สุทิน ชมซ้อมรบ ทร. นำข้อมูลพิจารณางบฯ67 ไฟเขียวซื้อ เรือดำน้ำ หากสัญญาผูกมัด
'สุทิน' ชมซ้อมรบ ทร. ชมเปาะ อาวุธทันสมัย ใช้งานตรงยุทธศาสตร์ พร้อมนำข้อมูลประกอบนโยบายพิจารณางบประมาณ 67 รอคำตอบ อสส. ปมเรือดำน้ำ หากสัญญาผูกมัด ไฟเขียวเดินหน้าต่อ
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 15 ธ.ค.2566 นาย สุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ตรวจเยี่ยมการฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธีของกองเรือยุทธการ ร่วมกับหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ในพื้นที่อ่าวสัตหีบจังหวัดชลบุรี โดยมี พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ตลอดจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ให้การต้อนรับ
โดยในเวลา 09.00 น. รมว.กลาโหม ได้ขึ้นแท่นรับความเคารพบนเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช โอกาสนี้ เรือหลวงนเรศวร ยิงสลุต จำนวน 19 นัด ก่อนชมการปฏิบัติงานของ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช บนห้องศูนย์ยุทธการ และชมการสาธิตการรับส่งสิ่งของในทะเล
ในเวลา 12.30 น. รมว.กลาโหม เดินทางถึง สนามฝึก กองทัพเรือหมายเลข 15 หาดยาว อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อรับชมการสาธิตการฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก
จากนั้น นายสุทิน ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมการฝึกองค์บุคคลและยุทธวิธี ว่า วันนี้มาดูการฝึกซ้อมรบของกองทัพเรือ ซึ่งตนอยากมาดูอยู่แล้วว่าอาวุธยุทธโธปกรณ์ที่ซื้อมาแล้วถูกใช้ไปในทางยุทธศาสตร์ ตามความต้องการ ความจำเป็นจริงหรือไม่ และมีความเพียงพอหรือไม่ รวมถึงข้อติดขัดหรือปัญหาต่างๆ รวมถึงความเป็นอยู่ของกำลังพล ว่าทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ พร้อมทำหน้าที่อย่างหรือไม่ ซึ่งวันนี้ได้เห็นว่า ยุทโธปกรณ์ใช้อย่างคุ้มค่า จากเดิมที่เราไม่รู้ว่าซื้อมาทำอะไร วันนี้ก็ไม่ได้เห็น โดยเฉพาะการยกพลขึ้นบก เป็นการใช้อาวุธผสมผสานกันครบทุกส่วน นอกจากนี้ยังพบว่าอาวุธยุทธโธปกรณ์หลายอย่างของกองทัพเรือถือว่าทันสมัย แต่บางอย่างก็เก่า ไม่ทันสมัย บางส่วนต้องมีการปรับปรุงเพิ่มเติม วันนี้เห็นภาพที่ดีสามารถนำไปกำหนดนโยบายและงบประมาณได้ และเชื่อมั่นว่ากองทัพเรือจะสามารถปกป้องอธิปไตยทางทะเลได้
นายสุทิน ยังยอมรับว่า ได้มีการพูดคุยกับ พล.ร.อ.อะดุง ในเรื่องยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะเรื่องเรือดำน้ำ โดยสอบถามว่าเรือดำน้ำต้องใช้อย่างไร บริเวณไหน รวมถึงกรณีที่มีการบอกว่าท้องทะเลไทยตื้นวันนี้ได้พูดคุยกันทุกแง่มุม ซึ่งกองทัพเรือก็ยังเห็นว่าเรือดำน้ำมีความจำเป็น และยังมีความต้องการอยู่ซึ่งเราจะหาทางสนับสนุน แก้ไขปัญหาที่มีอยู่ให้ถึงที่สุด ซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานอัยการสูงสุดยังไม่ได้ตอบคำถามกลับมา แต่เชื่อมั่นจะได้คำตอบเร็ววันนี้ หากตอบกลับมาจะได้กำหนดลู่ทางหรือแนวทางที่จะเดินหน้าต่อไปได้
เมื่อถามว่า ทางกระทรวงกลาโหม จะยอมให้มีการต่อเรือดำน้ำจีน และใช้เครื่องยนต์จีนต่อใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้ตกผลึกขนาดนั้น แต่สิ่งที่ตกผลึกแน่นอนคือมีความจำเป็นต้องมีเรือดำน้ำ ก็อยากให้กองทัพเรือได้มี แต่จะเป็นวิธีไหน เป็นเรือประเทศไหน เครื่องยนต์อะไร ก็คงต้องดูไปอีกซักระยะ และประกอบกับคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย
เมื่อถามย้ำว่า ไม่ได้ผูกมัดว่าต้องเป็นเรือดำน้ำจีนใช่หรือไม่ นายสุทิน กล่าวว่า ก็ต้องรอทางสำนักงานอัยการสูงสุด หากคำวินิจฉัยออกมาว่าเป็นการผูกมัด ข้อตกลงมีผลบังคับใช้แล้ว ยกเลิกไม่ได้ ก็คงต้องเป็นเป็นไปตามนั้น แต่หากยกเลิกได้ ทบทวนได้ ก็ต้องมาดูกันอีกที
ขณะที่ พล.ร.อ.อะดุง ย้ำว่า พร้อมปฎิบัติตามความเห็นรัฐมนตรีกลาโหมและทางสำนักงานอัยการสูงสุดจะตอบกลับภายในวันที่ 30 ธันวาคมนี้
สำหรับ การฝึกครั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้มอบนโยบาย และแนวทาง การปฏิบัติงานของกองทัพเรือ ในปีงบประมาณ 2567 โดยในส่วนของงานยุทธการและการฝึกจะมีการปรับปรุงโครงสร้าง ของหน่วยกำลังรบใหม่ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยลดหน่วยเฉพาะกิจที่ซ้ำซ้อนหรือหมดความจำเป็น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรือทางฝั่งทะเลอันดามัน การประสานงานร่วมกันระหว่างกองทัพเรือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และสำนักงานประสานภารกิจด้านความมั่นคงกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกองทัพเรือให้เป็นรูปธรรม และในส่วนของการฝึกกองทัพเรือ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมรบและการบูรณาการ ของหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือ นั้น จะดำเนินการอย่างจริงจัง
อีกทั้งการฝึก เพื่อทดสอบความพร้อมยุทโธปกรณ์ของ รวมทั้งการสร้างองค์ความรู้ แก่กำลังพลของกองเรือยุทธการ หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน และหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง โดยมีการประกอบกำลังเป็นหมวดเรือเฉพาะกิจปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบกและสนับสนุน ประกอบด้วย หมวดเรือเฉพาะกิจโจมตีและคุ้มกัน ( เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือหลวงหัวหิน เรือหลวงกันตัง) หมู่เรือลำเลียง ( เรือหลวงอ่างทอง เรือหลวงสุรินทร์ เรือหลวงมันใน เรือหลวงทองแก้ว) หน่วยกำลังส่วนล่วงหน้า ( ชุดปฏิบัติการพิเศษ เรือ ปฏิบัติการความเร็วสูง เรือยาง) กำลังรบยกพลขึ้นบก ( ยาบรบสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ AAV 8 คัน ยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก แบบ VN-16 3 คัน ยานเกราะล้อยางแบบ BTR 2 คัน) และอากาศยานจากกองการบินทหารเรืออีกจำนวนหนึ่ง