'เมียนมา' ระอุ อพยพนับหมื่น 'กองทัพ'ปูแผนป้องชายแดน-น่านฟ้า
กำลังทางบกและทางอากาศของไทย ร่วมบูรณาการการทำงาน เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี ใกล้ชิด ท่ามกลางกระแสข่าว "เมียนมา"ใกล้แตก
นับตั้งแต่เกิดเหตุสู้รบระหว่างกองกำลังกลุ่มชาติพันธ์ที่เรียกตัวเองว่า กลุ่มพันธมิตรสามภราดรภาพ (The Brotherhood Alliance) ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง กองทัพตะอางหรือปะหล่อง และกองทัพอาระกัน บุกโจมตีกองกำลังทหารเมียนมาจากหลายด้าน หนักสุดคือตอนเหนือรัฐฉาน ซึ่งมีพรมแดนติดกับจีน
ทั้งหมดเปิดฉากโจมตีกองทัพเมียนมาจากทุกทิศทางตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคมภายใต้ชื่อปฏิบัติการ “Operation 1027” ด้วยยุทธวิธีเริ่มต้นจากการยึดหมู่บ้าน จากนั้นตามมาด้วยการยึดเมือง ก่อนจะมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดคือ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของประเทศเมียนมา
ปัจจุบันสถานการณ์ส่อเค้าบานปลายมายังชายแดนด้านตะวันตกห่างจากชายแดนไทยประมาณ 20-30 กิโลเมตรทั้งฝั่ง จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ตาก ระหว่างเส้นทางไปเมียวดี กับ เมืองกอกาเลก พร้อมทั้งประเมินว่า หากการสู้รบเข้าไปถึงเมียวดี จะลุกลามตามพื้นที่รอยต่อไปยัง จ.กาญจนบุรี
โดยล่าสุดการสู้รบส่งผลให้ การขนส่งสินค้าเป็นไปด้วยความลำบาก ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ตอนในได้ แต่ยังไม่ส่งผลกระทบไปถึงคนไทยที่อยู่ติดกับชายแดนที่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ส่วนผู้อพยพจากภัยสู้รบมีเพียงปละปลายในลักษณะมาแล้วก็กลับ
แต่หลังจากที่ทหารเมียนมาใช้อากาศยานเครื่องบินขับไล่ MIG-29 และเฮลิคอปเตอร์ออกปฏิบัติการ ส่งผลให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธ์ปรับกลยุทธ์ ในการสู้รบครั้งใหม่ จึงคาดว่าจากนี้ไปจนถึงปีหน้า มกราคม กุมภาพันธ์ สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้น
แหล่งข่าวจากกองทัพบก เปิดเผยว่า กองกำลังนเรศวร กองทัพภาคที่ 3 ซึ่งรับผิดชอบชายแดนพื้นที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน ได้ประเมินสถานการณ์เตรียมแผนรองป้องกันชายแดนทั้งทางบกและทางอากาศกว่า 500 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ทางบก 200 กิโลเมตร ทางน้ำ 300 กิโลเมตร ซึ่งจะมีตัวเลขผู้อพยพอยู่ที่หลักหมื่นราย
พร้อมประสานไปยังฝ่ายเมียนมา ผ่านกลไก คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค ไทย – เมียนมา หรือ RBC และ คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น TBC ไทย-เมียนมา รวมถึงกองกำลังติดอาวุธประชาชน (PDF)ให้ดูแลประชาชนฝั่งตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ ทำพื้นที่ให้มีความปลอดภัย
ส่วนการเตรียมพร้อมฝั่งไทย กองกำลังนเรศวร โดย กองทัพภาคที่ 3 ได้ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ส่วนการปกครองท้องถิ่น ตลอดจนเครือข่ายเอ็นจีโอ กรณีหากจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์อพยพผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชั่วคราว เบื้องต้นกำหนดไว้ จ.ตาก คือ อำเภอพบพระ อำเภอแม่สอด อำเภอแม่ระมาด อำเภออุ้มผาง อำเภอท่าสองยาง และ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
เพื่อให้การช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และการดูแลรักษาพยาบาลเบื้องต้น กรณีผู้อพยพได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการเจ็บป่วย พร้อมทั้งยึดตามความสมัครใจหากเหตุการณ์สู้รบสงบก็พร้อมอำนวยความสะดวกให้เดินทางกลับ ร่วมถึงกลุ่มที่อยากเดินทางไปประเทศที่สาม
นอกจากนี้ กองกำลังนเรศวร โดย กองทัพภาคที่3 ได้ประสานงานกับกองทัพอากาศ ร่วมประเมินสถานการณ์การสู้รบ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อน่านฟ้าไทย หลังเคยเกิดกรณีเครื่องบินขับไล่ MIG-29 เมียนมาใช้โจมตีกองกำลังชาติพันธ์รุกล้ำเข้ามาขณะออกปฏิบัติการโจมตี
พลอากาศเอก พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระบุ การสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา ดำเนินการหนักเบาสลับกันอยู่ทุกวัน โดยกองทัพอากาศ ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในการเฝ้าระวังอากาศยานที่จะลุกล้ำน่านฟ้าเข้ามา เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดกรณีนี้มาแล้ว ในขณะนั้นเราได้ทำหนังสือประท้วงไปยังเมียนมา ซึ่งทางเมียนมา ได้ขอโทษและยืนยันว่าไม่มีเจตนารุกล้ำน่านฟ้าไทย แต่เนื่องจากมีปัจจัยที่อยู่เหนือการควบคุม เป็นเหตุสุดวิสัย เช่น สภาพอากาศ พร้อมทั้งยืนยันว่าจะไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
พลอากาศเอก พันธ์ภักดี กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน กองทัพอากาศ มีศูนย์เรด้าร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวอากาศยานรุกล้ำน่านฟ้าอยู่แล้ว ควบคู่บินลาดตระเวณแนวชายแดน ซึ่งปฏิบัติการร่วมกับกำลังกองทัพบกที่รับผิดชอบพื้นที่ทางบกตลอด 24 ชั่วโมง หากมีกรณีอากาศยานรุกล้ำน่านฟ้ามาอีก ทางกองทัพอากาศพร้อมส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ออกปฏิบัติการได้ทันที
กำลังทางบกและทางอากาศของไทย ร่วมบูรณาการการทำงาน เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.ตาก จ.กาญจนบุรี ใกล้ชิด ท่ามกลางกระแสข่าว "เมียนมา" ใกล้แตก