซอฟต์พาวเวอร์เนื่องจากเป็นเมนูอาหารที่สามารถสร้างและดึงคนมารวมกลุ่มกันได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เข้าถึงได้ง่าย อีกทั้งอาหารประเภทหมูกระทะของไทย มีทั้งจิ้มจุ่ม ต้ม ปิ้ง สามารถกินได้ทั้งหมู่บ้าน

“จริง ๆ เรามีวัฒนธรรมที่ดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะอาหารของไทยที่เราได้เปรียบ ซึ่งหมูกระทะแต่ละจังหวัดมีซิกเนเจอร์ต่างกันไป มีอัตลักษณ์ของตัวเอง เป็นจุดแข็ง และเสน่ห์เราสามรถผลักดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้แน่นอน”

เรื่องนี้ สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แสดงความเห็นผ่าน เฟซบุ๊ก สมชายแสวงการ(23 พ.ย.) ในทำนอง แซะว่า “#เลอะเทอะ คิดได้ไง Soft power หมูกระทะ555

ต้นแบบหมูกระทะมาจากเกาหลี/จีน ใช้สมองคิดใหม่เถอะ soft power ไทยมีของดีมากมาย #อย่าลอกข้อสอบ #อายแทน”

หรือ ก่อนหน้านั้น ยกเรื่อง “ช็อกมินต์” เครื่องดื่มสุดโปรดของตัวเอง มาเป็นตัวอย่าง“ซอฟต์พาวเวอร์” (7 พ.ย.)

กรณีน.ส.แพทองธาร อธิบายให้ที่ประชุมส.ส.พรรคเข้าใจ “ซอฟต์พาวเวอร์” ว่า

“Soft Power เป็นเหมือนพลังอำนาจหนึ่ง หรือ “อำนาจละมุน” ไม่ต้องการใช้อาวุธ หรืออะไรที่รุนแรง เป็นการใช้ Soft Power ให้ชนะใจ หรือเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมนั้น ๆ โอบรับวัฒนธรรมต่างๆ ที่เข้ามา อย่างช็อกมินต์ก็ได้ ยกตัวอย่างง่ายที่สุด พอเกิดความฮิตความนิยมขึ้น ช็อกมินต์ขายดีขึ้นมา อันนั้น คือ วัฒนธรรมที่ถูกโอบรับโดยคนไทยในประเทศเอง แน่นอนค่ะ อันนั้นคือเศรษฐกิจภาพเล็ก คือภาคของร้านค้า ก็เกิดมูลค่าขึ้นมากมาย แต่ Soft Power ที่เราทำอยู่ในขณะนี้ เราต้องการจะผลักดันสิ่งเหล่านั้นให้มันเป็น Global มากขึ้น ไม่ใช่แค่หัวข้อของช็อกมินต์เท่านั้น แต่เป็นหัวข้อของ 11 อุตสาหกรรมที่เราแถลงไปแล้ว”

หลังจากนั้น มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ และถกเถียงกันในโซเชียลมีเดียว่า ช็อกมินต์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) จริงหรือ? บางคนเห็นว่าช็อกมินต์เป็นแค่กระแส หรือ ไวรัล ต่างหาก ไม่ใช่ Soft Power

“ช็อกมินต์” เป็นเครื่องดื่มที่ประเทศไหน ๆ ก็ทำได้ ไม่ใช่ของไทย

ช็อกมินต์ ไม่น่าถึงขั้นเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แค่ชอบในกลุ่มเล็กๆ ที่ฝักใฝ่การเมืองบางพรรคแค่นั้นเอง

ไม่เพียงเท่านั้น ในรายการ Suthichai live ของ สุทธิชัย หยุ่น ก็มีการพูดคุยประเด็นนี้โดยระบุว่า ถ้าจะตีความ Soft Power ในความหมายเดียวกับ “อุ๊งอิ๊ง” เครื่องดื่มที่เป็นที่นิยมอย่างยาวนานของไทยต้อง “โอเลี้ยง” “โอยัวะ” หรือ “ชาชัก” ของภาคใต้ ถึงจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์แบบไทย ทำไมต้องเป็นช็อกมินต์ ที่เป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมหลักเป็นช็อกโกแลต + มินต์ ซึ่งไม่ใช่ของไทย

ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ และผู้ต้องหาคดีม.112 ลี้ภัยในฝรั่งเศส ก็ได้โพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul ระบุว่า

“ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ “soft power” มากนัก มันเหมือน “ศัพท์รัฐศาสตร์” อเมริกันจำนวนมากแหละ มีคนคิดประดิษฐ์คำขึ้นมาเป็นระยะๆ (สมัยหนึ่งนานมาแล้วอาจจะจำได้ มี re-engineering ก็ตื่นเต้นกันพักหนึ่ง จัดสัมนาอะไรต่ออะไรกัน) เดี๋ยวสักพักก็ลืมๆไป

ผมยกขึ้นมาเพื่อให้ดูว่า คนของเพื่อไทย(ที่ดูให้ความสำคัญเหลือเกิน) ที่ออกมาพูดเรื่องsoft power (อุ๊งอิ๊ง หมอเลี้ยบ) ไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไรนัก ยกตัวอย่างโน่นนี่มั่วไปหมดอย่างอุ๊งอิ๊งยกเรื่องช็อคมินท์

คือสมัยหนึ่งคนเพื่อไทยอาจจะสร้างความตื่นเต้นได้ เพราะมีคู่แข่งประเภทประชาธิปัตย์แต่เดี๋ยวนี้มาเจอ "ช่อ" ธนาธร ฯลฯ ที่อ่านมามากกว่า เลยออกจะเชยๆเสียแล้ว

เรื่องนี้ชวนให้คิดด้วยว่า คนอย่างอุ๊งอิ๊งนั้น ไม่มีอะไรเลย นอกจากความเป็นลูกพ่อทักษิณเท่านั้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงน่าทำความรู้จัก “คอนเซ็ปต์” ที่แท้จริงของ “ซอฟต์พาวเวอร์” ให้เห็นภาพร่วมกัน

“ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นทฤษฎีที่ถูกคิดค้นโดยศาสตราจารย์ โจเซฟ ไนย์ (Joseph S. Nye) อาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ก่อนจะเขียนหนังสือ Soft Power the Means to Success in World Politics จำหน่ายในปี 2004

“Soft Power” หมายถึง การใช้อิทธิพลทางวัฒนธรรม การกิน การดื่ม วิถีชีวิต หรือความเชื่อ นำเสนอผ่านสื่อ หรือผลงานในรูปแบบต่างๆ เพื่อโน้มน้าวใจ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิด หรือพฤติกรรมความชอบให้หันมาสนใจสิ่งเหล่านี้กันมากขึ้น

นอกจากนี้ หลายคนให้ความหมายคำว่า Soft Power ไว้หลายรูปแบบ เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักวิชาการ ได้ใช้คำว่า “อำนาจละมุน” แทน หรือส.ว.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ก็ได้มีการเสนอให้ใช้คำว่า “ภูมิพลังวัฒนธรรม” ในการประชุมวุฒิสภา วันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันยังไม่มีการระบุคำที่ใช้แทนอย่างแน่ชัด ส่วนใหญ่จึงนิยมใช้คำทับศัพท์

ตัวอย่าง ของไทย ตามแนวทางการส่งเสริมวัฒนธรรม 5 รูปแบบ เรียกว่า “5F” ดังนี้

F - FOOD อาหารไทย

F - Film ภาพยนตร์และวีดิทัศน์

F - Fashion การออกแบบแฟชั่นไทย

F - Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย หรือมวยไทย

F - Festival เทศกาลประเพณีไทย

ทั้งนี้ กระบวนการสร้าง Soft Power ต้องอาศัยการร่วมมือของหลายๆ ฝ่าย เช่น หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงประชาชน เพื่อสร้างคุณค่าของวัฒนธรรม ผลักดันและสนับสนุนให้ Soft Power ของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก

แต่ “วิกิพีเดีย” ให้ความหมายเอาไว้ว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ “พลังเย็น” ในวิชาการเมือง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง ความสามารถในการดึงดูดและสร้างการมีส่วนร่วม โดยไม่ต้องบังคับหรือให้เงิน ปัจจุบันใช้ในกรณีของการเปลี่ยนแปลงและสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนในประเทศอื่น โดยอาศัยทรัพยากรพื้นฐาน 3 ประการ ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

แน่นอน, ตามความหมายดังกล่าว จะเห็นว่า การทำให้เกิด “ซอฟต์พาวเวอร์” อย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร จนกว่าจะสร้างแรงดึงดูดใจ หรือมีอิทธิพลต่อสังคมและประชาชนในประเทศอื่นทั่วโลกได้

ไม่รู้ว่า ภายใน 4 ปีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางเอาไว้หรือไม่

ยิ่งกว่านั้น ประเด็นที่เห็นและเป็นอยู่ แม้ว่า พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลเศรษฐา จะ “คิดใหญ่” (ยังไม่รู้ทำเป็นหรือไม่) ให้ความสำคัญกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ถึงขั้นให้ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร “ไข่ในหิน” ของ “ทักษิณ” และคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์มานั่งพิสูจน์ฝีไม้ลายมือ แต่กลับพบว่า ถูกวิพากษ์วิจารณ์เละ ไม่แพ้นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 1 หมื่นบาท ที่ไม่รู้จะทำได้จริงหรือไม่ เพราะต้องออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงิน ถึง5 แสนล้านบาท

โดยเฉพาะ สิ่งที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร หยิบยกมาเป็นเรื่องผลักดัน หรือ อธิบายให้เข้ากับ “คอนเซ็ปต์” ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ละอย่าง ล้วนไม่ใช่คุณค่าวัฒนธรรม ที่มีอยู่แล้วและหลายเรื่องเชื่อว่า ต่างชาติ จะ “เซอร์ไพรส์” แต่ก็ไม่ถูกนำมาเสนอผลักดัน จนสะท้อนให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร มีความรอบรู้วัฒนธรรมไทยมากน้อยแค่ไหน

แล้วที่มานั่นหัวโต๊ะบัญชาการ เพื่อผลักดันนโยบายที่จะนำของดีประเทศไทย ไปสู่การเปลี่ยนแปลงค่านิยมของชาวโลก จะทำได้อย่างไร?

หรือแค่ให้มานั่งเอา “ผลงาน” จากการทำงานของเหล่า “กุนซือใหญ่” เบื้องหลัง ก็พอ?  

แต่ที่แน่ๆ เท่าที่ฟังจาก “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ การทุ่มเททุ่มทุนครั้งนี้ ทั้งบุคลากรจากหลายหน่วยงาน งบประมาณ7 พันกว่าล้าน ตั้งเป้าหมายเอาไว้เลิศหรู แค่เริ่มต้น ก็ต้องใช้คนมาตามอธิบายขยายความคำพูดของ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทอง ที่ดูเหมือนยัง “สับสน” อะไรอยู่มาก แทบทุกเรื่อง

อย่างนี้ คนไทยคงอดห่วงไม่ได้ว่า จะได้นายกฯ “บ่มแก๊ส” ในที่สุดหรือไม่ แต่นับว่า 4 ปียังไม่สาย ถ้าพร้อมทุ่มเทการทำงานทั้งหมดกับการเรียนรู้สังคมไทย ให้เข้าใจ “คุณค่า” ความเป็นไทยอย่างถ่องแท้มากว่านี้ มอง ซอฟต์พาวเวอร์ ไทย ได้ “แหลมคม” จนคาดหวังได้ว่า จะ “ปัง” ในสายตาชาวโลก

หรือยังพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ก็เลือกเอา!?