ไขปม‘หุ้นสื่อ’ บ่วงร้อน‘พิธา’ ม.112 ‘สองแพร่ง’ยุบก้าวไกล?
ถอดรหัส "หุ้นสื่อไอทีวี" ชี้ชะตา "พิธา" เดิมพันตำแหน่งสส.-หัวหน้าพรรคก้าวไกล - ม.112 บนทาง "สองแพร่ง" ยุบ-ไม่ยุบพรรค จับตา! "2 บ่วงร้อน" บนจุดหักเลี้ยวสำคัญทางการเมือง
“2 วิบากกรรม” คดีร้อนพรรคก้าวไกล ต้องไปลุ้นกันที่ช่วงต้นปีหน้า คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญน่าจะนัดอ่านคำวินิจฉัยในช่วงเวลาไม่เกินเดือน ก.พ.2567
คดีแรก คือ คดีถือหุ้นสื่อของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล โดยคดีนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า พิธาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใด ๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่
โดยคดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องนี้ไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้พิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่สส.นับแต่วันที่ 13 ก.ค.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
แนวทางการต่อสู้ของ “พิธา” ในดคีนี้ นอกเหนือจากประเด็นการเป็นทรัพย์มรดกแล้ว
ไฮไลต์สำคัญที่เป็นข้อโต้แย้งหลังของ “พิธา” น่าจะอยู่ที่ “ไอทีวี” ยังมีสถานะเป็น“สื่อมวลชน”หรือไม่? โดยเฉพาะพยานปากสำคัญอย่าง “คิมห์ สิริทวีชัย” กรรมการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกรรมการผู้อำนวยการ บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์
- เปิดข้อต่อสู้ "ไอทีวี" ยังเป็นสื่อ?
ประเด็นที่ “พิธา” นำมาหักล้าง อยู่ที่เอกสารรายงานประจำปี 2565 ของบริษัท ไอทีวี หน้าที่ 1 ระบุว่า
“บริษัทเคยประกอบธุรกิจสถานีวิทยุโทรทัศน์ ระบบยูเอชเอฟ ภายใต้สัญญาที่ทำกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2538 เป็นเวลา 30 ปี แต่ตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค.2550 เวลา 24.00น. บริษัทจำเป็นต้องหยุดการประกอบธุรกิจสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากการบอกเลิกสัญญาของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี”
ขณะที่ ประเด็นที่อีกฝั่งหยิบยกมาโต้แย้ง คือประเด็นการ “ฟื้นคืนชีพไอทีวี” โดยอ้างถึง “งบแสดงฐานะการเงิน” วันที่ 24 ก.พ.2566 ก่อนหน้าการเลือกตั้งเพียง 3 เดือน ที่พบว่า บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้อง และเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
ข้อถกเถียงที่ว่า “ไอทีวี”ยังมีสถานะเป็น“สื่อมวลชน”หรือไม่ ทำไปทำมาจะถือเป็น“จุดชี้ชะตา” ว่าที่สุด“อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล”จะได้หวนคืนสภาฯ เพื่อทำหน้าที่สส.หลังถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่นานกว่า 5 เดือนหรือไม่ ซึ่งอาจรวมไปถึงการหวนคืนตำแหน่ง "หัวหน้าพรรคก้าวไกล" ซึ่งเวลานี้ "ชัยธวัช ตุลาธน" กำลังทำหน้าที่อยู่ด้วย
- ม.112 จุดหักเลี้ยว-ชี้ชะตาก้าวไกล
คดีที่สอง คือ คดีล้มล้างการปกครอง ซึ่ง“พิธา”และพรรคก้าวไกล เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่
- ทาง2แพร่ง "ยุบ-ไม่ยุบพรรค"
“ชะตากรรม” ของพรรคก้าวไกลในประเด็นนี้กำลังเดินอยู่บน “ทาง 2 แพร่ง”
ทางแรก “ไม่ผิด” พรรคก้าวไกล หรือพรรคอื่นก็ยังสามารถเดินหน้าแก้ไขมาตรา 112 รวมทั้งยังสามารถใช้เป็น “มอตโต้หาเสียง” ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อีกด้วย
ทางที่สอง คือ พรรคก้าวไกล “มีความผิด” สิ่งที่กำลังเป็นข้อถกเถียงเวลานี้คือ “ยุบ-ไม่ยุบ” พรรคก้าวไกล
“มุมหนึ่ง” พยายามหยิบยกเหตุผลที่ “อาจไม่ยุบพรรค” เนื่องจากในคำร้องไม่ได้ขอให้ยุบพรรค ขอเพียงว่าให้หยุดการกระทำเท่านั้น
ทว่า ความเห็น “อีกมุม” ก็มีการหยิบยกข้อกฎหมายมาโต้แย้ง อย่างน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ทนายความ ในฐานะผู้ร้อง มองว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติกรรมของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง
ผลที่ตามมาคือพรรคก้าวไกล ไม่อาจเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 ได้อีกต่อไป และคำวินิจฉัยศาลจะเป็น“สารตั้งต้น” ที่นำไปสู่การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคก้าวไกลได้
จริงอยู่ ตามคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง จะมีขอบเขตเพียงแค่ “สั่งหยุดการกระทำ” นั่นเป็นเพราะ “ผู้ร้อง” คือ “ธีรยุทธ”ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการร้องขอให้ศาลสั่งยุบพรรคก้าวไกล
แต่ประเด็นการยุบพรรคนั้น หากพิจารณาตาม มาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ระบุให้เป็นอำนาจของ “กกต.” ที่จะต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมือง โดยเฉพาะ 2 วงเล็บแรก
(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
และ (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั้งนี้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
ฉะนั้น หากศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลมีความผิด กระบวนการต่อไปก็จะเป็นอำนาจของ กกต.ในการร้องยุบพรรค ซึ่งต้องดูว่าคำวินิจฉัยศาลจะมีผลต่อเนื่องไปถึงอำนาจ กกต.ในการยื่นยุบพรรคมากน้อยเพียงใด หรือจะมีใครไปร้องกกต.หลังจากนี้หรือไม่
- เทียบ'ยุบไทยรักษาชาติ-ม๊อบราษฎร' แก้ม.112 ล้มล้าง?
“ธีรยุทธ” ยังเคยพูดถึงเรื่องนี้ว่า อาจเทียบเคียงได้กับ คำวินิจฉัย “ยุบพรรคไทยรักษาชาติ” จากกรณีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเวลานั้น กกต.เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และคำวินิจฉัยเกี่ยวกับการเรียกร้อง 10 ข้อของมวลชนกลุ่มราษฎร ที่เกิดขึ้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งศาลวินิจฉัยใกล้เคียงกันว่าเป็น “พฤติกรรมอันเป็นการกัดเซาะ บ่อนทำลาย ด้อยค่า สถาบันพระมหากษัตริย์”
- เทคนิคทางกฎหมาย "ยืมมือศาลยื่นดาบกกต."
มีคำถามอีกว่า แล้วเหตุใด “ธีรยุทธ”จึงไม่ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อยื่นยุบพรรคก้าวไกลตั้งแต่แรก?
นั่นอาจเป็นเพราะ “เทคนิคทางกฎหมาย” เพราะก่อนหน้านี้ มีผู้ไปยื่นยุบพรรคก้าวไกล จากทั้งกรณีแก้ไขมาตรา112 รวมถึงกรณีอื่นจำนวน “4 คำร้อง”
แต่ต่อมา กกต.ตีตก ด้วยเหตุผล “ไม่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองใดกระทำการตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง”
เมื่อเป็นเช่นนี้ “ธีรยุทธ” จึงต้องไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อ "ยืมมือศาลยื่นดาบกกต." คำสั่งศาลเสมือนเป็น “ตราประทับ” ว่า การดำเนินการของ“พิธา” และพรรคก้าวไกล เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ อย่างไร?
จับตาทั้ง 2 คดี ซึ่งถูกคาดการว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะนัดลงมติ และเผยแพร่ผลการพิจารณาคดี ภายในเดือน ม.ค.2567 หรือช้าสุดไม่น่าจะเกินกลางเดือน ก.พ.2567
ถึงเวลาน่าจะได้รู้กันว่า ที่สุด“พิธา”และ“พรรคก้าวไกล” จะ“รอด”หรือ“ร่วง”?