คุ้ย ‘งบฯ กำลังพล’ แสนล้าน แบก ‘นายร้อย-นายพัน’ ทางตัน
หากไม่ปรับโครงสร้างกองทัพให้เล็ก กะทัดรัด ลดกำลังพล ที่ปัจจุบันใช้งบฯค่อนข้างสูง “กองทัพ” จะเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่สามารถตอบสนองกลไกของประเทศที่จะนำไปสู่การแข่งขันได้ ต้องรอดูว่า "กระทรวงกลาโหม" จะยื้อเวลาได้นานเพียงใด
ควันหลงการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบฯ 67 เป็นไปตามคาด “กระทรวงกลาโหม” ได้รับการจัดสรรงบประมาณวงเงิน 198,320.4 ล้านบาท ภายใต้การนำ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม ถูกฝ่ายค้านล็อคเป้าถล่มแบบจัดหนัก จัดเต็ม จัดงบฯย้อนแย้งกับคำแถลงนโยบายรัฐบาล “เศรษฐา ทวีสิน” โดยเฉพาะ งบฯจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ แบบดาวน์น้อย ผ่อนนาน สร้างหนี้ก้อนโต
แต่น่าแปลกใจ คือการเพิ่มขึ้นของงบฯบุคลากรเป็น 127,321 ล้านบาท จากปีที่แล้ว 120,876 ล้านบาท เช่น เงินเดือน สวัสดิการ ทั้งๆ ที่กระทรวงกลาโหม เดินหน้าปรับลดกำลังพล ให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการ และการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพตั้งแต่ปี 2560-2569
จนกลายมาเป็นคำถามว่า แผนปรับลดกำลังพลกระทรวงกลาโหม เดินมาถูกทางหรือไม่ และมีส่วนใดจำเป็นต้องปรับลดเพิ่มแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ เพราะการจัดทำงบประมาณทุกๆ ปี 50-60% เป็นงบฯบุคลากร อีก 20% งบฯพัฒนากองทัพ เช่น จัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ประมาณ 15-20% งบฯซ่อมบำรุง การฝึก ศึกษา
หากย้อนดู แผนปรับลดกำลังพลพบว่ากระทรวงกลาโหมปรับลดทหารชั้นนายพลปีละ 5-10% เริ่มปี 2551 ยุค“สมัคร สุนทรเวช” เป็น นายกฯ และ รมว.กลาโหม ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน มีการยุบและรวมหน่วยในภารกิจที่ใกล้เคียงกัน ที่มี ผบ.หน่วยเป็นทหารระดับ “พลตรี พลเรือตรี พลอากาศตรี” ขึ้นไป
ลดการแต่งตั้ง นายทหารปฏิบัติการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ชำนาญการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เมื่อเกษียณฯปิดตำแหน่ง ไม่บรรจุเพิ่มเพื่อให้เป็นไปตามแผนของกระทรวงกลาโหม ลดให้ได้ 50% ในปี 2570
เพราะเดิมที มีทหารชั้นนายพลที่นั่งประจำในตำแหน่งดังกล่าวรวมกันทุกเหล่าทัพ จำนวน 768 นาย ในปี 2552-2564 ลดลงจำนวน 253 นาย ประหยัดงบประมาณด้านกำลังพลประมาณ 640 ล้านบาท และในปี 2565-2571 จะลดลงไปอีก 141 นาย
ผ่าน 2 กลไก คือ เกษียณฯ 60 ปี แล้วปิดตำแหน่ง หรือ บรรจุให้น้อยลง และโครงการเออรี่รีไทร์ เพราะเมื่อปีที่แล้ว “บิ๊กทิน” ชงรัฐบาลของบฯกลาง 600 ล้านบาท รองรับทหารอายุ 50 ปีขึ้นไปเข้าโครงการแบบสมัครใจไม่บังคับ ให้แรงจูงใจปรับยศ เพิ่มเงิน ซึ่งจะดำเนินการปี 2568-2570
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งทหารชั้นนายพล สัดส่วนจำนวนสัมพันธ์กับนายทหารที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า(จปร.) จึงมีการลดการผลิตนายทหารลงไปครึ่งหนึ่งในแต่ละรุ่น นักเรียนนายร้อย เหลือประมาณ 200 กว่านาย นักเรียนนายเรือเหลือ 80 นาย นักเรียนนายเรืออากาศเหลือ 80 นาย
ดังนั้น ปัญหาอยู่ตรงไหน ลดการผลิตทหาร ลดนายพลในกองทัพ แต่งบฯบุคลากรกลับยืนหนึ่งที่ 50-60% มาตลอด และยังเพิ่มขึ้นในงบฯ 67 ก็เพราะกระทรวงกลาโหมยังพบตัวเลขทหารยศ “นายร้อย”จนถึงระดับ“พันเอกพิเศษ” กองอยู่ในกองทัพเป็นจำนวนมาก แม้จะมีความรู้ ความสามารถ แต่ไปต่อไม่ได้เพราะถึงทางตัน
ที่สืบเนื่องมาจากแผนแม่บทการปฏิรูปการบริหารจัดการและการปรับปรุงโครงสร้างกองทัพตั้งแต่ปี 2560-2569 จึงทำให้กองทัพมีลักษณะเปรียบเหมือนคนอ้วนลงพุง ส่วนหัว(นายพล)ปิดตำแหน่ง หรือรับน้อยลง พร้อมยุบรวมหน่วย ส่วนกลาง(นายร้อย-นายพัน)ขยับไปไหนไม่ได้เพราะตำแหน่งมีจำกัด จึงกองรวมกันอยู่บริเวณส่วนกลาง
เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา กระทรวงกลาโหม คิดค้นทำวิจัยเรื่อง โครงการเกษียณตามชั้นยศ เช่น ทหารยศนายร้อย หากไม่สามารถเติบโตเข้าเป็นทหารระดับนายพันได้ ก็ต้องเกษียณ ส่วนทหารยศนายพัน หากไม่สามารถเติบโตเป็นทหารยศนายพลได้ ก็ต้องเกษียณเช่นเดียวกัน
โดยจะให้แต่ละหน่วย หรือเหล่าทัพ ซึ่งอาจตั้งเป็นรูปแบบคณะกรรมการประเมิน
1. ขีดความสามารถของทหารนายร้อย และนายพันแต่ละคนว่า สามารถไปต่อได้หรือไม่ หากไม่สามารถไปต่อได้ หรือไม่ก้าวหน้าไปกว่านี้แล้ว ก็ต้องแนะนำให้เข้าโครงการเกษียณตามชั้นยศ
2. หาแรงจูงใจ ทั้งเรื่องค่าตอบแทน ที่ต้องสัมพันธ์กับงบประมาณเพื่อให้ไปตั้งตัว การสร้างงาน ให้ทหารเกษียณตามชั้นยศ ได้ไปต่อ เพื่อไม่ให้สะดุดและส่งผลกระทบต่อครอบครัว หรือภาระที่รับผิดชอบที่มีในปัจจุบัน ด้วยการประสานงานกับภาคเอกชนหาตำแหน่งงานที่เหมาะสม หรือเข้าฝึกอบรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ
แม้โครงการเกษียณตามชั้นยศจะตอบโจทย์แก้ปัญหาคนล้นกองทัพตรงจุดที่สุด แต่ต้องยอมรับว่า ทหารรักพวกพ้อง มีระบบรุ่นพี่รุ่นน้อง ที่ผูกพันกันมาตั้งแต่เรียนโรงเรียนเตรียมทหาร กลุ่มหนึ่งอยากอนุรักษของเก่า ส่วนอีกกลุ่มอยากเห็นกองทัพพัฒนาไปข้างหน้าทัดเทียมนานาประเทศ
“ผมเคยได้ยิน เรื่องเกษียณตามชั้นยศ และเรียกมาดูแล้ว เป็นการทำวิจัยศึกษาโดยยึดแบบกองทัพในต่างประเทศที่ทำกัน แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้ เพราะทหารบอกว่า จะกระทบต่อขวัญกำลังใจกำลังพล ทหารจะตระหนก ตื่นตกใจ” สุทิน กล่าวในเวทีแถลงพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้กับทหารกองประจำการ ทำเนียบรัฐบาล 19 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา
แม้โครงการเกษียณตามชั้นยศ จะถูกพับใส่ลิ้นชักเป็นครั้งที่สอง ด้วยเหตุผล “ยังไม่เหมาะสม เกรงจะกระทบต่อขวัญกำลังใจ ทหารจะตื่นตระหนก” ต้องรอดูว่ากระทรวงกลาโหมจะยื้อเวลาได้นานเพียงใดกับสภาพแวดล้อมและบริบททางสังคมที่เป็นตัวบังคับ
หากไม่รีบดำเนินการปรับโครงสร้างกองทัพให้เล็ก กะทัดรัด ลดกำลังพล ที่ปัจจุบันใช้งบฯค่อนข้างสูง “กองทัพ” จะเป็นหน่วยงานรัฐที่ไม่สามารถตอบสนองกลไกของประเทศที่จะนำไปสู่การแข่งขันได้
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาตื่นตระหนก แต่ต้องปรับตัว ยอมรับ และพัฒนาตัวเองให้เป็นทหารครบเครื่อง มีความรู้ความสามารถเป็นที่ต้องการของกองทัพ เพราะจะช้าหรือเร็ว โครงการเกษียณตามชั้นยศ จะถูกหยิบมาใช้ แค่รอรัฐบาลที่มีนโยบายที่ชัดเจนเข้ามาดำเนินการ