'วิโรจน์' แฉมูลค่าทุจริตไทยพุ่ง 3 แสนล้าน/ปี ระบบอุปถัมภ์คือต้นเหตุ

'วิโรจน์' แฉมูลค่าทุจริตไทยพุ่ง 3 แสนล้าน/ปี ระบบอุปถัมภ์คือต้นเหตุ

'วิโรจน์' เลคเชอร์วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล แฉเล่ห์เหลี่ยมกลโกงที่ 'ตำรวจ' ไม่รู้ ชี้มูลค่าการทุจริตในไทยพุ่ง 3 แสนล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการจ่ายส่วย 25-30% เท่างบ ก.ศึกษาฯ เผยระบบอุปถัมภ์-ซื้อขายตำแหน่ง คือปฐมบทการโกง

เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงวันต่อต้านคอร์รัปชัน 9 ธ.ค.นี้ หัวข้อ "ปัญหาคอร์รัปชั่น ต้องแก้ไขที่โครงสร้าง และระบบกฎหมาย" โดยระบุว่า หากพิจารณาจากดัชนีการรับรู้คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index หรือ CPI) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2565 จะสังเกตได้เลยว่า การทำรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 กลับกลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น อยู่ในจุดที่เสื่อมทรามลง และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นงานเอกสาร ที่ไม่มีนัยสำคัญต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง หรือเชิงระบบใดๆ ต่อการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นเลย

"มาดูกันครับว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศไทย นั้นเป็นปัญหาที่ใหญ่โตขนาดไหน มูลค่าของการทุจริตคอร์รัปชั่นที่สูงกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท เทียบเท่ากับงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งกระทรวง เป็น 3 เท่าของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเป็น 40 เท่า ของงบประมาณอุดหนุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนพิเศษของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถอุดหนุนการศึกษาให้กับเด็กยากจนพิเศษ จำนวน 1.3 คน ให้ได้เรียนหนังสือจนจบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ได้ถึง 3 Generation เลยทีเดียว" นายวิโรจน์ ระบุ

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า เงินจากการทุจริตคอร์รัปชั่นกว่า 3 แสนล้านบาท ไม่ได้อยู่ดีๆ ก็งอกขึ้นมา แต่มันมาจากการรีดไถผู้ประกอบการสุจริต มาจาการเบียดบังเงินภาษีของประชาชน ทำให้ประชาชนต้องจำยอมรับสภาพกับสวัสดิการ สาธารณูปโภค และการพัฒนาที่ด้อยประสิทธิภาพ เมื่อนักลงทุนทราบว่าการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย ต้องเตรียมเงินเอาไว้จ่ายส่วยสูงถึง 25%-30% ต้องถูกคุกคามจากมาเฟียข้ามชาติ ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นลูกสมุน ใครเขาจะเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้นวัตกรรมใหม่ๆ การจ้างงานทักษะสูง ก็จะไม่เกิดขึ้น พลเมืองไทยก็จะขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ประเทศก็จะสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และถดถอยสู่ความล้าหลังไปเรื่อยๆ 

\'วิโรจน์\' แฉมูลค่าทุจริตไทยพุ่ง 3 แสนล้าน/ปี ระบบอุปถัมภ์คือต้นเหตุ

หากประเทศไทยยังคงอยู่ในวังวนของหลุมดำของการคอร์รัปชั่นทั้ง 9 หลุม เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็น

1. ระบบตั๋วเส้นสาย การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ระบบอุปถัมภ์ และเครือข่ายทุนผูกขาด 

2. การขาดความโปร่งใส และอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ

3. กฎหมายปิดปาก การคุกคามสื่อ และการลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก

4. การใช้อำนาจขององค์กรอิสระ ที่ปราศจากความรับผิดชอบ ไร้กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุล

5. กฎหมายที่ล้าสมัย ที่เอื้อให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ เอื้อให้เกิดการผูกขาด หรือการฮั้วประมูล

6. การใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐาน ตั้งธงใช้นิติสงครามเล่นงานฝ่ายตรงข้าม และคนที่เห็นต่าง แต่พอพวกพ้องของตนเองทำผิดเสียเอง ก็สามารถหาข้ออ้างข้างๆ คูๆ มาปกป้องให้พ้นผิดได้อยู่เสมอ

7. ความไม่จริงจังในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกับการจัดการปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 (มาตรา 176 การเอาผิดนิติบุคคลที่เสนอสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ และมาตรา 131 การคุ้มครองพยาน และผู้ร้องทุกข์ เป็นต้น) พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม 2565 พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ 2565 การจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 เป็นต้น

8. การตอบสนองต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างล่าช้าไร้ประสิทธิภาพ ปฏิเสธอย่างหน้าไม่อายไม่ยอมรับว่ามีการกระทำความผิด หรือมีการทุจริตเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นประเด็นที่โจษจันกันไปทั่วโลก ประชาชนในพื้นที่ต่างรับรู้กันอย่างกว้างขวางว่ามีการกระทำความผิด มีการทุจริต รีดไถ เก็บส่วยเกิดขึ้นจนเป็นปกติวิสัย ซุกปัญหาอยู่ใต้พรม มีแต่จับข้าราชการชั้นผู้น้อยมาเป็นแพะรับบาป แต่ไม่เคยสาวถึงข้าราชการระดับสูงที่เป็นตัวการ

9. มองว่าการรีดไถ และการเรียกรับผลประโยชน์เป็นเรื่องปกติ ที่ใครๆ เขาก็ทำกัน

หากประเทศไทยยังคงอยู่ในระบบนิเวศอันฟอนเฟะเหล่านี้ สถานการณ์ของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ของประเทศไทย แทบจะไม่มีโอกาสที่จะดีขึ้นได้เลย

\'วิโรจน์\' แฉมูลค่าทุจริตไทยพุ่ง 3 แสนล้าน/ปี ระบบอุปถัมภ์คือต้นเหตุ

นายวิโรจน์ ระบุว่า ปัจจุบันปัญหาการคอร์รัปชั่นในประเทศไทย แทรกซึมอยู่ในทุกอณู จนกลายเป็นรากฐานของปัญหาอาชญากรรม ธุรกิจผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น จีนสีเทา และมาเฟียข้ามชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของประชาชน สุจริตชนไม่มีความเชื่อว่ากฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม จะปกป้องพวกเขาจากอำนาจมืดเหล่านี้ได้ ปัญหาการคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน จึงไม่ได้เป็นเพียงการเรียกรับผลประโยชน์เท่านั้น แต่มันกำลังกลายเป็นภัยร้ายที่บ่อนทำลายนิติรัฐ และคุณภาพชีวิตของประชาชน ให้ถดถอยลงไปเรื่อยๆ

ที่ผ่านมาการคอร์รัปชั่นที่สร้างความเสียหายให้กับสังคมอย่างมหาศาล หลักๆ มีอยู่ทั้งสิ้น ดังต่อไปนี้

1. ระบบตั๋ว และการซื้อขายตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นปฐมบทของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยปัจจุบันพบว่าแหล่งเงินในการซื้อขายตำแหน่งนั้นมาจากผู้มีอิทธิพล จีนสีเทา และมาเฟียข้ามชาติ ทำให้ข้าราชการระดับสูงที่วิ่งเต้นซื้อตำแหน่งมาได้ ต้องคอยเป็นลูกสมุนรับใช้ ปกป้อง และอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจผิดกฎหมายต่างๆ 

2. การเรียกรับผลประโยชน์ หรือการรีดไถส่วยจากธุรกิจผิดกฎหมาย อาทิ แก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ยาเสพติด บ่อนการพนัน พนันออนไลน์ แรงงานข้ามชาติ การค้าประเวณีเด็ก การลักลอบนำเข้าสินค้าหนีภาษี หรือสินค้าผิดกฎหมาย เช่น น้ำมันเถื่อน หมูเถื่อน วัวเถื่อน ฯลฯ

3. การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ช่องว่างของกฎหมายที่ล้าหลัง และโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ในการกลั่นแกล้งรังแก เพื่อเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนผู้สุจริต เช่น ส่วยโรงแรม ส่วยสถานบันเทิง ส่วยรถบรรทุก ส่วยตรวจสภาพรถ ส่วยโอนที่ดิน ส่วยใบอนุญาตก่อสร้าง การตั้งด่านรีดไถประชาชน (อย่างกรณี อันหยูชิง ศิลปินชาวไต้หวัน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือในการรีดไถตบทรัพย์) การค้าสำนวน การวิ่งเต้นให้พ้นโทษ (อย่างกรณีนายเจน คริช จำเลยในคดีซื้อบริการเด็ก ที่ติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 ล้านบาท เพื่อหลบหนีออกนอกประเทศ และกรณีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เรียกรับสินบนจากผู้ต้องหาชาวไต้หวัน เป็นต้น) 

4. การล็อคสเป๊ค การฮั้วประมูล และการสร้างเงื่อนไขให้การประกวดราคาอยู่ในสภาพผูกขาด เช่น ประกาศคณะกรรมการราคากลาง ที่กีดกันไม่ให้ผู้รับเหมาชั้น 1 ของโครงการก่อสร้างงานทาง เลื่อนชั้นเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ เป็นประกาศที่เอื้อให้เกิดการฮั้วประมูล จนทำให้การประกวดราคาในโครงการก่อสร้างทางที่มีมูลค่าตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ที่ประกวดราคาได้เฉพาะผู้รับเหมาชั้นพิเศษที่มีอยู่เพียง 77 ราย มีราคาที่ชิดกับราคากลางในระดับ 0.24%-0.36% ราวกับว่าไม่มีการประมูล ในขณะที่โครงการก่อสร้างทางที่มีมูลค่าต่ำกว่า 500 ล้านบาท มีราคาประมูลห่างจากราคากลางสูงถึง 19.46%-22.57% นอกจากนี้ยังพบว่า โครงการขนาดใหญ่ โครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการขยะ หลายโครงการ มักจะใช้ช่องว่างของกฎหมายในการหลบเลี่ยงในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม ทั้งๆ ที่มีข้อมูลทางสถิติยืนยันว่า โครงการที่จัดทำข้อตกลงคุณธรรมนั้นประหยัดงบประมาณของชาติได้ถึง 31.32%

\'วิโรจน์\' แฉมูลค่าทุจริตไทยพุ่ง 3 แสนล้าน/ปี ระบบอุปถัมภ์คือต้นเหตุ

การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย ไม่สามารถแก้ได้ด้วยท่าทีขึงขัง หรือการใช้อำนาจเผด็จการข่มขู่ว่าจะปราบปราบ ดูได้จากกรณีของ คสช. เป็นตัวอย่างก็ได้ แม้ว่าหัวหน้าคณะรัฐประหาร จะมีอาวุธสงคราม มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา 44 แต่ก็เป็นที่ปรากฏแล้วว่า อำนาจเหล่านั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นได้เลย ซ้ำร้ายสิ่งที่ คสช. ทำ ก็คือ การสร้างเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ที่เอื้อให้พวกพ้องของตนได้เข้าสู่อำนาจ ผูกขาดกินรวบทรัพยากร และผลประโยชน์ของประเทศชาติ จนทำให้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยหยั่งรากลึก จนยากที่จะเยียวยา

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น จำเป็นต้องแก้ไขที่โครงสร้าง ตลอดจนมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ที่ล้าสมัย (Regulatory Guillotine) ควบคู่กันไปด้วย มีการดำเนินนโยบาย และตรากฎหมายที่ส่งเสริมความโปร่งใส คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ตลอดจนมีการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง อาทิ

1. การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ร.ก.การบริหารการจัดการทำงานคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแก้ไขปัญหาส่วยแรงงานข้ามชาติ

2. การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร เพื่อส่งเสริมการขึ้นทะเบียนโรงแรม และป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้กฎหมายในการรีดไถเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ประกอบการโรงแรม และโครงการก่อสร้างต่างๆ

3. การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อความโปร่งใสของเงินนอกงบประมาณ

4. การแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่มุ่งเน้นความโปร่งใส และส่งเสริมการตรวจสอบจากภาคประชาชน

5. การเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกความร่วมมือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ (Open Government Partnership: OGP) พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณอย่างโปร่งใส เพื่อปรับปรุงคะแนน Open Budget Survey (OBS) ของประเทศไทย ซึ่งสำรวจโดย International Budget Partnership (IBP) ให้ดีขึ้น พร้อมกับเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง ให้เป็นไปตามมาตรฐาน OCDS (Open Contracting Data Standard) 

6. การออก พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ (Anti-SLAPP Act) เพื่อส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุลจากภาคประชาชน

7. การออก พ.ร.บ.ปกป้อง และยกเว้นโทษให้กับผู้เปิดเผยข้อมูลการทุจริต (Whistleblower Protection and Leniency Program Act) เพื่อการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งขบวนการแบบถอนรากถอนโคน

8. การแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อไม่ให้กฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ถูกนำไปใช้คุกคามเสรีภาพในการแสดงออก และการวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน

9. การบังคับใช้มาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ อย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้การแต่งตั้ง โยกย้ายตำรวจ มีธรรมาภิบาล ไม่มีระบบตั๋ว ไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ตลอดจนแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) ให้สามารถตรวจสอบถ่วงดุลการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในท้องที่ได้อย่างแท้จริง

10. การบังคับใช้มาตรา 131 และมาตรา 176 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการคุ้มครองพยาน และเอาผิดกับนิติบุคคลที่เสนอเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นแบบครบวงจร

\'วิโรจน์\' แฉมูลค่าทุจริตไทยพุ่ง 3 แสนล้าน/ปี ระบบอุปถัมภ์คือต้นเหตุ

11. การแก้ไข พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ร.บ.กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม และ พ.ร.บ.การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้หลักเกณฑ์ในการขออนุญาตต่างๆ มีความชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ตลอดจนเร่งรัดให้กระบวนต่างๆ โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรม มีความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

12. การแก้ไข พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ให้การจัดทำข้อตกลงคุณธรรมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

13. แก้ไขรัฐธรรมนูญให้องค์กรอิสระ มีการตรวจสอบและถ่วงดุล ไม่อยู่ในสภาพที่แสร้งเอาคำว่า “อิสระ” มาเป็นข้ออ้างในการใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยปราศจากความรับผิด

14. การแก้ไขประกาศของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ไม่ให้มีเนื้อหาสาระที่กีดกันการเลื่อนชั้นของผู้รับเหมา จนทำให้ผู้รับเหมาชั้นพิเศษอยู่ในสถานะกึ่งผูกขาด เอื้อการฮั้วประมูล

15. การทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และองค์การอิสระ เช่น การอาศัยมาตรา 85 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และมาตรา 32 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในการแก้ไขปรับปรุง กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ และมติ ครม. ต่างๆ ที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด หรือเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ดุลพินิจ หรือใช้ช่องว่างของกฎหมายในการรีดไถ เรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน
ฯลฯ

นายวิโรจน์ ระบุด้วยว่า มาตรการข้างต้นเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้โดยไม่ยากเย็นเลย หากนายกรัฐมนตรีมึความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น ก็สามารถสั่งการให้ดำเนินการได้ทันที ผมย้ำตรงนี้อีกครั้งว่า การสร้างภาพขึงขัง แล้วก็จัดอีเว้นท์ปราบปราม อย่างดีที่สุดก็แค่ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นกบดานหายตัวไปชั่วคราว พอเวลาผ่านไปสักพัก สิ่งโสมมเหล่านั้นก็จะผุดกลับขึ้นมาใหม่ ด้วยวิธีการที่แยบยลกว่าเดิม จีนสีเทา มาเฟียข้ามชาติ และธุรกิจผิดกฎหมาย ก็จะแห่แหนกันมาลงหลักปักฐานที่ประเทศไทย การรีดไถ เก็บส่วย ก็จะมีเต็มบ้านเต็มเมือง จนเป็นที่โจษจันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ขัดขวางการลงทุนในธุรกิจสุจริต จากทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ แล้วประเทศไทยก็จะกลายเป็นประเทศต้องสาป ที่ไม่มีวันพัฒนาได้ไกลกว่านี้ได้เลย หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่พัฒนาได้เท่านี้