'อนุดิษฐ์' ยันคดีทุจริต 'ทักษิณ' คือคดีการเมือง อาจได้รับนิรโทษกรรมด้วย
'อนุดิษฐ์' ชี้คดีกล่าวหาทุจริต 'ทักษิณ' เข้าข่ายเป็นคดีการเมือง ที่อาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ ชี้ช่องอาจได้รับนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดองด้วย
เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2566 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงแนวทางการนิรโทษกรรมเพื่อสร้างปรองดองในหัวข้อ “EP 2 คดีทุจริต VS คดีการเมือง” โดยระบุว่า ตนถกแถลงเรื่องนี้ในบริบทของความเห็นทางวิชาการ ซึ่งไม่จำเป็นที่ทุกท่านจะต้องเห็นด้วย แต่ก็สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษากระบวนการยุติธรรมในมิติของการเมืองไทยที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานั้น และจะเป็นประโยชน์กับการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังจะมีขึ้นเร็วๆนี้
“การแสดงความเห็นของผมก็คงไม่ถูกกล่าวหาว่าทำเพื่อใครคนใดคนหนึ่งอย่างแน่นอน เพราะท่านอดีตนายกฯทักษิณ (ชินวัตร) ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ และคงออกมาสู่อิสรภาพอีกไม่นานจากนี้” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุว่า วันนี้ตนขอแสดงความเห็น เรื่อง คดีทุจริตสมัยนายกฯทักษิณถือเป็นคดีการเมืองหรือไม่ เพราะเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอยู่ไม่น้อย เนื่องจากหากเป็นคดีการเมืองก็จะมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับกฎหมายนิรโทษกรรมที่กำลังจะพิจารณากันในเร็วๆนี้ ความเห็นของฝ่ายตรงข้ามนายกฯทักษิณเชื่อว่า คดีของนายกฯทักษิณ เป็นคดีทุจริต เพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ จึงไม่ใช่คดีทางการเมืองที่ควรได้รับการนิรโทษกรรมเพื่อความปรองดอง ฟังเผินๆคนส่วนใหญ่ก็อาจเห็นด้วย เพราะคดีทุจริตจะเป็นคดีการเมืองได้อย่างไร
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุอีกว่า การเริ่มต้นของคดีนายกฯทักษิณ เกิดจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2549 โดยคณะรัฐประหารได้จัดตั้งองค์กรพิเศษเรียกว่า คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ซึ่งตนและนักวิชาการจำนวนไม่น้อยเชื่อว่า เป็นการตั้งองค์กรที่ซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ)เพื่อมาทำหน้าที่ไต่สวนนายกฯทักษิณกับพวกเป็นการเฉพาะ โดยคดีที่ดินรัชดา ที่ต่อมาถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปีนั้น ก็ควรขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 (2) และ 98 (3) ในช่วงที่นายกทักษิณหลบหนีไปต่างประเทศ จึงไม่ควรถูกลงโทษเพราะล่วงเลยเวลาแล้ว แต่คณะรัฐประหารปี 2557 ได้แก้ไขหลักการสำคัญของกฎหมายอาญา โดยให้คดีอาญาของนักการเมืองสามารถพิจารณา และพิพากษาลับหลังจำเลยได้ เป็นผลให้คดีอาญาของนายกฯทักษิณที่รออยู่ถูกนำขึ้นพิจารณาและถูกศาลพิพากษาลงโทษ ทำให้การกลับไทยโดยไม่ถูกจำคุกต้องขยายเวลาออกไปอีก 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา
“ด้วยเหตุผลดังกล่าว ผมจึงเชื่อว่า คดีของนายกฯทักษิณ ยังไงก็เป็นคดีการเมือง เพราะเริ่มต้นและจบลงด้วยอำนาจทางการเมืองของเผด็จการทั้ง 2 ครั้ง เพียงแต่อาศัยกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ หากไม่มีการรัฐประหารในปี 2557 การกลับมาของท่านในปี 2566 จะไม่ต้องถูกลงโทษในไทยอีก เพราะในทางนิติศาสตร์ถือว่าระหว่างที่ต้องหลบหนี ก็คือการถูกลงโทษไปแล้วนั่นเอง” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ
น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุด้วยว่า แต่เพื่อดำรงไว้ซึ่งความเป็นนิติรัฐ นายกฯทักษิณ จึงต้องกลับมารับโทษ และต้องยอมรับกระบวนการทางกฎหมายที่บิดเบี้ยวต่างๆเหล่านี้โดยปริยาย แต่ก็โชคดีที่การถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษของนายกฯทักษิณในภายหลัง ได้รับพระเมตตาจากพระมหากษัตริย์ที่พระองค์มีสายพระเนตรยาวไกล ทำให้บรรยากาศทางการเมืองที่ตึงเครียดได้รับการคลี่คลายในที่สุด เมื่อกรณีของนายกฯทักษิณจบแล้ว แต่ยังมีคดีที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตอีกหลายคดีที่คดีสิ้นสุดไปแล้ว หรือยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ที่กระบวนการขั้นตอนไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม ตนคิดว่านักโทษ หรือผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้ควรได้รับอานิสงค์จากกฎหมายนิรโทษกรรมที่สภาฯกำลังจะจัดทำขึ้นในครั้งนี้ด้วย
“ไม่ได้แปลว่าให้นิรโทษกรรมกับนักโทษคดีทุจริต ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ขอเพียงแค่ให้โอกาสเขาเหล่านั้นได้ถูกพิจารณาคดีใหม่ ตามระบบปกติของกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามกฎหมาย และหลักนิติธรรมตามที่ควรจะเป็นเท่านี้ก็พอ” น.อ.อนุดิษฐ์ ระบุ