'นักวิชาการ'หนุน ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง ยึดโมเดล ส.ส.ร.40
"อนุฯการเมือง" ระดมความเห็นฝ่ายวิชาการ เสนอโมเดลเลือก ส.ส.ร. ส่วนใหญ่หนุนให้มาจากการเลือกตั้ง ที่ไม่ซับซ้อน หนุนใช้โมเดลส.ส.ร.40
ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาศึกษาการจัดทำข้อเสนอระบบเลือกตั้งและแนวทางการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ในกมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาฯ โดยอนุกมธ. ที่มีนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นประธาน ได้เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟังความเห็น
โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่าการศึกษาโมเดล ส.ส.ร. ดังกล่าวไม่ใช่ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะต้องใช้รูปแบบหรือที่มาของส.ส.ร. แบบใด แต่การศึกษาที่เกิดขึ้นเพื่อต้องการให้ ส.ส.ร.หลากหลาย ยึดโยงกับประชาชน สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงให้ ส.ส.ร.ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญภายในเวลาที่จำกัดอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นประชาธิปไตย
นายพริษฐ์ กล่าวว่าสำหรับข้อเสนอแรก คือ ให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง และส.ส.ร.คือตัวแทนพื้นที่ ส่วนที่มีประเด็นข้อกังวลต่อการมีส่วนร่วมของผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มหลากหลายทางสังคม มีข้อเสนอให้ เพิ่มผู้เชี่ยวชาญ ทำหน้าที่กรรมการยกร่างรัฐธรรม และส่งให้ ส.ส.ร.ชี้ขาดก่อนนำเสนอต่อประชาชน ข้อเสนอที่สอง คือ กำหนดให้ ส.ส.ร.มาจากองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวแทนพื้นที่ คือ การเลือกตั้งจากประชาชน, ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้มีประสบการณ์ และตัวแทนกลุ่มเฉพาะ หรือกลุ่มวิชาชีพ ซึ่งอาจใช้ระบบเลือกตั้ง เช่น รูปแบบการแบ่งเป็นกลุ่มจังหวัด เป็นต้น เบื้องต้นอนุกมธ. เห็นว่า ควรใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ในต่างจังหวัดจะให้จำนวนส.ส.ร.ต่างกัน ตามจำนวนประชากร
นายพริษฐ์ กล่าวว่าสำหรับรูปแบบเลือกตั้งตามที่อนุกมธ. พิจารณา คือ ทางเลือกแรก คือ ใช้การแบ่งเขตเลือกตั้ง ประชาชน 1 คน สามารถเลือก ส.ส.ร.ได้ 1 คน หรือทางเลือกสอง ประชาชนสามารถโหวตส.ส.ร.ได้ตามจำนวนที่เขตเลือกตั้งนั้นกำหนดให้มี ส.ส.ร. และทางเลือกสาม ให้ประชาชนเลือกผู้สมัคร ส.ส.ร. กี่คนก็ได้ตามที่ตนเองเห็นชอบหรือยอมรับ ส่วนผู้ชนะจะอยู่ในลำดับที่ 1-3 เป็นต้น นอกจากนั้นจะมีบทกำหนดผลประโยชน์ทับซ้อน คือ ห้าม ส.ส.ร.ลงเลือกตั้ง เป็น สส. สว. องค์กรอิสระในระยะเวลาหนึ่ง เช่น 3-5 ปี
ขณะที่นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ และ อดีตส.ส.ร.40 กล่าวโดยยกตัวอย่างและสนับสนุนการใช้รูปแบบของที่มาของ ส.ส.ร.40 ที่มี 99 คน และมีกรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญ 240 วัน ดังนั้นการกำหนดจำนวนดังกล่าวเหมาะสมไม่เสียงบประมาณมาก และเป็นประชาธิปไตยที่ดี ทั้งนี้สำหรับที่มาของส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่ควรเป็นระบบซับซ้อนหรือพิศดาร เพราะคนไปใช้สิทธิจะสับสน
นายพงษ์เทพ กล่าวด้วยว่าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตนมองว่ต้องมีคณะทำงาน 2 ชุดสำคัญ คือ กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการพิจาณาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อปรับแก้ไขตามการรับฟังความเห็นของประชาชน เมื่อ ส.ส.ร. ยกร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ควรเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็น โดยรัฐสภาไม่มีสิทธิบอกว่ารับหรือไม่ แต่ตนมองว่ากรณีที่รัฐสภาให้ความเห็น และชี้ว่ามีข้อบกพร่องผิดพลาดใดจะเป็นประโยชน์ ส่วนการปรับหรือไม่ขึ้นอยู่ ส.ส.ร. จากนั้นจึงส่งไปออกเสียงประชามติ ส่วนกรอบเวลาทำรัฐธรรมมนูญใหม่เห็นว่า 240 วันเหมาะสม
“ด้านผู้เชี่ยวชาญหรือกรรมการ ควรเป็น ส.ส.ร. ถือว่าเป็นประโยชน์ เพราะจะเป็นพวกเดียวกัน ไม่รู้สึกว่าเป็นคนละพวก และได้รับฟังความเห็นที่แลกเปลี่ยนกัน เกิดความเข้าใจในเนื้อหา ผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ หากจะเป็นประโยชน์ต้องเป็น ส.ส.ร.ด้วย แต่การส่งให้ ประชาชนเลือกจะปวดหัว หากให้สมัครได้ มีคนสมัคร 2,000 ชื่อคนเลือกที่เป็นประชาชนจะเลือกไม่ไหวแน่นอน หากเสนอผู้เชี่ยวชาญ อาจมีรูปแบบมาจากตัวแทนฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล” นายพงษ์เทพ กล่าว
ขณะที่ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสนับสนุนให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องจัดระบบเลือกตั้งให้เหมาะสม เช่น ใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง และคำนึงถึงสัดส่วนของประชากรในแต่ละพื้นที่เพื่อให้เป็นตัวแทนของประชาชนร่วมเป็น ส.ส.ร. ขณะเดียวกันการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ควรมีเนื้อหาที่ยาวเกินไป
ทางด้าน นายนิกร จำนง กรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ กล่าวสนับสนุนรูปแบบ ส.ส.ร. โดยโมเดล ปี 2540 ให้มีจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน ส่วนกรรมการยกร่างรัฐะรรมนูญต้องมีความสัมพันธ์และเชื่อมโยงกัน รวมมถึงส.ส.ร.ต้องมีหน้าที่รับฟังความเห็นประชาชน เพื่อรวบรวมความเห็นนำไปจัดทำรัฐธรรมนูญโดยใช้โครงสร้างของรัฐธรรมนูญเดิม ส่วนของผู้เชี่ยวชาญนั้น ตนมองว่าจำเป็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการแสดงความเห็นของตัวแทนภาคประชาชน และตัวแทนคนรุ่นใหม่ ร่วมให้ความเห็นในภาพรวมคือ สนับสนุนที่มาของส.ส.ร.จากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กระบวนการเลือกของ ส.ส.ร.นั้นไม่ควรซับซ้อน และควรทำอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนั้นเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีนักวิชาการร่วมเป็น ส.ส.ร.เพื่อทำงานทางเทคนิค และเสนอความเห็นในการจัดทำรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังสนับสนุนให้คนชายขอบ กลุ่มคนเฉพาะ เช่นคนพิการ ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นผู้เชี่ยวชาญต้องมีบทบาทในการผลักดันวาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เลือกให้เข้ามาเป็นไม้ประดับเท่านั้น
โดยนายพริษฐ์ กล่าวปิดท้ายการประชุมว่า การรับฟังความเห็นเป็นทางเลือกที่จะนำเสนอ ซึ่งความเห็นที่เสนอนั้นมีความหลากหลาย ทั้ง 1.ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 2.เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง มีข้อจำกัด เกี่ยวกับผู้เลือกและ ส.ส.ร.ที่สอดคล้อง ส่วนกรณีข้อเสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญให้เป็นส.ส.ร.นั้น ตามแนวคิดของอนุกมธ.ฯ คือ ต้องยึดโยงกับประชาชน.