'ก้าวไกล' จ่อฟ้อง 'นายกฯ' ผิดม.157 หากไม่สั่ง ส.งบฯส่งข้อมูลให้กมธ.

'ก้าวไกล' จ่อฟ้อง 'นายกฯ' ผิดม.157 หากไม่สั่ง ส.งบฯส่งข้อมูลให้กมธ.

"ฝ่ายค้าน" อภิปรายปิดถกงบฯ67 แนะ 'นายกฯ' ปรับวิธีการทำงบประมาณ พร้อมขอให้ใช้อำนาจสั่ง ส.งบฯ ส่งข้อมูลให้ กมธ. หากไม่ทำจ่อฟ้องม.157 กร้าวจะใช้เวทีสภาฯ เอาชนะเลือกตั้ง-เอาชนะใจปชช.

ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 19.30 น. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นตัวแทนของพรรคร่วมฝ่ายค้าน อภิปรายปิดท้ายการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วาระแรก โดยย้ำถึงวิกฤตของประเทศแต่จัดงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด หรือ ไม่ตรงปก อาทิ งบภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำไปสร้างถนน, งบแก้ปัญหาเรือนกระจก ด้วยการอบรม เป็นต้น ทั้งนี้ตนมองว่าบุญเก่าของรัฐบาลที่ผ่านมาจะตกมาไม่ถึงรัฐบาลปัจจุบัน เพราะไม่มีกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ดี โดยขอตั้งคำถาม คือ ตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำเนียบรัฐบาลสามารถรื้อกระบวนการทำงบประมาณที่เสนอต่อสภาฯ ได้หรือไม่ ทั้งนี้ตนเชื่อว่าไม่สามารถทำได้ เพราะระบบงบประมาณของไทยมีปัญหา

นายณัฐพงษ์ อภิปรายข้อเสนอแนะด้วยว่า ต้องปฏิรูปกระบวนการจัดทำงบประมาณใหม่ คือ  1.นายกฯ ต้องประกาศเอาจริงในการจัดทำงบประมาณที่โปร่งใส และประชาชนมีส่วนร่วม  เพราะที่ผ่านมาจากการติดตามการจัดทำงบประมาณในกรรมาธิการ (กมธ.) พบว่า สำนักงบประมาณไม่สามารถให้รายละเอียดรายการของการเสนอของบประมาณจากหน่วยรับงบประมาณได้ ทั้งที่มีข้อมูลอยู่ในมือ ทำให้ กมธ.ต้องทำหนังสือเพื่อขอรายละเอียดจากหน่วยรับงบประมาณทำให้เป็นปีแรกมีข้อมูลเพื่อนำมาอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบฯ67 ได้

“ผมฝากไปยังนายกฯ สำนักงบประมาณวันนี้ไม่ได้ส่งข้อมูลตามที่เรียก ตามหนังสือทวงถาม สผ.0017.06/3098 ดังนั้นขอให้นายกฯ สั่งการให้สำนักงบประมาณให้ส่งข้อมูลให้กมธ.ทันที ไม่เช่นนั้น ผมในฐานะกมธ. จะดำเนินการเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ต่อไป” นายณัฐพงษ์ อภิปราย

\'ก้าวไกล\' จ่อฟ้อง \'นายกฯ\' ผิดม.157 หากไม่สั่ง ส.งบฯส่งข้อมูลให้กมธ.

นายณัฐพงษ์ อภิปรายต่อว่า 2.ต้องปฏิรูปกระบวนการอนุมัติงบประมาณที่ไม่จัดตำแหน่งอนุกรรมาธิการวิสามัญตามผู้รับเหมา แต่ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดสรรเพื่อให้การพิจารณามีประสิทธิภาพ, 3.ใช้มาตรการเชิงนโยบาย เพื่อใช้เงินในการขับเคลื่อนนโยบายในปี 2568  ทั้งนี้นายกฯ ระบุว่าไม่สามารถรื้องบประมาณได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีการรื้องบฝายเอลนีโญ่ได้ภายใน 1 เดือน จาก 7,000 แห่งเหลือ 4,000 แห่ง ที่พบว่าไม่ผ่านอีบิดดิ้ง ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจเข้าข่ายล็อกสเปก และเป็นช่องทางการหากิน

นายณัฐพงษ์ อภิปรายต่อว่า 4.จัดงบประมาณฐานศูนย์ โดยแยกและระบุให้ชัดว่า งบภารกิจรัฐบาล , งบประจำที่รัฐบาลเสนอ ต้องแยกให้ชัดคนละก้อน และ 5.จัดสรรงบประมาณที่ใช้ภารกิจนำ  สุดท้ายการอภิปรายวิกฤตแบบใดถึงจัดงบแบบนี้ การจัดงบไม่ตอบโจทย์และปัญหาของประเทศ ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยยุคนี้ต่างจากพรรคไทยรักไทยในอดีต เพราะต้องบริหารนโยบายภายใต้งบประมาณให้เป็น เพื่อผลักดันประเทศ และนายกฯ ควรทำงานให้สมกับที่พูดว่าเป็นตัวจริง ทั้งนี้จากการทำงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถโหวตเห็นชอบได้

"ทั้งนี้การอภิปรายของพรรคก้าวไกล ถือว่าเป็นเวทีซ้อมมือเพื่อเอาชนะ ด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพและข้อเสนอที่ดีกว่า แม้พรรคก้าวไกลจะชนะเลือกตั้ง แต่แพ้การจัดตั้งรัฐบาล ดังนั้นจะใช้สนามการเมืองเป็นเวทีเอาชนะใจประชาชน" นายณัฐพงษ์ อภิปราย