เช็ค 'วาระร้อน' สภาฯ67 เปิดสนาม 'ก้าวไกล' รบ 'เพื่อไทย'
เปิดศักราช67 การเมืองในสภาฯ จะลุกเป็นไฟ เพราะมีหลายวาระร้อนที่ "ฝ่ายค้าน" อย่าง "พรรคก้าวไกล" ประกาศการตรวจสอบรัฐบาล ผ่านร่างกฎหมายและการซักฟอก
การเมืองในสภาฯ ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา หากจะหาคำเรียก ขอใช้คำว่า “ดูเชิง” เพราะ “2ฝ่ายในสภาฯ” ยังออกหมัดหวดกันได้ไม่เต็มเนื้อ เต็มหนัง
“ฝ่ายค้าน” ที่ถือธงนำ “ฝ่ายตรวจสอบที่สร้างสรรค์” รอดูจังหวะเคลื่อนของ “ฝ่ายบริหาร”
ขณะที่ “สส.ฝ่ายรัฐบาล” อยู่ในภาวะ รอ “สัญญาณจากคนนอกสภา” ว่าจะเดินทิศทางการทำงานในสภาฯ ไปทางไหน
แม้ในปี 2566 จะถูก “ฝ่ายค้าน” ลองเชิง ด้วยเกม ล่มประชุมไป 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก เมื่อ 31 ส.ค. ระหว่างเสนอญัตติการแก้ปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ
และ ครั้งสอง เมื่อ 13 ธ.ค. ช่วงลงมติรับหรือไม่รับหลักการวาระแรก ของการแก้ไขข้อบังคับการประชุมสภาฯ ที่ “พรรคก้าวไกล” เสนอ เพื่อปรับระบบในสภาฯ ให้เป็นแบบ “ก้าวหน้า”
แต่ถือว่าเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” ของศึกในสภาฯ
ส่วนสงครามแท้จริง ขอให้จับตา ตั้งแต่นาทีแรกของการเปิดศักราชใหม่ 2567 ไว้ให้ดี เพราะมีหลายเรื่องที่พาเหรดให้ “ฝ่ายค้าน” และ “ฝ่ายรัฐบาล” ได้ประลองฝีมือ
เริ่มต้นด้วย 3-5 มกราคม มีวาระ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่ “ฝ่ายค้าน” ตั้งประเด็นซัด “รัฐบาล” ด้วยข้อหา “ขัดขวางการตรวจสอบ” เนื่องจากส่งเอกสารงบประมาณที่สภาฯ ต้องพิจารณามาให้ ล่าช้าและกำหนดวันประชุมกระชั้นชิด เหมือนจงใจให้ไม่มีเวลา วิเคราะห์-ประเมิน-ตรวจสอบ รายละเอียดอย่างรอบด้านในการอภิปรายวาระแรกที่จะเกิดขึ้น
แม้จะมีคำอธิบายจาก “ฝ่ายรัฐบาล” ว่า เป็นความจำเป็นตามปฏิทินงบประมาณ และในวาระสอง “ฝ่ายค้าน” ในนาม กรรมาธิการ สามารถตรวจสอบเนื้อหาอย่างละเอียดได้
ทว่า “พรรคก้าวไกล" ไม่อาจเห็นด้วย เพราะต้องการใช้ “วาระงบฯ67” เป็นเวทีฉายสปอร์ตไลท์ให้กับ “ดาราการเมือง-สร้างคะแนนนิยมให้พรรค”
ต่อด้วย ร่างกฎหมายงบประมาณอีกฉบับ ที่จ่อรอเข้าสภา ในช่วงเดือน พ.ค.67 อาจจะได้เห็น การเปิดประชุม สมัยวิสามัญ ช่วงกลางปี67 เพื่อนำร่างกฎหมายงบประมาณปี2568 เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ ตามกรอบปฏิทินปกติที่สำนักงบประมาณฯ เคยดำเนินการมา ซึ่งจะเป็นการ เปิดโอกาสให้ "ฝ่ายค้าน" ได้ตรวจสอบงบฯอีกรอบ
เรื่องต่อมาคือ การพิจารณา “ร่างกฎหมายที่มีวาระทางการเมือง” เช่น ร่างพ.ร.บ.กู้เงิน5 แสนล้าน เพื่อนำมาใช้ในโครงการรเติมเงินดิจิทัลวอลเล็ต แม้ขณะนี้ “กฤษฎีกา” ยังไม่ชี้ชัดความเห็นว่า ทำได้หรือไม่ แต่เมื่อ “ฝ่ายการเมือง” พยายามจะทำ ประกอบกับมี 315 เสียงหนุนในสภาฯ ที่เข้มแข็ง จึงดูเหมือนไม่มีอุปสรรคขัดขวาง
ทว่าการผลักดันเรื่องนี้ ไม่น่าง่าย และ อาจกลายเป็นวาระร้อน เพราะ “ก้าวไกล” ฐานะฝ่ายค้าน ไม่เห็นด้วย และที่ผ่านมาเคยเสนอทางเลือกอื่น เพื่อไม่ให้ “หนี้พอก” มาแล้ว
ต่อมาคือ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในคดีการเมือง ที่ขณะนี้ “นิรโทษฯ ฉบับก้าวไกล” เตรียมบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม หลังจากที่ผ่านกระบวนการฟังความเห็นของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 แล้ว
โดยธงนำของ “ก้าวไกล” คือ การนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทั้งหมด รวมถึงกิจกรรมที่มีเหตุจูงใจทางการเมือง แม้ในร่างกฎหมายไม่ชี้ชัดว่ารวมถึง “ความผิดมาตรา 112” แต่ในทางการเมืองเดาทางอย่างรู้กันว่า “เป็นความต้องการสำคัญ” เพื่อปลดปล่อย “ด้อมส้ม-สมาชิก-สส.ก้าวไกล” ที่เป็นผู้ต้องหาในคดี มาตรา 112 พ่วงกับ “คดีการเมือง” อื่นๆ ฃ
ทว่าเจตนาของ “ก้าวไกล” ดูเหมือนจะไม่ได้รับความเห็นพ้อง จาก “สส.ข้างมากในสภาฯ” เพราะมองว่า “ไม่เหมาะสม”
สำหรับการนิรโทษฯ ปัจจุบัน มีฉบับที่เป็นทำนองเดียวกัน เสนอจาก “พรรคเล็ก” ที่มีความเฉพาะเจาะจง ไม่นิรโทษกรรมให้ “คดี112” ซึ่งพรรครัฐบาล ขานรับเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้นประเด็น “ความต่าง” ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะทำให้ “สงครามในสภาฯ” ร้อนระอุมากขึ้น และอาจเกี่ยวพันถึง “การเมืองนอกสภาฯ” เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โดยสถานการณ์แบบนั้น “พรรคเพื่อไทย” ตระหนักดี จึงมีไอเดียยื้อเวลาเสนอ ผ่านกลไก กรรมาธิการวิสามัญ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กระทบถึง “ระยะยืนของรัฐบาล-เศรษฐา”
นอกจากนั้นยังมีประเด็น “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่แม้ “รัฐบาล-ก้าวไกล” เห็นพ้องว่า ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ โดย “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” (ส.ส.ร.) ที่มาจากประชาชน ทว่าเรื่องนี้เดินไปไม่ง่าย เพราะมีปมต้องคลี่คลาย คือ
1.การทำประชามติคราวแรก ที่มีประเด็นพ่วง คือ ตัวกฎหมายประชามติที่มีเงื่อนไขที่เสี่ยงเป็น “เดดล็อก” ในเรื่องของจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ และเกณฑ์ผ่านประชามติ ที่ต้องใช้เสียงเกินครึ่ง ทั้ง เกินครึ่งผู้มีสิทธิ และ เกินครึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
ประเด็นนี้ “ก้าวไกล-รัฐบาล” เห็นว่าควรปลดล็อก ด้วยการแก้ไขก่อน
ทว่า “สว.” ทายาท “คสช.” ที่ยังมีบทบาทมองว่า “ไม่เห็นเหตุจำเป็น” ดังนั้นการฝ่า “มติสภาฯ” เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตา ซึ่งขณะนี้มีโมเดล ที่พูดถึง คือ ใช้กลไกที่ประชุมรัฐสภา เพราะกฎหมายประชามติ ตั้งต้นคือ “กฎหมายปฏิรูป” ที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้ใช้กลไก 2 สภาพิจารณา
หากเป็นเช่นนั้น จะฝ่าเสียงค้านของ “สว.” ไปได้โดยง่าย แต่อาจไปลงเอยที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” เนื่องจาก หากนำกลไกของกฎหมายปฏิรูปมาใช้จริง จะทำให้กระบวนการนิติบัญญัติปัจจุบัน “สองมาตรฐาน” ได้
และ ประเด็นการกำหนดคำถามประชามติเพื่อเคลียร์คัตประเด็นร้อน ที่มีข้อเสนอให้ทำคำถามพ่วง คือ กำหนดให้มี ส.ส.ร.มาจากเลือกตั้งจากประชาชนแบบ 100% หรือไม่ แทนที่จะถามแค่ว่า “เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” หรือไม่เท่านั้น
แม้ขั้นตอนนี้ จะไม่เกี่ยวกับ “สภาฯ” เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของ “รัฐบาล-คณะกรรมการการเลือกตั้ง” แต่เพื่อตัดไฟขัดแย้ง จึงอาจจำเป็นต้องขอหารือต่อรัฐสภา
2.การกำหนดเนื้อหา ของร่างแก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยการออกแบบ “ส.ส.ร.” ที่มีความเห็นต่าง
“พรรคฝ่ายค้าน” ต้องการให้มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งหมด 100% ขณะที่ “รัฐบาล” ตามกลไกของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ เบื้องต้น ยอมให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. 77 จังหวัดๆละ 1 คน ส่วนที่เหลือ ต้องมาจากการคัดสรรด้วยกลไกของ “รัฐสภา”
ในเกม “แก้รัฐธรรมนูญ” หากประเมินทางลม “รัฐบาล-พรรคร่วม” ยังอยากทอดเวลาออกไป เพราะไม่มีเหตุจำเป็น ต้องสร้างเงื่อนให้สังคมแตกแยก ที่กระเทือนถึง “เสถียรภาพรัฐบาล”
นอกเหนือจาก วาระทางกฎหมายที่จะปลุกสงครามในสภาฯ แล้ว หากพิจารณากระบวนการ “ตรวจสอบ” รัฐบาลแล้ว อาจจะเห็นกาารเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติของ “ฝ่ายค้าน” ในช่วงก่อนปิดสมัย ในเดือนเม.ย.67 นี้ ตามที่ “ชัยธวัช ตุลาธน” ผู้นำฝ่ายค้าน เคยเกริ่นไว้
เพราะกระบวนการนี้สามารถสร้างผลงานในสภาฯ ให้กับ “ฝ่ายค้าน” ที่มองเกมยาว ถึงการเลือกตั้งยกหน้า เหมือนกับช่วงที่ “พรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล” จับมือถล่ม “รัฐบาลคสช.” ทั้ง เปิดอภิปรายทั่วไป-อภิปรายไม่ไว้วางใจ ตลอดการทำหน้าที่เป็นรัฐบาล จน “ก้าวไกล-เพื่อไทย” พลิกเกมเลือกตั้ง เอาชนะมาได้
ตลอดการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา มีจุดอ่อนหลายเรื่องที่ตั้งประเด็น “ซักฟอก” ได้ เช่น การเอื้อประโยชน์ให้ “นักโทษเทวดา” , ปมค้าหมูเถื่อน, เรื่องในองค์กรตำรวจ-ทหาร, ปัญหาแรงงาน, ค่าแรง เป็นต้น
ขณะเดียวกันช่วงเทอมสองของ สภาฯ ชุดที่ 26 “ฝ่ายค้าน” ยังสามารถขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ หากมีประเด็นความผิดพลาด เสียหาย ที่ชี้ชัดถึงผลกระทบต่อประเทศ ซึ่งนาทีนี้ ถูกโฟกัสถึง การใช้จ่ายงบประมาณที่ใช้ตามนโยบายรัฐบาล “ดิจิทัลวอลเล็ต” - “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่เชื่อว่าจะมีผลในทางปฏิบัติออกมาให้เห็นในช่วงครึ่งหลังของปี67
ทั้งหมดนี้ต้องจับตาสถานการณ์ในสภาฯ ในปี2567 แม้ว่า ผลลัพธ์ ที่ “ฝ่ายค้าน” ซึ่งมี “ก้าวไกล” เป็นผู้นำไม่ต้องการเปลี่ยนขั้ว แต่สิ่งที่พวกเขาปรารถนา ในการใช้เวทีสภาฯ คือ หวังผลต่อการเปลี่ยนเกม “เลือกตั้ง" ยกหน้าที่จะมาถึง.