'พงศ์เทพ' แนะอาศัยความขัดแย้งในสภา ชงศาลรธน.ชี้ จำนวนทำประชามติ
"พงศ์เทพ" ประเมินเกมเห็นต่างของรัฐสภา เรื่องแก้รธน.ใช้เป็นช่องส่งศาลรธน.ตีความ จำนวนครั้งทำประชามติ ระบุชง "ภูมิธรรม" แล้ว รอ ครม. เคาะ
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา กรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ2560 ให้สัมภาษณ์ต่อข้อเสนอการงดเว้นการทำประชามติสอบถามประชาชนในรอบแรก ก่อนที่รัฐสภาจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ สส. หรือ รัฐบาล เตรียมเสนอ ว่า มีแนวทางที่สามารถทำได้ โดยอาศัยประเด็นที่เป็นปัญหาว่าด้วยอำนาจของรัฐสภา จะแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติได้หรือไม่ โดยให้สส. หรือสว.ยื่นญัตติด่วนเพื่อพิจารณา หากเห็นว่าเป็นปัญหาให้เข้าชื่อเพื่อส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นตนมองว่า อาจมี สว.บางคนใช้ข้ออ้าง ว่าหากไม่จัดการออกเสียงประชามติครั้งแรก จะไม่สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ได้ และใช้เป็นเหตุผลในการลงมติไม่รับหลักการได้
"ผมเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่มาก ในกรณีที่ศาลมีคำวินิจฉัยกลับมาแล้ว และมีโอกาสเป็นไปได้มากว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยว่า รัฐสภา สามารถพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยกร่างฉบับใหม่ได้ แม้จะยังไม่มีการจัดการออกเสียงประชามติ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยเช่นนี้ ก็จะทำให้ประเทศประหยัดเงินไปกว่า 3,000 ล้านบาท และประหยัดเวลาในการจัดการออกเสียงประชามติครั้งแรกไป 4-5 เดือน โดยจะเหลือการจัดการออกเสียงประชามติเพียง 2 ครั้ง" นายพงศ์เทพ กล่าว
นายพงศ์เทพ กล่าวด้วยว่าข้อเสนอดังกล่าวตนเสนอให้คณะกรรมการฯ ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธานแล้ว ส่วนจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สส.พรรคเพื่อไทย ในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ไม่ นายภูมิธรรม เคยระบุว่าในการเสนอความเห็นไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเสนอเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ซึ่งขึ้นอยู่กับ ครม. ว่าจะทำอย่างไร
"ในกรณีนี้จำเป็นจะต้องมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาก่อน เพราะศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย จึงต้องเป็นคดีที่เกิดขึ้นจริง และมีกรณีเกิดขึ้นจริง คือ มีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เสนอไปยังประธานรัฐสภา และไม่ว่าประธานรัฐสภาจะบรรจุวาระหรือไม่ ก็มีจะช่องทางในการส่งเรื่องดังกล่าวไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้" นายพงศ์เทพ กล่าว
เมื่อถามถึงข้อเสนอของนายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 ยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 แทนการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพื่อลดขั้นตอนการจัดการออกเสียงประชามติ นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การแก้ไขเฉพาะบางหมวดสามารถทำได้ แต่ในช่วงที่ผ่านมาพรรคการเมือง ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรค้าวไกล ได้เสนอให้มีการยกร่างฉบับใหม่ทั้งฉบับ จึงเชื่อว่า เป็นความต้องการของคนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีที่มา และคำปรารภที่ทิ้งไว้แล้ว อาจเป็นทายาทอสูร แล้วอาจเห็นว่า ควรจะยกร่างฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนที่แท้จริง ทั้งนี้วิธีการตามที่นายโภคินเสนอนั้น อาจจะง่าย แต่ขึ้นอยู่กับว่า พรรคการเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ จะเห็นด้วยหรือไม่ ซึ่งตนเองไม่ทราบ.