กองทัพเรือ วัดใจ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ 1,200 วัน ‘เรือดำน้ำ’ โผล่ ?
"กรณีรัฐบาลเซ็นเดินหน้าต่อเรือดำน้ำ ผมก็จะบอก ครม.ว่า ไม่ต้องกังวลครับ ยังมีขั้นตอน ทดสอบในท่า นอกท่า ต้องดำความลึก 300 เมตรได้จริง จำนวนกี่วัน หากไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่ผิด และไม่ต้องรับ หากทดสอบผ่าน เราก็เอา"
ปัญหา “เรือดำน้ำ” ยังค้างอยู่ที่สำนักงานอัยการสูงสุด หลังเมื่อปีที่แล้ว “กองทัพเรือ” ได้ทำหนังสือสอบถาม 3 ประเด็น ได้แก่ 1.การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่ 2.การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำมีขั้นตอนอย่างไร 3.การอนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร
ในระหว่างรอคำตอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด กองทัพเรือยังทำหนังสือถึง "วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์"(วสท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่จะการันตีเครื่องจักรเครื่องกลว่า เครื่องยนต์ CHD 620 ของจีน เทียบเท่าเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมันหรือไม่
แน่นอนว่า “กองทัพเรือ” ต้องการเดินหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำให้สุดทาง จึงต้องทำให้เกิดความกระจ่าง และรัดกุมมากที่สุดในขั้นตอนของกฎหมาย ว่าเครื่องยนต์ที่กังวลกันว่า หากเป็นของจีนจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของกำลังพลที่ต้องปฏิบัติการใต้น้ำ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี
“พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม” ผู้บัญชาการทหารเรือ ให้สัมภาษณ์"กรุงเทพธุรกิจ" ถึงทิศทางของโครงการเรือดำน้ำว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำตอบอัยการสูงสุด หากชี้ว่าเปลี่ยนเป็นเรืออื่นไม่ได้ ครม.มีหน้าที่จะต้องเซ็น แต่กองทัพเรือทำข้อมูลสนับสนุน ครม.ให้สบายใจ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจสูงสุด เราจะทำหนังสือทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมดทั้ง สำนักงบประมาณ อัยการสูงสุด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ตามที่ต้องการ นอกจากนั้นเรามีการสอบถามวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นตัวกลาง ที่จะช่วยให้ความเห็น ในปัญหาเกี่ยวกับเครื่องจักรเครื่องกลว่าการเปลี่ยนเครื่องยนต์ครั้งนี้ เครื่องจะดีกว่า หรือรับรองได้หรือไม่
“ตอนนี้อัยการสูงสุดบอกเฉยๆ ว่า คนเซ็นคือ ครม.ไม่ให้เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นนะ แต่ครม.จะเซ็นก็ต่อเมื่อ เขามีความสบายใจ แต่กองทัพเรือบอกว่า ขอเปลี่ยนเครื่องยนต์เถอะ แต่มันเป็นเรื่องยากตรงที่ว่า ซื้อ A ได้ B ใครๆ ก็ไม่กล้าเซ็น แต่เราต้องบอกว่าเครื่อง B นั้น ตามกฎหมายต้องเทียบเท่า หรือดีกว่า ซึ่งกองทัพเรือก็ตอบไปให้แล้วว่า เทียบเท่าหรือดีกว่า” ผบ.ทร.กล่าว
เมื่อถามว่าถ้า ครม.ไม่ยอมเซ็น ปัญหาจะค้างคาอยู่แบบนี้ใช่หรือไม่ พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า “ไม่ได้ เรื่องจะไม่จบ จีนจะอ้างได้ว่า เราไม่ยอมจบ แต่วันที่หมดสัญญาใกล้มาแล้ว เขาจะถือเป็นเหตุที่เขาเสียโอกาสได้ ส่วนจะโดนฟ้องเรียกค่าเสียหาย หรือไม่นั้น ผมยังไม่เข้าใจถึงขั้นตอน แต่เรื่องนี้ต้องจบ ส่วนจะจบแบบไหน วิธีตรงๆ ก็คือยกเลิกสัญญา ก็แล้วแต่รัฐบาลจะเลือก หากไม่เซ็นก็ยกเลิกสัญญาไป ตรงที่สุด แต่เงินที่จ่ายไปแล้วนั้น จะได้คืนหรือไม่นั้น ไม่มีใครให้คำตอบได้ เพราะการซื้อเป็นจีทูจี ซึ่งตามกฎหมายระบุว่า ให้พยายามเจรจา”
เมื่อถามต่อว่า เราจะไม่ได้อะไรเลย หากยกเลิกสัญญาใช่หรือไม่ พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า ตอบไม่ได้ เราก็ต้องไปบอกจีน และรัฐบาลต้องพิจารณาเองว่า การยกเลิกสัญญา มีข้อดี ข้อเสีย อย่างไร ซึ่งรัฐมนตรีกลาโหม สุทิน คลังแสง ทราบดีอยู่แล้ว ส่วนจะต้องใช้เวลาอีกกี่เดือนไม่มีใครบอกได้
“การยกเลิกสัญญาเป็นเรื่องที่ร้ายแรงที่สุดในการจัดซื้อแบบจีทูจี ตามระเบียบ ตามกฎหมาย เขาบอกให้พยายามคุยกัน และอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แล้วจะลากไปหลายเรื่อง” ผบ.ทร.ระบุ
เมื่อถามว่า ทางเลือกของรัฐบาลมีแค่ เซ็นหรือยกเลิกสัญญา ใช่หรือไม่ พล.ร.อ.อะดุง กล่าวว่า ตอบตรงๆ ว่ามีแค่นี้
"กรณีรัฐบาลเซ็นให้เดินหน้าต่อ ผมก็จะบอก ครม.ว่า ไม่ต้องกังวลครับ เมื่อเซ็นรับแล้ว มันมีขั้นตอน ทดสอบในท่า นอกท่า ต้องดำความลึก 300 เมตรได้จริง จำนวนกี่วัน หากไม่สามารถทำได้ เราก็ไม่ผิด และเราก็ไม่ต้องรับ หากทดสอบผ่าน เราก็เอา ส่วนเรือดำน้ำลำแรกจะมาถึงไทยเมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า ครม.เซ็นวันไหน และให้นับไป 1,200 วัน เรือดำน้ำจะเดินทางมาถึงไทย" พล.ร.อ.อะดุง กล่าวและว่า
"นอกจากนี้ เรือดำน้ำของปากีสถานซึ่งต่อเหมือนเรา ใกล้เสร็จแล้ว ผมได้มีโอกาสเจอ ผบ.ทร.ปากีสถาน ก็ถามเขาตรงๆ ว่า ตอนทดลอง บอกผลการทดลองกับผมได้หรือไม่ เขาบอกว่าได้ ก็แสดงว่า เราจะเอาผลของเขามาเป็นตัวชี้วัดให้ ครม. สบายใจ ปากีสถานก็ใช้เครื่องยนต์ CHD 620 เขาเริ่มวิ่งแล้วครับ เขาก็ต้องทดลองแบบเดียวกับของเรา เพื่อนำเป็นข้อมูลให้ ครม.ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และรู้สึกสบายใจ แต่หากของปากีสถานติดขัด เราก็รู้ทันที ครม.อาจจะต้องมีข้อมูลใหม่ในการตัดสินใจ ว่าไม่เอาดีกว่า"
พล.ร.อ.อดุง กล่าวด้วยว่า สำหรับเรือดำน้ำลำที่ 2 และลำที่ 3 หากจะยุติธรรมกับประเทศและงบประมาณ ต้องให้ได้เรือดำน้ำลำที่ 1 มา แล้วลองใช้ ดูผลงาน เราจะไม่ใจร้อนอีกแล้ว ต้องทำให้ประชาชนสบายใจว่า ตอนนี้ทฤษฎีบอกว่าผ่าน หาก ครม.บอกว่ายอมเซ็น มันก็ไม่ง่าย เพราะจะมีการทดสอบอีกหลายขั้นตอน
“เรือดำน้ำลำที่ 1 เปรียบเสมือนสิ่งการันตี เรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 หากลำที่ 1 ผ่าน ลำที่ 2 ที่ 3 ก็ง่าย ใช้สเปคเดียวกัน ตอนนี้เหลือเพียงว่า จะตั้งงบฯ ปีไหนแค่นั้นเอง เพราะเราได้ตั๋วแล้ว 3 ลำ อยู่ที่ว่าเราจะเติมเงินปีไหน แต่เราจะไม่ใจร้อนเติม เพราะว่าให้ประชาชนเกิดความสบายใจก่อน ใช้ลำที่ 1 ใช้ให้สบายใจ ให้คนไทยพอใจก่อน”
พล.ร.อ.อะดุง ยังย้ำว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี รัฐบาลอาจไปเจรจาเพิ่มอย่างอื่นได้อีก เขาทำได้หมด เพราะการจัดซื้อแบบจีทูจีเปิดกว้าง จะเปลี่ยนไปเป็นปุ๋ยให้เกษตรกร ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ตนในฐานะเป็น ผบ.ทร.ก็ได้ขอความกรุณา เพราะมันเป็นงบประมาณของการเสริมสร้างอาวุธ เราเหนื่อยมาตั้งหลายปีแล้ว
"ส่วนจะเปลี่ยนไปซื้อเรือฟริเกต แทนเรือดำน้ำ ทุกอย่างก็ต้องรออัยการสูงสุดชี้มาว่า สามารถเปลี่ยนได้หรือไม่ แต่หากมียกเลิกสัญญา แล้วเปลี่ยนไปซื้ออย่างอื่น ก็กระทบหมด เราก็ต้องมานับหนึ่งใหม่ แล้วเงินไปเอาที่ไหน เงินที่จะซื้อก็ไม่มีแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่าย "ผบ.ทร.กล่าวทิ้งท้าย
ปัจจุบัน กองทัพเรือทำข้อเสนอไปถึง ครม.เห็นชอบให้อำนาจ ผบ.ทร.แก้ไขสัญญาจีทูจี ซึ่งทำควบคู่ไปกับการออกหนังสือแจ้งเตือน 3 ฉบับไปยังบริษัท CSOC ของจีน
หนังสือฉบับที่ 1 แจ้งเตือนให้ส่งมอบงาน มีกำหนดวันที่ 30 ธ.ค.2566 หนังสือฉบับที่ 2 แจ้งเตือน ครบกำหนดเวลาส่งมอบงาน และทางกองทัพเรือ ของสงวนสิทธิคิดค่าปรับ เกินเวลาส่งมอบงาน ในข้อตกลงสามารถคิดค่าปรับ 10% คือ 6 เดือน หนังสือฉบับที่ 3 เวลาล่วงเลยเกินกว่าค่าปรับ 10% ของวงเงินค่าปรับ กองทัพเรือจะสงวนสิทธิขอยกเลิกสัญญา
ดังนั้น โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ก็ต้องรอวัดใจรัฐบาลเพื่อไทย ว่าจะปรองดองงบประมาณกับกองทัพได้ในระดับใด