'อนุทิน' สั่งจับตาสอบ ขรก.ท้องถิ่น ถ้าเจอทุจริตฟันไม่เลี้ยง
'อนุทิน' จ่อฟันไม่เลี้ยง ถ้าพบการทุจริตสอบ ขรก.ท้องถิ่น สั่ง สถ.ผนึกกำลังร่วม ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ปปง. ตรวจสอบเข้ม ทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส จับตาใกล้ชิดปมเปลี่ยนตัวผู้จัดสอบ คาดโทษผิดแม้จุดเดียว เจ้าหน้าที่กรม มหาวิทยาลัย ผู้เข้าสอบ โดนแพ่ง-อาญา-วินัย ไม่เว้น
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 ที่กระทรวงมหาดไทย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้ให้นโยบายกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลกระบวนการการสอบคัดเลือกบุคลากร เข้ารับราชการในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่กำลังจะเปิดรับสมัครสอบเข้าแข่งขันในปี 2567 จะต้องปลอดการทุจริต โดยเน้นย้ำว่ากระทรวงมหาดไทยจะร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบการสอบครั้งนี้อย่างเข้มงวด และตรวจสอบเส้นทางการเงินผู้เกี่ยวข้อง และผู้มีประวัติเรียกรับผลประโยชน์และหากพบว่ามีการกระทำผิดจริงจะดำเนินคดีทั้งทางแพ่ง และอาญากับทุกรายไม่มีละเว้น
"ท่าน รมว.มหาดไทย ได้รับรายงานจากผู้เกี่ยวข้องว่า ในอดีตมีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบในหลายจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนถูกหลอกจำนวนมาก มีการฟ้องร้อง เป็นคดีอยู่ในศาลหลายคดี มีผู้เสียหายจำนวนมาก ในการสอบครั้งนี้จึงได้ให้นโยบายอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (สถ.) ว่าต้องตรวจสอบ และหามาตรการป้องกัน ไม่ให้มีการเรียกรับเงิน ไม่ให้ผู้เข้าสอบถูกหลอก เหมือนอดีตที่ผ่านมา และต้องมีมาตรการที่จะกำกับดูแลการจัดสอบให้เป็นด้วยความสุจริต ทุกขั้นตอน" น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การสอบครั้งนี้ มีปัญหาตั้งแต่การคัดเลือกผู้ดำเนินการจัดสอบ เคยทำสัญญากับรายหนึ่ง แล้วก็ยกเลิกไป ต่อมามีการคัดเลือกผู้จัดสอบใหม่ได้อีกรายหนึ่งมาเป็นผู้จัดสอบ ซึ่งการเกิดกรณีเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะต้องมีการพิจารณาให้ดีๆ ตั้งแต่เหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงว่าได้มีการวางมาตรการกำกับดูแลกันที่ดีพอหรือยัง และขอเน้นย้ำว่าหากพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ผู้เกี่ยวข้องทุกขั้นตอนต้องร่วมกันรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งทางแพ่ง อาญา และโทษวินัย ตั้งแต่ผู้ดำเนินการให้มีการสอบ คือกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น มหาวิทยาลัยผู้รับจ้างจัดการสอบ ผู้เข้าสอบผู้เรียกรับเงิน และผู้ประกาศผลสอบ
“ท่าน รมว มหาดไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะการสอบคัดเลือกเข้ารับราชการ หากมีการทุจริต เท่ากับเป็นการตัดโอกาสทางราชการ จะได้รับคนดี มีความสามารถเข้าทำงาน และ ผู้มีส่วนร่วมกับการทุจริต เป็นขบวนการที่เอาเปรียบประชาชนผู้สอบและครอบครัว สำคัญที่สุดคือเป็นการทำลายศักดิ์ศรีข้าราชการ การเข้าสู่ตำแหน่งทุกตำแหน่ง ต้องใช้ความรู้ความสามารถเป็นกุญแจดอกแรกไขเข้ามาไม่ใช่ใช้เงิน มาซื้อตำแหน่ง ในยุคที่ผมเป็น รมว.มหาดไทย ต้องไม่มีการซื้อขายตำแหน่ง ใครทำ หากตรวจสอบพบต้องลงโทษสูงสุดเท่าที่กฎหมายกำหนด ไม่มีลดหย่อนผ่อนโทษ ไม่มีบรรเทาโทษ ไม่มีละเว้น ทุกคนที่ร่วมดำเนินการต้องรับโทษ ไม่มีเว้นผู้เข้าสอบที่พบว่ามีการทุจริต จะตัดสิทธิการสอบเข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ตลอดชีวิต หากเข้ามาแล้ว ต่อมาพบว่ามีการกระทำทุจริตการสอบ จะต้องยกเลิกผลการสอบ และต้องได้รับโทษ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวอีกว่า รมว.มหาดไทย ได้ให้นโยบายด้วยว่าการออกข้อสอบในปีนี้ขอให้เป็นไปตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย คือต้องมีข้อสอบวัดความรู้ ประวัติศาสตร์ชาติไทยจิตสำนึกความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เสริมสร้างความภาคภูมิใจที่เป็นคนไทย รักศักดิ์ศรีข้าราชการ อย่างน้อย 30% ของข้อสอบ และจะต้องรับผู้ที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และเมาแล้วขับ ทุกกรณีเข้าสู่ราชการอย่างเด็ดขาด
น.ส.ไตรศุลี กล่าวด้วยว่า ในการเปิดสอบข้าราชการในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละปีจะมีผู้สมัครประมาณ 6 แสนคน เข้าสอบประมาณ 4 แสนคน มีการจัดสอบกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีผู้ผ่านการสอบประมาณ 18,000-20,000 คน แต่ล่าสุดได้มีประชาชนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกับ รมว.มหาดไทยว่าได้มีการเรียกรับผลประโยชน์จากการสอบ ประชาชนที่ต้องการให้ลูกหลานเข้ารับราชการต้องเสียเงิน 5-8 แสนบาท ซึ่งทำให้ประชาชนที่มีความสามารถเดือดร้อน ขณะที่ราชการก็เสียหาย
“ข้าราชการกระทรวงมหาดไทย ประชาชน และ ผู้เข้าสอบท่านใดที่มีข้อมูล เบาะแสการเรียกรับเงิน การทุจริต ขอให้แจ้งมาที่ เลขานุการ รมว.มหาดไทย เพื่อป้องกันการทุจริต รักษาประโยชน์ทางราชการ และรักษาศักดิ์ศรีของข้าราชการกระทรวงทหาดไทยอีกทางหนึ่งด้วย” น.ส.ไตรศุลี กล่าว