ราชทัณฑ์ แจงยิบระเบียบกำหนด คุมขังนอกเรือนจำ
กรมราชทัณฑ์ แจงยิบระเบียบกำหนด คุมขังนอกเรือนจำ ออกตามกฎหมาย เป็นการบริหารโทษและบริหารเรือนจำ นักโทษยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ ไม่ได้เอื้อต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 กรมราชทัณฑ์ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีระเบียบกำหนด คุมขังนอกเรือนจำ ระบุว่า กรมราชทัณฑ์ กับการบริหารโทษ เกี่ยวกับสถานที่คุมขัง
ตามที่สื่อมวลชน ได้เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับการออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วย การดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ.2566 โดยกล่าวถึงระเบียบดังกล่าวว่า เอื้อต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ นั้น
กรมราชทัณฑ์ ขอเรียนชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ ถือได้ว่าเป็นองค์กรปลายน้ำที่มีภารกิจสำคัญในการบริหารโทษให้เป็นไปตามคำสั่งศาล โดยมีพระราชบัญญัติราชทัณฑ์เป็นเครื่องมือในการกำหนดบริหารโทษไว้ดังนี้
1.การบังคับโทษโดยวิธีการอื่น (มาตรา 6)
2.การจำคุกในสถานที่คุมขัง (มาตรา 33)
3.การให้ประโยชน์จากการประพฤติตนดี (มาตรา 52) เช่น การเลื่อนชั้น การพักการลงโทษ การลดวันต้องโทษจำคุก เป็นต้น
จากแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด (Treatment of the Offenders) ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่เน้นการควบคุมผู้กระทำผิดควบคู่กับการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด (Rehabilitation) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดได้กลับตัวปรับปรุงตนเอง ไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ กรมราชทัณฑ์ จึงมีการปฏิรูปงานราชทัณฑ์ ให้ทันต่อยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลง และหนึ่งในภารกิจการบริหารโทษของกรมราชทัณฑ์ที่เกี่ยวกับการจำคุกในสถานที่คุมขัง
ซึ่งปัจจุบันเป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 ว่าด้วยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดไว้ว่า “สถานที่คุมขัง” หมายความว่า สถานที่อื่นที่มิใช่เรือนจำ ซึ่งเป็นสถานที่ของทางราชการ หรือ เอกชนที่เจ้าของหรือผู้ปกครองดูแลรักษาสถานที่อนุญาตหรือยินยอมเป็นหนังสือให้ใช้ประโยชน์ในการควบคุมผู้ต้องขัง โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้คุมขังผู้ต้องขังเพื่อประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใด ได้แก่
1. เพื่อการปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง
2. เพื่อการดำเนินการตามระบบพัฒนาพฤตินิสัย
3. เพื่อการรักษาพยาบาล
4. เพื่อการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย
โดยเจตนารมย์ของกฎหมาย เพื่อเป็นการบริหารโทษและบริหารเรือนจำ โดยการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังกลุ่มที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเรือนจำ เช่น ผู้ต้องโทษระยะสั้น ผู้ต้องขังเจ็บป่วยร้ายแรงใกล้จะถึงแก่ชีวิต ผู้ต้องขังที่มีความพร้อมในการออกไปพัฒนาพฤตินิสัยนอกเรือนจำ เป็นต้น
ทั้งนี้ เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขัง และการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 กรมราชทัณฑ์ จึงได้ออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขัง พ.ศ.2566 เพื่อให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ว่าด้วยกำหนดสถานที่คุมขัง พ.ศ.2563 มาตรา 33 ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการที่อยู่ภายใต้กฎหมายกำหนดไว้ทั้งสิ้น
ซึ่งการนำตัวนักโทษไปคุมขังไว้ในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ แต่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของกรมราชทัณฑ์ และไม่ใช่เป็นการกำหนดประโยชน์ให้กับนักโทษ และในขณะใช้มาตรการ จะต้องอยู่ในสถานที่ที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์ ถ้าทำผิดเงื่อนไขจะถูกเพิกถอนและส่งตัวกลับเข้าเรือนจำทันที
นอกจากนี้ ประกอบกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 กระทรวงยุติธรรมได้รายงานคณะรัฐมนตรี ถึงผลดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม.กรณีปัญหาในการดำเนินงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่พบจากการดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาความแออัดของเรือนจำ กระทรวงยุติธรรมได้จัดประชุมกับผู้เกี่ยวข้อง และเห็นว่า การกำหนดสถานที่สำหรับการควบคุมผู้ต้องขัง แต่ละประเภทให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยกำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือจากการควบคุมตัวในเรือนจำ เป็นหลักการที่ดี และจะต้องบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การกำหนดสถานที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผล จึงมีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี
กสม.ได้มีหนังสือเน้นย้ำการปฏิบัติหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ลงวันที่ 25 ก.พ. 65 โดยเน้นย้ำให้กรมราชทัณฑ์กำหนดสถานที่อื่นเพื่อการควบคุมตัวนอกเหนือกจากการควบคุมตัวในเรือนจำ เพื่อแก้ไขปัญหาการแออัดของเรือนจำ