'เกียรติ'ยกกม.-สนธิสัญญา ชี้ปม 'ค่าแรงขั้นต่ำ' เป็นเรื่องไตรภาคี
"เกียรติ" ยกกฎหมาย-สนธิสัญญา ชี้ปมคิดอัตรา "ค่าแรงขั้นต่ำ" เป็นเรื่องไตรภาคี-ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมือง
นายเกียรติ สิทธีอมร อดีตสส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็น ต่อกรณีการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำ โดยได้โพสต์ที่เฟซบุ๊คส่วนตัว เกียรติ สิทธีอมร - Kiat Sittheeamorn ระบุว่า
ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง มีพรรคการเมืองบางพรรค ประกาศนโยบายแรงงานว่า จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวันบ้าง และ 600 บาทต่อวันบ้าง ซึ่งสร้างความสับสนและความกังวลให้กับหลายฝ่ายทั้งในและต่างประเทศ
วันนี้จึงอยากทำความเข้าใจกันก่อนว่า การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยนั้น เป็นบทบาทของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วยตัวแทนจาก ฝ่ายนายจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ ตามกฏหมายคุ้มครองแรงงาน
คณะกรรมการไตรภาคีเกิดขึ้นเมื่อปี 2541 โดยการแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ระบุในสนธิสัญญากับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ไทยได้เข้าเป็นภาคีหรือคู่สัญญาร่วมกับนานาประเทศ โดยมีหลักคิดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำว่า "ไม่ใช่เรื่องที่พรรคการเมืองจะเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องของนายจ้าง ลูกจ้าง และองค์กรรัฐที่เกี่ยวข้อง นั่นก็คือกระทรวงแรงงาน"
การที่ข้อตกลงระหว่างประเทศและกฏหมายคุ้มครองแรงงาน ไม่ให้พรรคการเมืองมายุ่งเกี่ยวในเรื่องของค่าแรงขั้นต่ำ เพราะมีหลายประเทศที่เคยประสบวิกฤตรุนแรงเพราะการเมืองชี้นำค่าแรงขั้นต่ำมาแล้ว จากบทเรียนที่เจ็บปวดนี้เอง ทำให้กฎหมายกำหนดให้ใช้กลไกไตรภาคีเท่านั้น
โดยขั้นตอนในการดำเนินการของกฎหมายนี้ ต้องได้รับความเห็นชอบของ ครม. เพราะเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะต้องดูว่ากลไกไตรภาคีทำงานได้ผลลัพธ์ตามเจตนารมย์ของกฎหมาย “ไม่ใช่ชี้นำ” มีการทบทวนได้ "เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม“ ซึ่งรัฐบาลต้องไม่ให้การดำเนินการขัดกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และกฎหมายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ถ้าเห็นว่าการพิจารณา ขาดตกบกพร่อง ก็สามารถทบทวนใหม่ได้ แต่ " การแทรกแซงชี้นำค่าแรงขั้นต่ำจากฝ่ายการเมืองนั้นทำไม่ได้"…!!!!
ที่จริงแล้ว กกต. ควรมีท่าทีหรือข้อสังเกต หรือทักท้วง ตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้ว แต่กลับนิ่งเฉย ทั้งที่ชัดเจนว่า เป็นการนำเสนอของพรรคการเมืองที่น่าจะขัดกฏหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศ ต้องถามดังๆ ว่า กกต. ทำผิด ม.157 ละเปล่า แล้ว ปปช จะว่ายังไงในเรื่องนี้
ผมอยากเห็น ภาคแรงงานได้รับความเป็นธรรม ได้รับค่าแรงที่เหมาะสม แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือ จึงต้องนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟัง
.
ด้วยความปรารถนาดีนะครับ…!!!!!