แกะรอยสัญจร 5 จว.‘เรดโซน’ พท.ตรึง 16 เขตแนวต้าน ‘พรรคร่วม-ฝ่ายค้าน’เจาะยาง
แกะรอยสัญจร 5 จว.‘เรดโซน’ เพื่อไทย ตรึง 16 เขตแนวต้าน ‘พรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน’เจาะยาง “เศรษฐา-แพทองธาร” ต่อยอดประชานิยม “พ่อใหญ่ทักษิณ”
เสร็จภารกิจการประชุม ครม.สัญจร ครั้งแรกของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ปักหมุดเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ภาคอีสานเต็มกำลัง เพราะถือเป็นฐานเสียง-ฐานกำลังหลัก ที่ทำให้พรรคเพื่อไทย ประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้งมาทุกครั้ง
เนื่องจาก “คนอีสาน” รักและผูกพันกับ “พ่อใหญ่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยในยุคพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชารัฐ ก่อนต่อยอดมาสู่พรรคเพื่อไทย หลายนโยบายประชานิยมผลิดอกออกผล จนทำให้ “คนอีสาน” ลืมตาอ้าปากได้
จึงไม่แปลกที่ “ทีมยุทธศาสตร์เพื่อไทย” เลือกประเดิมเวที ครม.สัญจร พุ่งเป้าไปที่ 5 จังหวัด “เรดโซน” ประกอบด้วย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ที่ “เพื่อไทย” ชนะการเลือกตั้ง สส. ยกจังหวัดเกือบทั้งหมด
“หนองบัวลำภู” พรรคเพื่อไทยครองแชมป์มาตั้งแต่ปี 2550 ชนะการเลือกตั้งยกจังหวัดมาทุกครั้ง ล่าสุดกวาดมาทั้ง 3 ที่นั่ง เขต 1 สยาม หัตถสงเคราะห์ เขต 2 ไชยา พรหมา และเขต 3 ณพล เชยคำแหง
ขณะที่คะแนน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยก็ได้มา 117,405 คะแนน พรรคก้าวไกลได้ 88,577 คะแนน พรรคไทยสร้างไทยได้ 12,279 คะแนน
“อุดรธานี” แม้เป้าจะต้องกวาดให้ได้ยกจังหวัด แต่พลาดไป 3 ที่นั่ง คว้ามา 7 ที่นั่ง ประกอบด้วย เขต 2 หทัยรัตน์ เพชรพนมพร เขต 4 ภาณุ พรวัฒนา เขต 5 กรวีร์ สาราคำ เขต 7 ธีระชัย แสนแก้ว เขต 8 เกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม เขต 9 วัชระพล ขาวขำ และเขต 10 เทียบจุฑา ขาวขำ โดยพ่ายแพ้ในเขต 1 ซึ่งถือเป็นเขตเมืองให้กับ ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ พรรคก้าวไกล มิหนำซ้ำยังโดนพรรคไทยสร้างไทยเบียดเข้าวิน 2 ที่นั่ง คือ เขต 3 หรั่ง ธุระพล เขต 6 อดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์
สำหรับคะแนน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้ 353,147 คะแนน พรรคก้าวไกลได้ 295,097 คะแนน พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 37,059 คะแนน
“หนองคาย” พรรคเพื่อไทยไม่สามารถรักษาแชมป์กวาดทั้งจังหวัดได้ เหมือนศึกเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา เนื่องจากกระแสบ้านใหญ่ “ตระกูลพรพงศ์” จากพรรคพลังประชารัฐ เบียดเข้าวินในเขต 1 ส่วนอีก 2 ที่นั่ง เพื่อไทยยังเก็บมาได้ ประกอบด้วย เขต 2 ชนก จันทาทอง เขต 3 เอกธนัช อินทร์รอด
คะแนน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้ 118,595 คะแนน พรรคก้าวไกลได้ 96,061 คะแนน พรรครวมไทยสร้างชาติได้
10,897 คะแนน
“เลย” พรรคเพื่อไทยเสียเก้าอี้ให้กับพรรคภูมิใจไทย 1 ที่นั่ง ในเขต 3 โดย ธนยศ ทิมสุวรรณ คว้าชัยมาตั้งแต่ปี 2562 ก่อนต่อยอดคว้าชัยอีกครั้งในปี 2566
ส่วนอีก 3 ที่นั่ง พรรคเพื่อไทยกวาดมาได้ ประกอบด้วย เขต 1 เลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล เขต 2 ศรัณย์ ทิมสุวรรณ และเขต 4 สมเจตน์ แสงเจริญรัตน์
คะแนน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้ 156,863 คะแนน พรรคก้าวไกลได้ 121,287 คะแนน พรรครวมไทยสร้างชาติได้ 19,984 คะแนน
“บึงกาฬ” พรรคเพื่อไทยเข้าวินแค่ 1 ที่นั่ง ในเขต 3 นิพนธ์ คนขยัน ส่วนอีก 2 เขต เสียเก้าอี้ให้พรรคภูมิใจไทย เขต 1 สยาม เพ็งทอง เขต 2 สุวรรณา กุมภิโร
คะแนน สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยยังครองแชมป์ได้ 106,129 คะแนน พรรคก้าวไกลได้ 74,541 คะแนน พรรคภูมิใจไทยได้ 11,571 คะแนน
เมื่อสังเคราะห์จากเก้าอี้ สส. “เพื่อไทย” สามารถกวาดเก้าอี้ใน 5 จังหวัดได้เป็นกอบเป็นกำ แพ้ให้กับพรรคก้าวไกลเพียง 1 เก้าอี้ คือในเขต 1 จ.อุดรธานี ส่วนที่เหลือแพ้ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และพรรคภูมิใจไทย ซึ่งถือเป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน
สแกนคะแนน สส.บัญชีรายชื่อ ทั้ง 5 จังหวัด ยังเป็น “เพื่อไทย” ที่มีคะแนนนิยมเหนือคู่แข่งทั้งหมด แม้จะเป็นแกนนำรัฐบาลแต่สถานการณ์ก็ไม่สามารถไว้วางใจในระยะยาวได้ เนื่องจาก “ก้าวไกล”รุกไล่ตามมาติดๆ เป็นที่สองในทุกจังหวัดเช่นกัน
จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของ “เพื่อไทย” ที่จะต้องกระตุ้นคะแนนนิยมของพรรคให้กลับมาคืนมา ไม่ให้โดนกระแสและกระสุนพรรคคู่แข่งเจาะฐานที่มั่นเข้ามาได้ลึกกว่านี้ เพราะหากไม่เหลียวแล 5 จังหวัด ซึ่งเป็นฐานที่มั่น ย่อมส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า
ทุกย่างก้าวของ“เพื่อไทย”ในวาระ ครม.สัญจร จึงถูกวางยุทธศาสตร์เอาไว้อย่างมีนัย นอกจากรัฐมนตรี สส.ของพรรคจะได้ผลงาน ยังเป็นการเปิดตัว 2 ผู้นำ “นายกฯเศรษฐา” และ“หัวหน้าพรรคอุ๊งอิ๊ง” รองประธานซอฟต์พาวเวอร์ฯ ไปในคราวเดียวกัน
แม้ “ครม.สัญจร”จะไม่สามารถอนุมัติโครงการใหญ่ได้ทันท่วงที แต่จะเป็นการวางฐานรากประชานิยมชุดใหม่เอาไว้ เพื่อกลับมาต่อยอดความสำเร็จทางการเมืองในระยะยาว