'รัฐสภา' วิเคราะห์ ร่างกม.งบฯ67 พบ3ปมปัญหากระทบประเทศ-หวั่นก่อหนี้ท่วม

'รัฐสภา' วิเคราะห์ ร่างกม.งบฯ67  พบ3ปมปัญหากระทบประเทศ-หวั่นก่อหนี้ท่วม

ส.งบประมาณ รัฐสภา เผยบทวิเคราะห์ ร่าง กม.งบฯ67 ชี้มี3ปมปัญหา ส่อกระทบประเทศ หวั่นหนี้ท่วม มองงบลงทุนยังต่ำกว่ากฎหมาย แนะให้ปรับลดงบรายจ่ายบุคลากรรัฐ-อปท.

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้นัดประชุมสภาฯ เพื่อเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระแรก เป็นวันแรกในเวลา 09.30  น.

ทั้งนี้ก่อนการประชุมจะเพิ่มขึ้น สำนักงบประมาณของรัฐสภา ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ ร่างพ.ร.บ.งบฯ67  ซึ่งเป็นเอกสารวิชาการที่เผยแพร่ให้ สส. ได้ประกอบการพิจารณารายละเอียดงบประมาณปี 67 และให้ผู้ที่สนใจศึกษารายละเอียด

โดยในรายละเอียดของสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.งบฯ67 ดังนี้ การจัดสรรงบฯ67 วงเงิน 3.48 ล้านบาท มีภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีงบฯ66 จำนวน 2.95แสนล้านบาท คิดเป็น 9.3% โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบสูงสุด คือ

1.งบกลางฯ จำนวน 606,765 ล้านบาท

2.กระทรวงมหาดไทย จำนวน353,127 ล้านบาท

3.กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 328,384 ล้านบาท

4.กระทรวงการคลัง จำนวน 327,155 ล้านบาท

และ 5.ทุนหมุนเวียน จำนวน 257,790 ล้านบาท

ในส่วนของรายจ่ายประจำมียอดรวม จำนวน  2.5ล้านล้านบาท, รายจ่ายลงทุน จำนวน 7.1แสนล้านบาท, รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 118,,320 ล้านบาท, รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 118,461 ล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2566

ทั้งนี้ในส่วนของรายจ่ายลงทุนในปี2567 มีสัดส่วนน้อยกว่า 20% ของงบประมาณ ตามกรอบวินัยยการเงินการคลังมาตรา 20(1) กำหนดไว้ โดยสำนักงบประมาณรัฐสภา ให้ข้อเสนอแนะให้ปรับโครงสร้างการบริหารงานภาครัฐ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดรายจ่ายประจำ รวมถึงต้องเพิ่มรายได้การจัดเก็บภาครัฐให้สูงขึ้น

ขณะที่รายจ่ายบุคลากร จำแนกรายละเอียดด้วยว่า  อยู่ในส่วนของแผนงานบุคลากรภาครัฐ จำนวน 785,957 ล้านบาท ถือเป็นสัดส่วน 22.6% ของงบประมาณปี67 และยังจัดอยู่ในงบกลาง อีก 500,165 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ 329,430 ล้านบาท, เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,000 ล้านบาท, เงินสมทบลูกจ้างประจำ 440 ล้านบาท, เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยข้าราชการ 78,775 ล้านบาท,  เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของรัฐ 4,520 ล้านบาท, ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล 76,000 ล้านบาท   นอกจากนั้นยังมีเงินอุดหนุนให้ อปท. ในส่วนบุคลากร อีก 62,338 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับประเด็นสัดส่วนหนี้สินระยะยาว ซึ่งเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) สำนักงบประมาณรัฐสภา ระบุว่ามีสัดส่วนหนี้ต่อหัวประชากรเพิ่มมากขึ้น โดยในปี2565 เทียบกับปี 2564 เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านล้านบาท หรือ 80.7% ของจีดีพี แม้ว่าหนี้สินระยะยาวไม่ใช่หนี้สาธารณะทั้งหมดตามคำจำกัดความแต่พบแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในระยะต่อไปการกู้เงินทั้งที่เป็นหนี้สาธารณะ และไม่ใช่หนี้สาธารณะควรคำคำนึงถึงความคุ้มค่า ประโยชน์ และขีดความสามารถในการชำระคืนเงินต้นเงินกู้และภาระดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้น

อย่างไรก็ดีสำนักงบประมาณของรัฐสภา ตั้งประเมินถึงปัญหาและปัจจัยเสี่ยงที่ประเทศกำลังเผชิญ และอาจทำให้เกิดปัญหา ได้แก่

ด้านเศรษฐกิจ

โครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล จะทำให้เกิดภาระทางการคลังจากหนี้สาธารณะในการจ่ายคืนเงินต้นเงินกู้และภาระดอกเบี้ยหนี้สาธารณะ ที่ส่งผลกระทบต่อวงเงินงบประมาณใหม่ในปีต่อไปลดลง ดังนั้นรัฐบาลควรทำโครงการด้วยความรอบคอบ ให้ประสบผลสำเร็จและให้การจัดเก็บรได้ตามประมาณการ เพียงพอต่อการจัดสรรงบประมาณในปีต่อไปรวมถึงการชำระคืนเงินต้นเงินกู้ และภาระดอกเบี้ย

 

ด้านสังคม

สังคมผู้สูงอายุ ความยากจนและเหลื่อมล้ำ รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข ที่มีแนวโน้มเป็นภาระค่าใช้จ่ายของรัฐ ดังนั้นต้องใช้กลไกของรัฐ อปท. เพื่อแก้ปัญหาแบบองค์รวม ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาความยากจนต้องพัฒนาเมืองและกระจายศูนย์กลางความเจริญให้ทั่วถึง ส่งเสริมกรศึกษา พัฒนาตลาดแรงงาน

 

ด้านสิ่งแวดล้อม

ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ รัฐบาลควรมีมาตรการลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ทั้งภาคอุตสาหกรรมและเกษตร โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน เป็นต้น