ภูมิธรรม เผย พท. ถก ‘ประชามติ’ แก้รธน. 12ธ.ค. โยน สภา ยื่นศาลฯ ชี้ขาด ข้อขัดข้อง
“ภูมิธรรม” เผย ”นิรโทษกรรม“ เกือบตกผลึกทุกฝ่ายแล้ว ชี้ ต้องพิจารณาความเห็นต่างถี่ถ้วน หวั่น ขัดแย้งรอบใหม่ ไม่เอาเสนอได้ แต่ไม่ผ่าน ระบุ ประชามติ ”แก้รธน.“ จ่อโยน สภา ยื่นศาลรธน. ชี้ขาดข้อติดขัด พท. ถก 12 ธ.ค.นี้ หลัง ปีใหม่เสนอ ครม.พิจารณา
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวถึงการเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทย ไปประกบร่างของพรรคก้าวไกล ว่า ในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา ไม่ได้คุย ยังไม่ได้เห็นร่างและรายละเอียด ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ เน้นไปที่การทำให้ 3 เสาหลัก ได้แก่ สภา รัฐบาล พรรคเพื่อไทย สามารถทำงานกลมกลืนกัน ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน ตามยุทธศาสตร์ของพรรค เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ที่สุด
นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องนิรโทษกรรมเกือบจะตกผลึกกับทุกฝ่ายอยู่แล้ว ในแง่ที่อยากเห็นการนิรโทษกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด สามารถร่วมมือกันได้ให้ปัญหาของสังคมจบ แต่กรณีที่มีข้อขัดแย้งคงต้องพิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วน หากออกมาโดยที่ยังไม่เคลียร์สังคมให้จบ ก็อาจจะเป็นความขัดแย้งใหม่
นายภูมิธรรม กล่าวว่า จุดยืนเราเห็นด้วยและสนับสนุนส่วนที่ตกผลึกแล้วทั้งสังคม ประเด็นที่มีปัญหา เราอยากให้เอากันให้จบก่อน ไม่เช่นนั้น หากเสนอเข้าไป ก็ทำได้แค่เสนอ แต่ไม่ผ่าน กลายเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมขัดแย้งขึ้นไปอีก อย่างนี้เราคงไม่สนับสนุน
นายภูมิธรรม กล่าวถึงกรณีนายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาแนวทางการนิรโทษกรรม ว่า คงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่นายสรวงศ์เสนอขึ้นมา แต่ในนามพรรคเพื่อไทยก็ต้องผ่านเข้าที่ประชุมพรรคเพื่อพูดคุยกัน ส่วนรัฐบาลไม่มีอะไรขัดข้อง ถ้า สภาฯ, ผู้แทนราษฏร และพรรคการเมืองเห็นพ้อง รัฐบาลก็จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการรับฟัง
ขณะเดียวกัน นายภูมิธรรม ในฐานะในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า การรับฟังความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว สภาฯ และสว. ได้ตอบแบบสอบถามแล้วทั้ง 2 ส่วน ขณะนี้กำลังเปิดเวทีให้พูดคุยกันเพื่อให้ทราบทิศทางทั้ง 2 สภาฯ ว่ามีความเห็นอย่างไร เพราะเป็นผู้พิจารณาเรื่องนี้ในขั้นตอนสุดท้าย เราต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผ่านให้ได้ การศึกษาการทำประชามติ มีข้อจำกัดในเรื่องความเห็นแตกต่าง ต้องทำจำนวนกี่ครั้ง โดยเสนอให้กับพรรคการเมืองผ่าน.สส. ในสภาฯ ขึ้นกับแต่ละพรรคการเมือง ซึ่งประธานสภาฯ ก็ไม่ขัดข้องถ้าคุยกันแล้ว หากที่ประชุมหารือแล้วยังไม่ได้ข้อสรุป ประธานสภาฯ ก็จะยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยติดขัดเรื่องอะไร มีประเด็นอะไรที่อยากถาม ส่วนพรรคเพื่อไทยจะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 12 ธ.ค. ตนได้หารือกับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทยแล้ว ท่านก็เห็นชอบว่าจะให้มีการประชุมเรื่องนี้ในวันดังกล่าว
เมื่อถามว่า คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ จะดำเนินการแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ตามไทม์ไลน์เดิมหรือไม่ ก่อนเสนอผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในต้นปี 67 นายภูมิธรรม กล่าวว่า คิดว่าสิ้นปีนี้ก็น่าจะจบ สำหรับคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ จะมีข้อสรุป ว่ามีทั้งความเห็นที่ตรงกันและไม่ตรงกันเป็นอย่างไร และเรามีความเห็นอย่างไร และรอช่วงหลังปีใหม่ก็จะเสนอให้ ครม. พิจารณา
เมื่อถามว่า แนวโน้มกระบวนการทำประชามติจะเริ่มต้นในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังยึดตามไทม์ไลน์เดิมนี้ใช่หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ตนคิดว่าต้องอยู่กับความเป็นจริง และเราก็ขอยืนยันว่าเราจะทำให้เร็วที่สุด เพราะการทำประชามติไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ ด้วย ถ้าปัญหาตรงนั้นมีไม่มากมันก็เร็ว ถ้ามีมากก็อยู่ในดุลยพินิจขององค์กรเหล่านั้น เราต้องเอามาดูและปรับดูว่าเราทำได้มากน้อยแค่ไหน