มท.1 สั่งเข้มทุกจังหวัดเตรียมแผนป้องกันอัคคีภัย-อุบัติภัย ช่วงปีใหม่ 67
โฆษก มท.เผย 'อนุทิน' สั่งเข้มให้ บกปภ.ช. แจ้งทุกจังหวัดเตรียมป้องกัน พร้อมแผนเผชิญเหตุอัคคีภัย-อุบัติภัย ลดการสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สินประชาชน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 67
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ที่กระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยและอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังอัคคีภัย รวมทั้งอุบัติภัยในช่วงประชาชนเดินทางท่องเที่ยว และจัดงานปีใหม่
ทั้งนี้ เนื่องจากปลายเดือนธ.ค. ถึงต้นเดือน ม.ค. ของทุกปี มีวันหยุดติดต่อกัน หลายหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ มีการจัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ มีการจุดพลุ ปะทัด ดอกไม้เพลิง และกิจกรรมที่เสี่ยงต่ออัคคีภัยและอุบัติภัย และมีแนวโน้มที่จำนวนเหตุการณ์จะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เห็นได้จากสถิติในช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 64-66 โดยปีใหม่ 64 เกิดอัคคีภัย 15 จังหวัด มีผู้บาดเจ็บ 2 ราย บ้านเรือเสียหาย 29 หลัง อื่นๆ 6 แห่ง ปีใหม่ 65 เกิดอัคคีภัย 26 จังหวัด ประชาชนเสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 7 ราย บ้านเรือนเสียหาย 68 หลัง และอื่นๆ 29 แห่ง และล่าสุดปีใหม่ 66 เกิดอัคคีภัยใน 41 จังหวัด ประชาชนเสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 3 ราย บ้านเรือนเสียหาย 77 ราย และอื่นๆ 180 แห่ง และมีอุบัติภัย จากพลุ ประทัดระเบิดกระสุนปืนตกใส่หลังคาบ้านเรือนประชาชน ใน 6 จังหวัด ประชาชนบาดเจ็บ 3 ราย บ้านเรือนเสียหาย 5 หลัง และอื่นๆ 1 แห่ง จึงจำเป็นที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกจังหวัดต้องดำเนินการทั้งการเตรียมการป้องกันและมีแผนเผชิญเหตุเพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเตรียมการ บกปภ.ช. ได้ให้ทุกจังหวัดกำชับให้ทุกหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน มีการป้องกันและใช้ความระมัดระวังในการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยเป็นพิเศษ โดยห้ามให้มีการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง โคมหรือวัตถุอื่นที่คล้ายกัน หรือการใช้เทคนิคพิเศษ (Special Effect) ในอาคารหรือพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการลุกลามของอัคคีภัยโดยเด็ดขาด รวมถึงกำหนดมาตรการความปลอดภัย ดูแลจำนวนผู้ใช้บริการให้เหมาะสมไม่หนาแน่นจนเกินไป
ให้ผู้อำนวยการในแต่ละระดับหรือเจ้าพนักงาน ตรวจตราพื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ อาคารสถานที่ เส้นทางสัญจรโดยรอบสถานที่จัดกิจกรรม สถานที่ท่องเที่ยว โดยเฉพาะจุดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยง่าย หากพบความเสี่ยงหรือไม่ปลอดภัยต้องเร่งแจ้งหน่วยงานตามกฎหมายทราบเพื่อดำเนินการซ่อมแซมให้เกิดความแข็งแรง และให้ตรวจความพร้อมทั้งด้านบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเขตพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชั่วโมง
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ ให้ทุกจังหวัดสร้างการรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงอันตรายจาการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง การปล่อยโคมลอย รวมถึงการพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะลักลอบการยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งมีบทลงโทษตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันโทษสำหรับกรณีการลักลอบยิงปืนขึ้นฟ้ามีในประมวลกฎหมาย มาตรา 376 ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากเกิดกรณีกระสุนตกลงมาเป็นอันตรายต่อผู้อื่นให้ได้รับอันตรายสาหัส จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 300 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จะเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ทางด้านการเผชิญเหตุ บกปภ.ช. ให้แต่ละจังหวัดจัดชุดเจ้าหน้าที่ และให้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน(อส.) อาสาสมัครป้องกันฝ่ายพลเรือน(อปพร.) บูรณาการร่วมกับหน่วยราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสา ดำเนินการเฝ้าระวังสถานที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ หรือประชาชนเดินทางไปรวมตัวเป็นจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวก ดูแลการจราจรให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง กู้ชีพให้สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันท่วงที และเมื่อเกิดอัคคีภัยหรืออุบัติภัยอันกระทบต่อประชาชนให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอย่างเคร่งครัด