'สุทิน' ชู งานวิจัยทหาร หารายได้ ดัน 'ดุริยางค์ทหาร - มวยไทย' Soft Power
"สุทิน" ชี้ งานวิจัยทางทหาร สร้างมูลค่า ช่วยรัฐบาลหารายได้เข้าประเทศ ดัน "ดุริยางค์ทหาร - มวยไทย" เป็น Soft Power
วันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่กระทรวงกลาโหม นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารของกระทรวงกลาโหม ประจำปี 2566
นายสุทิน กล่าวแสดงความยินดีต่อหน่วยงานที่ได้รับรางวัลว่า งานวิจัยวันนี้เราได้เอามาใช้ในหน่วยงาน เป็นการพึ่งพาตัวเอง สามารถยืนบนลำแข้งตัวเองได้ และประโยชน์ที่จะได้จากการวิจัยและพัฒนาในวันนี้ จะเกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง ก็คือความต้องการในปัจจุบันที่รัฐบาลต้องการสร้างรายได้ใหม่เข้ากับประเทศ การวิจัยวันนี้สามารถเป็นรายได้ใหม่ให้กับประเทศได้
ซึ่งตนพูดในครม.เสมอว่าทุกกระทรวงกำลังหารายได้ให้กับรัฐบาล ตนบอกว่ากระทรวงกลาโหมน่าจะสร้างมูลค่าสินค้าได้สูงกว่ากระทรวงอื่นๆ แม้กระทรวงกลาโหม ผลิตจำนวนน้อยแต่มีมูลค่าสูง วันนี้งานวิจัยของเราอยากจะให้กำลังใจทุกท่านและส่งเสริมให้พัฒนาต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ให้ได้ ซึ่งวันนี้เข้าใจว่ามุ่งหวังใช้ในภารกิจแต่อยากให้ส่งเสริมในเชิงพาณิชย์เชื่อว่า จะเป็นผลงานที่สำคัญของกระทรวงกลาโหม ในการสร้างการรับรู้และเปลี่ยนภาพพจน์ของทหาร อย่างมาก
สังคมมักเข้าใจว่าสังคมทหาร ไม่มีการพัฒนาทางวิชาการจะเป็น Hard Power แต่ไม่รู้ว่าเรามี Solf Power และมีพลังทางวิชาการที่ไม่เป็นรองใคร สะท้อนผ่านงานวิจัยครั้งนี้ เป็นผู้มีความรู้มีพื้นฐาน และกระบวนการวิจัย ถือเป็นความรู้ชั้นสูง เพราะฉะนั้นสังคมจะรับรู้ว่า กระทรวงกลาโหม ไม่ใช่กระทรวงที่ต้องใช้เงินเพียงอย่างเดียว หากทำจริงๆแล้ว อาจจะเป็นกระทรวงที่ทำเงินให้รัฐได้ แม้อาจจะไม่สำเร็จถึงขั้นนั้น แต่สังคมและมองเห็นคุณค่าในเรื่องนี้ตรงน้องว่าเป็นความสำเร็จของกระทรวงกลาโหมและทหารอย่างน่าภูมิใจมาก
ผลงานวิจัยและพัฒนา และสิ่งประดิษฐ์ทางทหาร ที่ได้รับรางวัล เชิดชูเกียรติของกระทรวงกลาโหม เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าบุคลากรนักวิจัยของกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้น วิจัยพัฒนาจนประสบความสำเร็จ เมื่อวิจัยพัฒนาสำเร็จแล้วต้องมีการนำไปใช้งานได้จริง จึงจะเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อกองทัพ ในการดำรงสภาพหรือพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของยุทโธปกรณ์ให้สูงขึ้นแล้ว ยังสามารถผลักดันนำไปสู่การผลิตเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ทดแทนยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ จะทำให้กระทรวงกลาโหมมีขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ในอนาคตต่อไป
หลังจากนั้น นายสุทิน ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า งานวิจัยในวันนี้ตนได้เห็นโอกาสของประเทศ เพราะปัจจุบันเรากำลังฟื้นฟูเศรษฐกิจ หารายได้เข้าสู่ประเทศ อยากเชิญชวนให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ทางทหาร ว่ากองทัพสามารถทำเงินเข้าประเทศได้ และประหยัดงบได้ งานวิจัยวันนี้บ่งบอกได้ว่ากองทัพสามารถ ผลิตอาวุธใช้เองได้ในระดับหนึ่งแล้ว หากมีการส่งเสริมที่ดี ก็สามารถผลิตอาวุธใช้เองได้ในหลายระดับ และสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ผลิตขายได้ เช่น โดรน
สินค้าเหล่านี้มีมูลค่าสูงกว่าสินค้าเกษตร หากรัฐบาลให้ความสนใจ และหันมาทุ่มเท พัฒนาสายผลิตด้านนี้ ถือเป็นทางหนึ่งที่จะนำรายได้เข้าสู่ประเทศ จากนี้จะส่งเสริมให้มีการพัฒนา ต่อยอดให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
และส่งเสริมการผลิต โดยจะหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีงบประมาณสนับสนุน เชื่อว่าจะได้รับความสนใจ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นได้ทันที นอกจากนี้ยังมีสถาบันป้องกันประเทศ จะมารับงานนี้ไปดำเนินการทำการตลาด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่ตนได้ให้ไว้ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ถือว่านโยบายนี้สำเร็จ
ซึ่ง นายสุทิน ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้ตนจะผลักดันสนับให้ดุริยางค์ทหาร ของเหล่าทัพและสนามมวยลุมพินีเป็น Soft Power เพราะกำลังเป็นที่นิยม และมีจุดแข็งในเรื่องของดนตรี ต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
และ ในวันที่ 12 นี้ตนจะพูดคุยกับ ดุริยางค์ทหาร ส่วน ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ จะเดินทาง ไปสนามมวย รังสิต เพื่อไปพบกับอดีตนักมวยเก่า ให้ช่วยมาส่งเสริม Soft Power มวยไทย โดยจะมีนักมวยทหารด้วย และจะมีการจัดงานยิ่งใหญ่ที่อุทยานราชภักดิ์ 19 ธ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมอบรางวัลครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจให้แก่หน่วยเจ้าของผลงานและผู้บริหาร ที่ให้การสนับสนุนนักวิจัยในสังกัด ในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกองทัพ
พร้อมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางทหารของนักวิจัยกระทรวงกลาโหมให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงกลาโหม อีกทั้ง เพื่อส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันการนำผลงานวิจัยไปใช้ในกองทัพ รวมทั้งนำเข้าสู่สายการผลิตเป็นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ได้ต่อไป
ประเภทผลงานวิจัยดีเด่น จำนวน 9 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โครงการวิจัยและปรับปรุงปืนเล็กยาว ขนาด 5.56 มม. เพื่อรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์ของกระทรวงกลาโหม หน่วยเจ้าของผลงาน ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร ได้รับโล่ ใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 50,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 3รางวัล รางวัลละ 30,000บาท รางวัลชมเชย 5 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท
ประเภทสิ่งประดิษฐ์ทางทหารดีเด่น จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ อากาศยานไร้คนขับสำหรับลำเลียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดใหญ่ Heavy lift D-MERT หน่วยเจ้าของผลงาน กรมแพทย์ทหารบก ได้รับโล่ ใบประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 3 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท
- รางวัลชมเชย 4รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท รวมเป็นรางวัลทั้งสิ้น จำนวน 17รางวัล รวมเงินรางวัล ทั้งสิ้น 370,000 บาท