'ไอติม' ชี้ออกแบบเลือกตั้ง ส.ส.ร. มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญร่าง รธน.ใหม่ได้
'โฆษกก้าวไกล' ย้ำรัฐธรรมนูญใหม่ควรถูกร่างโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยันสามารถออกแบบระบบเลือกตั้งให้มีตัวแทนจากผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลายได้ โดยทุกคนยังมาจากการเลือกตั้ง 100%
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2566 นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายนิกร จำนง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ของรัฐบาล ระบุมีข้อเสนอให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งหมด 100 คน แบ่งเป็น 77 คนมาจากการเลือกตั้ง (จังหวัดละ 1 คน) และ 23 คนที่คัดเลือกโดยรัฐสภา จากกลุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ กลุ่มความหลากหลาย ซึ่งจะทำให้เป็น ส.ส.ร. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
นายพริษฐ์ ระบุว่า ตนและพรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอด ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรถูกร่างโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะจะทำให้กระบวนการมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากที่สุด รวมถึงเปิดกว้างมากที่สุดต่อความเห็นที่แตกต่างหลากหลายและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่ม
"เราเห็นต่างกันได้ว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ แต่ตนคิดว่าต้องตั้งหลักกันให้ชัด ว่าเราไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่าง “การมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด” กับ “การมี ส.ส.ร. ที่มีพื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลาย” เพราะเราสามารถมีทั้งสองอย่างได้ (หากเราต้องการ) ผ่านการออกแบบระบบเลือกตั้ง" โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุ
ถึงแม้เรายอมเดินหน้าตามสมมุติฐานว่าเราต้อง “รับประกัน” พื้นที่ให้กับผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลาย ใน สสร. (ทั้งที่ความจริงสมมุติฐานนี้ยังมีคนที่มีความเห็นที่แตกต่าง เช่น บางคนมองว่าผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ไม่จำเป็นต้องอยู่ใน ส.ส.ร. แต่ให้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการยกร่าง / บางคนมองว่ากลุ่มดังกล่าวก็ควรจะลงสมัครรับเลือกตั้งผ่านกระบวนการเดียวกับคนทั่วไป) เราสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยยังคงหลักการว่า ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
"กรอบคิดสำคัญที่จะช่วยปลดล็อกความเป็นไปได้คือการมองว่า ส.ส.ร. ไม่จำเป็นต้องมี ส.ส.ร. ประเภทเดียว แต่อาจประกอบไปด้วย ส.ส.ร. ที่แบ่งออกเป็นหลายประเภทที่ล้วนมาจากการเลือกตั้ง (คล้ายกับ สส. ที่ปัจจุบันมีการแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั้นคือ สส. แบบแบ่งเขต และ สส. แบบบัญชีรายชื่อ)" นายพริษ์ ระบุ
นายพริษฐ์ ระบุด้วยว่า ทางเลือกหนึ่งคือการแบ่ง ส.ส.ร. ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภท ก. = ส.ส.ร. ประเภท ตัวแทนพื้นที่, ประเภท ข. = ส.ส.ร. ประเภท ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ (เช่น นักวิชาการด้านกฎหมาย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ ผู้มีประสบการณ์การเมืองในระบบ ผู้มีประสบการณ์การเมืองภาคประชาชน) และ ประเภท ค. = ส.ส.ร. ประเภท ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย (เช่น เยาวชน กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มคนพิการ)
โดย ส.ส.ร. ทั้ง 3 ประเภทนั้นมาจากการเลือกตั้งทางตรงทั้งหมด โดยใช้วิธีให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน มีบัตรเลือกตั้งทั้งหมด 3 ใบ ได้แก่
- บัตรเลือกตั้ง ก. = เลือก ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนพื้นที่ โดยอาจใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
- บัตรเลือกตั้ง ข. = เลือก ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ โดยเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ที่สนใจเป็น ส.ส.ร. และผ่านคุณสมบัติที่กำหนด สมัครเข้ามา เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์ และเปิดให้ประชาชนเลือกผ่านคูหาเลือกตั้งว่าต้องการผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์เป็นตัวแทนของเขาในฐานะ ส.ส.ร. ประเภท ข.
- บัตรเลือกตั้ง ค. = เลือก ส.ส.ร. ประเภทตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย โดยเปิดให้ประชาชนที่สนใจเป็น ส.ส.ร. ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย สมัครเข้ามาโดยระบุในกระบวนการสมัครและการรณรงค์หาเสียงว่าตนเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายกลุ่มใดหรือในมิติใด (โดยจะกำหนดหมวดหมู่ต่างๆ เป็นการเฉพาะหรือไม่ก็ได้) เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายต่างๆ และเปิดให้ประชาชนเลือกผ่านคูหาเลือกตั้งว่าต้องการผู้สมัครคนใดเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายต่างๆ ในฐานะ ส.ส.ร. ประเภท ค.
ระบบเลือกตั้งแบบนี้ เป็นเพียงระบบหรือวิธีหนึ่งที่จะทำให้เรามี ส.ส.ร. ที่มีตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลายได้ โดยที่ ส.ส.ร. ทุกคนยังคงมาจากการเลือกตั้ง 100% นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายระบบหรือวิธีที่เป็นไปได้เพื่อตอบโจทย์วัตถุประสงค์เดียวกัน ซึ่งทางคณะอนุกรรมาธิการภายใต้คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง สภาผู้แทนราษฎร ที่ตนเป็นประธาน (ซึ่งเคยเชิญคุณนิกรและตัวแทน คณะกรรมการศึกษาฯ ของรัฐบาล มาร่วมประชุมก่อนหน้านี้) ได้ศึกษา-จัดทำข้อเสนอ และกำลังเรียบเรียงเป็นรายงานเพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎร-คณะรัฐมนตรี-ประชาชน พิจารณาอย่างเป็นทางการในต้นเดือนมกราคม
โฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ตนเข้าใจดีว่าเรามีจุดยืนที่ต่างกันได้ว่า ส.ส.ร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งความจริง พรรคก้าวไกลเสนอให้เป็น 1 คำถามรองในการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจโดยตรง แต่โปรดอย่าใช้เหตุผลว่าเราต้องมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลาย ใน ส.ส.ร. มาเป็นเหตุผลในการบอกว่าเราไม่ควรมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะหากเราออกแบบระบบเลือกตั้งกันอย่างรอบคอบ เราสามารถมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ที่ยังคงมีพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญ-ผู้มีประสบการณ์-กลุ่มความหลากหลายได้ (หากเราประสงค์ให้มี) โดยไม่จำเป็นต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง