‘ส.ส.ร.’ แบกความหวัง ฟื้นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย
แม้การทำ "ประชามติ" จะยังไม่สรุปอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน แต่หมุดหมายที่ให้มี "ส.ส.ร." คือ เดอะแบก แบกความหวังฟื้น"รัฐธรรมนูญ" ที่เป็นประชาธิปไตย
ชีพจรการเมืองในห้วง “วันรัฐธรรมนูญ” ถูกเร่งเร้าให้สังคม ตั้งคำถามถึงการยกร่าง "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ตามคำแถลงนโยบายของ “รัฐบาลเพื่อไทย” ที่นายกฯ “เศรษฐา ทวีสิน” ให้ไว้เมื่อ 11 ก.ย.2566 โดยจัดวางให้เป็น “นโยบายเร่งด่วน”
เนื้อความสำคัญคือ ให้คนไทยได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์ รวมถึงใช้กลไกของรัฐสภาเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ
ขณะที่แง่ปฏิบัติหลังจากนั้น ได้เกิด “คณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ” มี “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากพรรคการเมือง และฝ่ายวิชาการ รวม 35 คน
ทว่าก่อนจะเป็นบทสรุป ที่เดินไปสู่ “โจทย์แก้รัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนมีส่วนร่วม” ระหว่างทางกลับเผชิญเงื่อนไข ที่ส่อว่า “นโยบายเร่งด่วน” อาจสะดุด ไม่สามารถทำได้ภายใน 3 เดือน 6 เดือน เพราะมีหลายปัจจัยที่เป็นข้อขัดแย้ง
ต่อเรื่องนี้ “ดร.เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช” นักวิชาการด้านสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งปัจจุบันรับบทบาทใน อนุ กมธ.การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อติดตามประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญและศึกษากรอบการได้มาซึ่ง “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งมองว่า เมื่อรัฐบาลเริ่มต้นคิดที่จะแก้รัฐธรรมนูญแล้ว เชื่อว่าโอกาสการแก้รัฐธรรมนูญจะสำเร็จได้ ไม่ว่าจะใช้เวลาที่หลายฝ่ายอาจมองว่า เป็นการยื้อเวลาเพื่อให้ได้อยู่ในอำนาจ
ดร.เอกพันธุ์ มองด้วยว่า กระบวนการที่รัฐบาลตั้งต้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นจุดที่สร้างความตระหนักและการยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมากระบวนการมีส่วนร่วมน้อยมาก
ดังนั้นในกรณีที่ภาคการเมืองให้ความสำคัญกับการแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านการออกแบบกระบวนการที่ให้คุณค่ากับประชาชน ผ่านแนวทางของสภาร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าการเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชนจะเป็นประชาธิปไตย
ทว่าในประเด็นที่สังคมกังวลคือ การทำลายกระบวนการมีส่วนร่วมที่คาดหวัง ผ่านการฉีกรัฐธรรมนูญด้วยการยึดอำนาจในภายภาคหน้าได้อีก ซึ่ง “ดร.เอกพันธุ์” มองว่า ทุกคนคาดหวังว่ารัฐธรรมนูญที่พยายามยกร่างขึ้นใหม่ โดย ส.ส.ร.จะเป็นการสร้างคุณค่า และตระหนักว่าประชาชนเป็นเจ้าของ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือทหาร รวมถึงผู้มีอำนาจที่คิดจะยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญอีก จะได้รับการต่อต้านจากประชาชน ในฐานะผู้ที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเองมากับมือ จนทำให้คนที่คิดจะทำ ไม่อยากตัดสินใจทำแบบนั้น
“ในรัฐธรรมนูญควรบรรจุกระบวนการบางอย่าง ที่เป็นเครื่องมือป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารในอนาคต เช่น การรัฐประหารเป็นสิ่งต้องห้าม มีบทกำหนดให้ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้ หรือมีเครื่องมือบางอย่าง เพื่อป้องกันคนบางกลุ่มยึดอำนาจ และฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง” ดร.เอกพันธุ์ กล่าว
พร้อมย้ำความหวังที่อยากเห็นคือ เมื่อประชาชนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้ประชาธิปไตยสูงขึ้น และสามารถบังคับใช้ได้ยาวนาน แต่ทุกอย่างแก้ไขได้ เมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นเครื่องมือแห่งความหวังว่า จะทำให้ประเทศพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งในแง่สิทธิเสรีภาพ ประชาชนได้รับการเคารพเต็มรูปแบบ และสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ขณะที่ในวาระครบรอบ 91 ปี วันสถาปนารัฐธรรมนูญไทย “ดร.เอกพันธุ์” อยากเห็นกติกาในรัฐธรรมนูญ เป็นพันธสัญญาระหว่างรัฐกับประชาชน ที่รับรองสิทธิ เสรีภาพของพลเมือง และหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่พยายามร่วมกันยกร่าง จะเป็นก้าวต่อไปเพื่อนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง พร้อมเปลี่ยนฉากทัศน์ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของผู้ยึดอำนาจ ที่พยายามเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นไปอย่างที่ตนเองต้องการ
กับด่านที่ต้องก้าวข้ามในตอนนี้ คือ “ด่านประชามติ” ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ต่อเรื่องนี้ “ดร.เอกพันธุ์” กล่าวว่า ความที่ปรากฎในคำวินิจฉัย ตนไม่แน่ใจว่าทำภายใต้เงื่อนไขอะไร และมีกฎหมายรับรองมากน้อยแค่ไหน เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำประชามติครั้งแรก เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 15 คือ มาตรา 256 และหากมี ส.ส.ร.ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว จึงนำไปทำประชามติอีกครั้ง
กับประเด็นว่าด้วย “ทำประชามติ” ที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการฯ ศึกษาแนวทาง จนถึงขณะนี้ยังไม่สรุปชัดว่า ต้องทำจำนวนกี่ครั้ง ระหว่าง 2 ครั้ง เมื่อแก้ไขหมวด 15 ว่าด้วยแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 หรือหลังจากที่ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ หรือ 3 ครั้ง ซึ่งเพิ่มการทำประชามติ ก่อนเริ่มกระบวนการแก้ไข มาตรา 256
ในมุมวิชาการที่ผสมกับแนวคิดแก้ปัญหาแบบการเมือง ผสมกับนักกฎหมาย อย่าง “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” ปัจจุบันเป็น 1 ในกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ให้ความเห็นไว้ว่า การตีความตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ทำให้ไม่สามารถทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มี “ส.ส.ร.” ได้ ยกเว้นต้องทำประชามติก่อน
"ภาพรวมของคำวินิจฉัยนั้นนั้น คลุมเครือ ไม่ชัดเจน คล้ายกับการตัดปะ แต่เมื่อดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน พบรายละเอียดที่แตกต่างกันคือ 6 คนบอกว่าทำประชามติ 2 ครั้ง 2 คน บอกว่าทำ 3 ครั้ง และอีก 1 คนบอกว่าแก้ไขไม่ได้เลย"
พร้อมกันนั้น “พงศ์เทพ” ยังเสนอทางออกของปัญหานี้คือ ให้สมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยใช้กระบวนการให้ “รัฐบาล” หรือ “สส.” เข้าชื่อยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา โดยยังไม่ต้องทำประชามติใดๆ
ให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา ตัดสินใจว่าจะบรรจุวาระหรือไม่ เบื้องต้นเชื่อว่าประธานรัฐสภาจะไม่บรรจุวาระให้ เพราะเป็นไปตามแนวทางของ “ชวน หลีกภัย” อดีตประธานรัฐสภา ซึ่งเท่ากับว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเกี่ยวกับอำนาจของรัฐสภา ดังนั้นจึงให้ “สมาชิกรัฐสภา” ยื่นถามศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน และหวังว่าจะยุติข้อถกเถียง ว่าจะต้องทำประชามติจำนวนกี่ครั้ง
ขณะที่ในฟากฝั่งความเห็นของ “โภคิน พลกุล” อดีตประธานรัฐสภา ที่มองย้อนรอย 91 ปี วันสถาปนารัฐธรรมนูญว่า เป็นพลวัตของกลุ่มพลังต่างๆ ทั้งกลุ่มพลังศักดินานิยม พลังรัฐราชการอำนาจนิยม และพลังประชาธิปไตย โดย 91 ปีที่ผ่านมา พลวัตรใน 3 กลุ่มเกิดขึ้นเป็นยุคๆ และในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่เขียนให้อำนาจเป็นของราษฎร จึงเป็นแนวทางที่เกิดขึ้นใหม่
สำหรับกระบวนการเปลี่ยนแปลงของพลังกลุ่มต่างๆ ปัจจุบัน ซึ่งตั้งเค้าการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อดีตประธานรัฐสภามองว่า รัฐสภาสามารถเดินหน้าได้ ผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ทำหน้าที่ เพราะไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2564
“รอบที่มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าแก้ไขไม่ได้ ผมยอมรับในฐานะผู้ร่วมจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ค้างการพิจารณาของสภาฯ ชุดที่ 25 ว่า ได้เขียนบทบัญญัติว่า เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากจะทำอีกครั้ง ต้องระบุว่าเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้นรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย” โภคิน ระบุ
พร้อมมองในฉากทัศน์ต่อไปด้วยว่า "เพื่อแก้ไขข้อขัดข้องที่รัฐสภาไม่มีส่วนร่วม ต้องเขียนบทบัญญัติเหมือนตอน ส.ส.ร.ปี 40 คือ เมื่อยกร่างแล้ว ต้องให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบ หรือชี้จุดบกพร่อง จึงจะเป็นโอกาสที่ประสบความสำเร็จ” โภคิน กล่าวทิ้งท้าย
ไม่ว่าบทลงเอยของการแก้รัฐธรรมนูญฉบับ “เพื่อไทย” ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร ในวาระ 91 ปี วันสถาปนารัฐธรรมนูญ ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการเมือง และการปกครองไทย เชื่อว่าจะเป็นจุดย้ำเตือนให้ “ฝ่ายรัฐ” รักษาสัจจะ และมุ่งเน้นการสร้างการมีส่วนรวมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เขียนภาพให้ฝันเท่านั้น.