‘ธำรงศักดิ์โพล’ ชี้ คนไทยมอง รธน.2560 เป็นเผด็จการ
เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2566 นักวิชาการดัง ม.รังสิต รวบรวมโพล
ที่เผยแพร่แล้วเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 และ ส.ว. แต่งตั้ง พบว่า คนไทยส่วนใหญ่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช.2560 เป็นเผด็จการและส่วนใหญ่เห็นว่าต้องยกเลิก สว. แต่งตั้ง
รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต สรุปงานวิจัยส่วนบุคคลของตนเอง 6 ชิ้น ที่เผยแพร่แล้วเกี่ยวกับ รัฐธรรมนูญ ฉบับ คสช. 2560 และ ส.ว. แต่งตั้ง ผลการวิจัยพบว่า ภาพรวม คนไทยมากกว่า ร้อยละ 56 เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2560 เป็นเผด็จการ ขณะที่ร้อยละ 13 ลงมาเห็นว่าเป็นประชาธิปไตย
ข้อเสนอแนะ ควรมีการศึกษาว่าประชาชนจะให้มีการสร้างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยที่มากยิ่งขึ้นโดยการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีสมาชิกทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ และสำรวจทัศนคติประชาชนว่าเห็นควรปรับปรุงหรือยกเลิกในประเด็นสำคัญใดบ้าง เช่น หมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หมวดแนวนโยบายรัฐ หมวดรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรี องค์กรเพิ่มเติมตามรัฐธรรมนูญ ศาล ศาลทหาร ศาลรัฐธรรมนูญ
ในคำถาม “ท่านคิดว่าระบอบประชาธิปไตยไทย ต้องมี หรือ ต้อง ยกเลิก สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง” ผลการวิจัยพบว่า ภาพรวม คนไทยมากกว่าร้อยละ55 เห็นว่าต้องยกเลิก สว.แต่งตั้ง ขณะที่ร้อยละ 18 ลงมาเห็นว่ายังต้องมี สว.
ผู้ที่เห็นว่าต้อง ยกเลิก สว. แต่งตั้ง คำอธิบายที่สำคัญคือ สว.
- แต่งตั้งไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชน ผู้แทนของประชาชนที่แท้จริงต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน
- พฤติกรรม สว. แต่งตั้งในปัจจุบันก็ทำหน้าที่พิทักษ์รัฐบาลทหารเป็นสำคัญ
- สว. แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประชาธิปไตย
- สว. แต่งตั้งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
- สว. แต่งตั้งทำให้ สส. และพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการนี้ให้เป็นประชาธิปไตยที่มากขึ้นได้
- การมี สว. 250 คนที่ คสช. แต่งตั้ง มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ไม่เป็นไปตามเสียงข้างมากของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การเก็บแบบสอบถามและคำอธิบายนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ดังนั้น ควรมีการศึกษาใหม่อีกครั้ง เพราะมีบทบาทของ สว. ต่อการลงมติตั้งนายกรัฐมนตรีที่เป็นจริงในช่วงที่ผ่านมา และควรมีการศึกษาว่าเมื่อสิ้นสุดการมี สว.แต่งตั้ง 250 คนตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญแล้ว ประชาชนยังจะเห็นควรให้มีหรือยกเลิก สว. จำนวน 200 คน ที่ยังมีตามรัฐธรรมนูญ คสช. 2560
ทั้งนี้ ในกระบวนการเก็บข้อมูลธำรงศักดิ์โพลเก็บข้อมูลแบบสอบถามจากทั้งประเทศ (ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 52.32 ล้านคน) จำนวน 4,588 คน ใน 57 จังหวัด เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 6-17 เมษายน 2566 (ก่อนการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566)
เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคนกรุงเทพฯ (อายุ 18 ปีขึ้นไป มี 4.48 ล้านคน ประชากรกรุงเทพฯ 5.52 ล้านคน) เก็บแบบสอบถามจำนวน 1,200 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 3-18 ธันวาคม 2565
เก็บข้อมูลแบบสอบถามจากคน Gen Z (ช่วงอายุ 18-25 ปี ทั้งประเทศมี 6.86 ล้านคน) ที่ศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯและทุกภาคของประเทศ จำนวน 707 คน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-16 กันยายน 2565
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยส่วนบุคคล ทัศนะจากงานวิจัยไม่เกี่ยวข้องกับสถาบันการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น