ปาหี่ ‘นิรโทษกรรม’ ‘พลุสีส้ม’ บนทาง ‘โดดเดี่ยว?’
“พลุสีส้ม” นิรโทษกรรม ฉบับก้าวไกล เกมซื้อใจ ชิง "แต้มเหลือง-แดง" - เขย่า “นายใหญ่ชั้น14” ด้วยครหาอภิสิทธิ์ชนไปในคราวเดียวกัน
“พลุสีส้ม” ดันกฎหมายนิรโทษกรรมถูกจุดมาพักใหญ่ แต่ดูเหมือนสัญญาณจากฟากฝั่งการเมืองยามนี้ ยังคงยิงตรงไปที่พรรคก้าวไกลในฐานะต้นเรื่อง แบบไม่หยุดหย่อน
ย้อนปฐมบทเรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเดือนต.ค. ก่อนปิดสมัยประชุมสภา “หัวหน้าต๋อม” ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลนำทีม สส.เสนอร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. … จำนวน 14 มาตรา
เวลานั้น “ชัยธวัช” ให้เหตุผลในการเสนอร่างกฎหมาย ฉบับดังกล่าว เพื่อยุติการใช้ “นิติสงคราม” กับประชาชนทั้งจะเป็นการจะเป็นการ “ถอนฟืน” ออกจากกองไฟเพื่อสร้างความปรองดองที่ยั่งยืน
แต่เมื่อเจาะลึกไปที่ตัวร่าง หลักใหญ่ใจความสำคัญอยู่ตรงที่ การนับรวมคดีทุกสีเสื้อ นับแต่การชุมนุมครั้งแรกของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2549 ลุกลามบานปลาย จนเกิดการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองฯ ต่อมายังมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ในวันที่ยื่นร่างพ.ร.บ. แม้ “แกนนำพรรคก้าวไกล” ย้ำชัด อานิสงส์จาก พ.ร.บ.นี้ไม่ครอบคลุมถึงการกระทำบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งกระทำเกินสมควรแก่เหตุ ตลอดจนไม่นิรโทษกรรมการกระทำความผิดต่อชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา และไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
ทว่า “พลุสีส้ม” ที่ถูกจุดเวลานั้น “ชัยธวัช” กลับเลี่ยงบาลีที่จะพูดถึงการนิรโทษกรรมบรรดาคดีความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 โดยบอกแต่เพียงว่า “ขึ้นอยู่กับอยู่ในวินิจฉัยของคณะกรรมการ”
จากความไม่ชัดเจนนั้นเองทำให้กระแสตีกลับไปยังพรรคก้าวไกล ถึงจุดประสงค์ของการเสนอร่างกฎหมาย โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมคดี 112 ซึ่งเวลานี้“พลพรรคสีส้ม”ติดร่างแหคดีนี้หลายต่อหลายคน ที่ยังทิ้งไว้ซึ่งคำถามที่ว่าการเสนอกฎหมายดังกล่าว ที่สุด“ทำเพื่อใครกันแน่?”
ภาพของการเดินสายพบแกนนำม๊อบสีต่างๆ โดยเฉพาะล่าสุดปรากฎซีนที่ “ต๋อม ชัยธวัช” นั่งพูดคุยกับ “สุวิทย์ ทองประเสริฐ” หรืออดีต “พระพุทธอิสระ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย และอดีตแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
แม้ “หัวหน้าต๋อม” จะพูดในเชิงปลอบใจในทำนองที่ว่า "ถือเป็นเรื่องดี แม้ว่าอาจจะมีบางกลุ่มที่ยังคงมีคำถามอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยก็ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน"
แต่หากจับสัญญาณฟากฝั่งการเมืองยามนี้ดูแล้ว น่าสนใจว่า จังหวะก้าวย่างของพรรคก้าวไกลนับจากนี้ มีโอกาสไปถึงฝั่งฝันมากน้อยเพียงใด
เพราะ หากที่สุดร่างฉบับนี้เข้าสภาซึ่งจะเปิดสมัยประชุมในวันที่12ธ.ค.นี้ “พลพรรคสีส้ม” ยังต้องฝ่าด่านทั้ง สส.ภายใต้เกมยาวพิจารณา 3 วาระ
ยังไม่นับรวมด่านสว. ซึ่งทั้งหมดล้วนอยู่ใต้การคอนโทรลของ “ลุงพี่-ลุงน้อง” ที่คอยตั้งท่าขวางเต็มสูบ
เช็กแนวร่วมที่มีอยู่ยามนี้ “ซีกฝ่ายค้าน” พรรคก้าวไกล มีเสียงในมือ 147 เสียง จากเดิม151เสียง (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ +ส.ส.ถูกขับออก3คน)
พรรคประชาธิปัตย์ มี25 เสียง ยังคงแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า แถมย้ำจุดยืนอย่างชัดเจนไม่เอาด้วยกับการนิรโทษคดี112
ที่เหลือก็จะมีแค่พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเป็นธรรม 2เสียง พรรคใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ และ พรรคครูไทยเพื่อประชาชนอีกพรรคละ1เสียงที่ยังคงนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว
ขณะที่ฟากฝั่ง “รัฐบาล” เช็กท่าทียามนี้ หากจะหวัง “รวมกันเฉพาะกิจ” โหวตหนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับที่พรรคก้าวไกลเสนอยิ่งเป็นไปได้ยาก
อย่าลืมว่าฝัง “ผู้มีอำนาจ” มี “ธงสัญญาณ” ชัดเจน "มีก้าวไกลไม่มีเรา " รวมถึงการสกัดขัดขวางอะไรก็ตามที่นำไปสู่การล้างคดี112 มาตั้งแต่มี “ซูเปอร์ดีล” พลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาลแล้ว
ขณะเดียวกันพรรคแกนนำอย่าง“พรรคเพื่อไทย” ซึ่งมีกฎหมายนิรโทษกรรมเป็น“ของแสลง” ยามนี้อาจยังคงเข็ดขยาด เพราะมีบทเรียนเมื่อครั้งการชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556
โดยเฉพาะท่าทีของ“ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เคยพูดถึงเรื่องนี้
“หากพูดถึงนิรโทษกรรมอาจดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะตกเป็นจำเลยในอดีต ส่วนตัวแสดงความเห็นว่า การนิรโทษกรรมมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง อย่าให้ร่างกฏหมายนั้นไปสร้างความขัดแย้งในสังคมมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นใหม่ของความขัดแย้งในสังคม”
การจุดพลุสีส้ม ดัน“นิรโทษกรรม”ของพรรคก้าวไกลไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในสภาเป็นครั้งแรก
หากจะย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษไม่ว่าจะเป็นสภาชุดที่แล้ว ก็มีการเสนอกฎหมายโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา และถูกตีตกไปภายหลังการยุบสภาและจัดเลือกตั้งใหม่
โดยเนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับพรรคพลังธรรมใหม่ กำหนดให้การกระทำการที่มีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549-30 พ.ย. 2565 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง อย่างไรก็ตาม ไม่รวมถึงความผิดคดีทุจริต และคดีมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
หรือหากย้อนกลับไปในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย เคยมีการเสนอกฎหมายปรองดองต่อเนื่องมาถึงกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับ หนึ่งในนั่นคือกฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น“ฉบับสุดซอย” จนกระทั่งนำมาสู่สถานการณ์การเมืองที่สุกงอมและเกิดการรัฐประหารโดยที่ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดบังคับใช้เช่นกัน
ความจริงหมากเกมนี้“ก้าวไกล” รู้ดีว่าโอกาสที่จะได้เสียงสนับสนุนเป็นไปได้ยาก
แต่การ “จุดพลุสีส้ม” ที่เกิดขึ้นยามนี้ แง่หนึ่งอาจมีผลในแง่ “ซื้อใจมวลชน”ทุกสีเสื้อ เปลี่ยนแต้มเหลือง-แดง แปรเปลี่ยนเป็นแต้มส้ม ตุนไว้รอบหน้า หากทำสำเร็จสามารถ “ตีตั๋วผู้แทน” ได้แบบเป็นกอบเป็นกำ จนถือเสียงข้างมากในสภาในอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด โอกาสถึงฝั่งฝันภายภาคหน้าก็ยังมีอยู่
จังหวะท่วงท่าของ "พลพรรคส้ม" ที่เกิดขึ้นเวลานี้นอกเหนือจากหวังผลไปที่การโกยแต้มคะแนนนิยมแล้ว ยังเป็นการชิงจังหวะเหมาะเจาะเขย่าไปยัง “นายใหญ่ชั้น14” ด้วยครหาอภิสิทธิ์ชนไปในคราวเดียวกันอีกด้วย