‘เรือธงแจกหมื่น’ ฝ่าคลื่นมรสุม ‘พท.-พรรคร่วม’ ยื่นหมูยื่นแมว?
"ดิจิทัลวอลเล็ต" เรือธงแดงที่กำลังแล่นฝ่าคลื่นมรสุม วัดใจ "พรรคร่วมรัฐบาล" สัญญาณอำนาจต่อรอง เดิมพัน "รัฐนาวาเศรษฐา"
Key points:
- มาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินัยการคลัง ที่สุดอาจไม่ใช่แค่ “พรรคเพื่อไทย”ในฐานะเจ้าของเรือธงแดง แต่ยังเป็น“พรรคร่วมรัฐบาล” ที่อาจถูกดึงเข้าร่วม รับ“เผือกร้อน”ชิ้นนี้ไปด้วยกัน
- “เรือธงแดงดิจิทัลวอลเล็ต” ของพรรคเพื่อไทย ที่สุดอาจกลายเป็นประเด็นจุดชนวนไปสู่ปัญหา “อำนาจต่อรอง”ภายในขั้วรัฐบาล
- เมื่อฝั่งหนึ่งมี “เรือธงแดง” ขณะที่อีกฝั่งมี “เรือธงน้ำเงิน” แน่นอนว่า ย่อมต้องจับตาไปที่อำนาจต่อรองระหว่าง 2 พรรคทั้ง“เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”ว่าจะเอายังไงดีกันครับนาย!
- “แกนนำ รทสช.” ที่เวลานี้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถมเป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเสียด้วยซ้ำ จึงต้องลุ้นกันว่า “รวมไทยสร้างชาติ” จะเลือกเล่นบทบาทไหน
“เรือธงแดง”แล่นฝ่ามรสุม! นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าคิกออฟ พ.ค.2567 ทว่า จนถึงเวลานี้ ยังดูเหมือนต้องลุ้นอีกหลาย “ด่านปราบเซียน”
หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งความเห็นถึงรัฐบาล กรณีการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เพื่อดำเนินโครงการ แม้เวลานี้ยังไม่มีการเผยแพร่เนื้อหาฉบับเต็มครบถ้วนทุกตัวอักษร แต่ว่ากันว่า หลักใจความที่กฤษฎีกาชี้แนะมายังรัฐบาล “ไม่ได้ฟันธง”ว่า ดิจิทัลวอลเล็ตทำได้หรือไม่ เป็นเพียงข้อชี้แนะถึงประเด็นพึงระมัดระวัง ตามมาตรา 53 และมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561
เช่นนี้ใน “ฝั่งสนับสนุน” ก็มองว่า เมื่อไม่มีข้อห้าม ก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง ล่าสุด ออกมายืนยันพร้อม “คิกออฟ” ตามกรอบเดิมในเดือนพ.ค.นี้
ต่างจาก “ฝั่งคัดค้าน” กลับมองว่า ข้อเสนอแนะของกฤษฎีกาที่มีข่าวเล็ดลอดออกมา เป็นเสมือน“ธงสัญญาณ”สั่งเบรกการกู้แจกหมื่น 5 แสนล้านแบบละมุนละม่อม!!
(คลิกอ่าน: พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561)
เหนือไปกว่านั้น นอกจากมาตรา 53 และมาตรา 57 ของ พ.ร.บ.วินัยการคลัง ที่ว่าด้วยวัตถุประสงค์รวมถึงความคุ้มค่าของวงเงินแล้ว ยังมีเดดล็อกอีกหนึ่งชั้น ซึ่งอาจถูก “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น” หยิบยกมาเป็นเงื่อนไข “ขวางลำเรือ” สกัดเส้นทางการแล่นของรัฐนาวา
นั่นคือ มาตรา 9 ของพ.ร.บ.วินัยการคลัง ที่สุดอาจไม่ใช่แค่ “พรรคเพื่อไทย”ในฐานะเจ้าของเรือธงแดง แต่ยังเป็น“พรรคร่วมรัฐบาล” ที่อาจถูกดึงเข้าร่วม รับ“เผือกร้อน”ชิ้นนี้ไปด้วยกัน
เนื้อหาโดยสรุปของมาตราดังกล่าว ระบุให้ คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินอย่างเคร่งครัด ไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว
จึงต้องจับตาท่าทีพรรคร่วมรัฐบาล ในการร่วมหัวจมท้ายไปกับเรือลำนี้ เพราะแม้ว่าระดับแกนนำพรรคทั้ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย
รวมถึง “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา จะพูดในทำนองเดียวกัน “หากไม่ขัดกฎหมายก็พร้อมสนับสนุน”
ทว่า เอาเข้าจริง “เรือธงแดงดิจิทัลวอลเล็ต” ของพรรคเพื่อไทย ที่สุดอาจกลายเป็นประเด็นจุดชนวนไปสู่ปัญหา “อำนาจต่อรอง”ภายในขั้วรัฐบาล
ไม่ว่าเป็น “พรรคภูมิใจไทย” หากจำกันได้ก่อนหน้านี้ “2 สส.บ้านใหญ่” ทั้ง “สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง” สส.กระบี่ ลูกเขย “โกหงวน” สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกอบจ. “บ้านใหญ่กระบี่” ซึ่งมีสายสัมพันธ์อันดีประดุจเป็นสายตรง “นายใหญ่สีน้ำเงิน”
รวมทั้ง “กรวีร์ ปริศนานันทกุล”สส.อ่างทอง ลูกชายบ้านใหญ่วิเศษชัยชาญ ได้ออกมาแสดงความเห็นคัดค้าน “ดิจิทัลวอลเล็ต” เปรียบเทียบว่า หากนำงบ 5 แสนล้านเปลี่ยนเป็นงบด้านอื่นๆ เช่น ทำน้ำประปา น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า
ตามสไตล์ภูมิใจไทย แม้ไม่ขวางนโยบาย แต่ก็ไม่ห้ามลูกพรรคแสดงความเห็น ฉะนั้นแม้ก่อนหน้านี้ “อนุทิน” จะออกมายืนยันเสียงแข็งดิจิทัลวอลเล็ตเป็นความรับผิดชอบร่วมกันภูมิใจไทย “ไม่ลอยแพ”
แต่ถึงเวลาจริง อาจต้องจับตาการโยนไพ่เพื่อ “ยื่นหมูยื่นแมว”ระหว่าง 2 พรรค เพราะต้องไม่ลืมว่า“ภูมิใจไทย”เองก็มี “เรือธงสีน้ำเงิน” ที่จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยพรรคร่วมรัฐบาล นั่นคือ“นโยบายกัญชา”
ไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณจากฝั่งเพื่อไทยในฐานะเจ้ากระทรวง “ชลน่าน ศรีแก้ว” รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ฉบับใหม่ เพื่อส่งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาของ ครม.
ถอดเวิร์ดดิ้ง “หมอชลน่าน” ที่ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ แตกต่างจากเดิมพอสมควร โดยฉบับนี้ยึดตามหลักการของนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา
คำถามคือ แล้วร่าง พ.ร.บ.กัญชา“เวอร์ชันภูมิใจไทย” จำนวน 94 มาตรา ที่เคยเสนอเข้าสู่สภาชุดที่แล้ว แต่แท้งคาสภาในวาระ 2 และภูมิใจไทยก็เตรียมปัดฝุ่นเสนอเข้าสู่สภาเช่นเดียวกัน ดังนั้น 2 ร่างนี้ จะถูกนำไปพิจารณาร่วมกันด้วยหรือไม่
ฉะนั้น เมื่อฝั่งหนึ่งมี “เรือธงแดง” ขณะที่อีกฝั่งมี “เรือธงน้ำเงิน” แน่นอนว่า ย่อมต้องจับตาไปที่อำนาจต่อรองระหว่าง 2 พรรคทั้ง“เพื่อไทย”และ“ภูมิใจไทย”ว่าจะเอายังไงดีกันครับนาย!
ยังไม่รวมปมร้อนวัดใจระหว่าง “เพื่อไทย” และ “ภูมิใจไทย” โดยเฉพาะคดีถือครองหุ้นของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กรณียังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญ คอนสตรัคชั่น ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี อันเข้าข่ายขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยในวันที่ 17 ม.ค.นี้
ต้องจับตาไปที่การเปิดดีลต่อรองในระดับ“ซูเปอร์บิ๊กเนม” เหนือเบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้า ที่อาจเป็นอีกหนึ่งเกมต่อรอง ยื่นหมูยื่นแมวระหว่าง 2 พรรค
นอกจาก “เพื่อไทย” และ“ภูมิใจไทย” แล้ว อีกหนึ่งพรรคร่วมฯ ที่ต้องจับตา หนีไม่พ้น “รวมไทยสร้างชาติ” ที่ยามนี้ยังคงนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว
อย่างที่รู้กัน เวลานี้มีความพยายามในการหยิบยกเหตุผลในแง่ของข้อกฎหมายในการเข็นแจกหมื่น ที่แม้กฤษฎีกาไม่ได้ฟันธงว่าทำได้หรือไม่
แต่หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ ก็อาจสุ่มเสี่ยงที่จะทำมาสู่การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความในภายหลัง และอาจซ้ำรอย “ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท”เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกจากปัญหาความขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ
“แกนนำ รทสช.” ที่เวลานี้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ก็เคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์ และเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แถมเป็นตัวตั้งตัวตีในการยื่นตีความ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเสียด้วยซ้ำ จึงต้องลุ้นกันว่า “รวมไทยสร้างชาติ” จะเลือกเล่นบทบาทไหน หรือ“เดินหมาก”ตัวใดหลังจากนี้
ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆเวลานี้กำลังเช็กทิศทางลม พร้อมรอสัญญาณของผู้มากบารมีของแต่ละพรรคว่าจะเอาอย่างไรหลังจากนี้
จาก“เรือธงแดงแจกหมื่น” ที่พรรคเพื่อไทยหมายมั่นปั้นเป็นผลงานชิ้นโบแดง รัฐบาลมีเดิมพันสูงลิบ ที่ต้องฝ่าด่านไปให้ได้ แต่ทำไปทำมา กลับกลายเป็นพลุสัญญาณ การสร้าง “อำนาจต่อรอง” ในขั้วรัฐบาลเสียเอง !!