ถอดรหัส'กฤษฎีกา' กั๊กสองทาง วัดใจรัฐบาล ลุยไฟแจกหมื่น
“รัฐบาลต้องอธิบายตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ อาทิ จำนวนคนตกงาน คนว่างงาน รายได้ เงินหมุนในระบบ หากไม่ดำเนินโครงการแจกหมื่นดิจิทัลให้ได้ และต้องเป็นตัวเลขที่ไม่ปั้นแต่งขึ้นมา"
Key points :
- คำตอบของ "กฤษฎีกา" ไม่ฟันธงทางออกให้กับรัฐบาล ว่าควรจะออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท
- ทำให้ "รัฐบาล" ต้องเลือกทางเดินเอง หากจะเดินหน้าโครงการต่อไป โดยทั้ง 2 ทาง มีความเสี่ยงแตกต่างกัน
- "กฤษฎีกา" ยืนยันว่าไม่ได้ไฟเขียวให้รัฐบาลดำเนินการ เพียงแต่ให้ข้อเสนอแนะ โดยให้ยึดมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง
- จุดสำคัญที่สุดคือรัฐบาล ต้องอธิบายให้ได้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเกิดวิกฤต จนต้องกู้เงินมาดำเนินโครงการจริงหรือไม่ โดยต้องมีตัวเลขประเมินการณ์จริง ไม่ปั้นตัวเลขขึ้นมา
คำตอบของ “คณะกรรมการกฤษฎีกา” กรณีการออกพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ยังไม่การันตีว่า รัฐบาลเศรษฐา จะเดินหน้าแจกหมื่นได้อย่างไร้อุปสรรค
เนื่องจาก “กฤษฎีกา” ไม่ฟันธงว่ารัฐบาลควรออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ถึงจะไม่ผิดกฎหมาย เพียงแต่กั๊กเอาไว้ว่ารัฐบาลสามารถดำเนินการอย่างใดก็ได้ เพราะถือเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เหมือนกัน
เมื่อไม่มีความชัดเจนจากมือขวาด้านกฎหมาย ต้องวัดใจ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ รมว.คลัง และมือกฎหมายของพรรคเพื่อไทย จะเลือกทางใด เพราะนโยบายแจกหมื่นดิจิทัล ต้องเดินต่อตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
หากเลือกแนวทางออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ก็จะเป็นไปตามแผนของ รัฐบาล-เพื่อไทย เพราะต้องการใช้สภาฯ เป็นหลังพิง เผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้ หากมีมือดียื่นร้อง"องค์กรอิสระ - ศาล" สภาฯจะร่วมกันรับผิดชอบ ที่สำคัญหากร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบของสภาฯ โอกาสที่จะต่อสู้ทางคดีย่อมมีน้ำหนักมากกว่า
รัฐบาลเลือกเองออก พ.ร.บ. - พ.ร.ก.
แต่อุปสรรคหลักของการออก พ.ร.บ.จะไม่เข้าข่ายวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ต้องเร่งรีบในการใช้จ่ายเงิน เพราะจะมีขั้นตอนการออกกฎหมาย ซึ่งตั้งต้นจากรัฐบาล ส่งต่อให้สภาฯพิจารณา 3 วาระ ก่อนจะออกกฎหมาย และกว่าจะเบิกจ่ายเงิน ซึ่งจะนำมาสู่ข้อถกเถียงว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเกิดวิกฤติจริงหรือไม่
หาก เศรษฐา-เพื่อไทย เลือกการออก พ.ร.บ. จะเข้าทางบรรดา “นักร้อง” ที่จ้องจะจับผิดโครงการแจกหมื่นดิจิทัลอยู่แล้ว จะมีข้อโต้แย้งทันทีว่าการออก พ.ร.บ. ไม่เท่ากับวิกฤติ เพราะหากวิกฤติต้องออก พ.ร.ก.
ขณะเดียวกัน หากเลือกแนวทางออก พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท แน่นอนว่าตอบโจทย์คำถามปมวิกฤติ แต่รัฐบาลจะไร้หลักพิง หากโดนร้องเรียนคดีจะพุ่งมาที่ “ครม.” โดยไม่มีกันชน และจะนำพาไปสู่จุดเสี่ยงทางการเมือง
บทเรียนจากโครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งไม่สนใจข้อแจ้งเตือนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้จะแตกต่างจากกรณีของ “กฤษฎีกา” แต่อาการกั๊กทำให้ รัฐบาล-เพื่อไทย ไม่มั่นใจ
อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลคือการพิสูจน์ให้ได้ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤติ จนต้องออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านบาท หากไม่การตีความ “วิกฤติ” ยังมีความแตกต่างกันก็จะเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะมีความชอบธรรม
ต้องหา
“ปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งสัญญาณชัดเจนว่า “ให้รัฐบาลดำเนินการตามเงื่อนไขตามกฎหมายที่กำหนดไว้ในมาตรา 53 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 และบอกว่าคงจะต้องรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้เท่านั้นเอง เพราะเรื่องนี้ต้องอาศัยตัวเลขที่เป็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์”
ถอดรหัสจากปากของ “ปกรณ์” สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการคือ การชี้แจงตัวเลขทางเศรษฐกิจ พร้อมมีตัวเลขเชิงประจักษ์ในทุกด้าน เพื่อยืนยันกับทุกภาคส่วน
แหล่งข่าวจากกฤษฎีกา ระบุว่า “รัฐบาลต้องอธิบายตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจ อาทิ จำนวนคนตกงาน คนว่างงาน รายได้ เงินหมุนในระบบ หากไม่ดำเนินโครงการแจกหมื่นดิจิทัลให้ได้ และต้องเป็นตัวเลขที่ไม่ปั้นแต่งขึ้นมา ต้องเป็นตัวเลขที่มีความเป็นไปได้จริง ไม่เช่นนั้นการดำเนินโครงการจะมีปัญหา”
“การออกกฎหมายไม่ว่าจะออกเป็น พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก. ไม่ใช่ตัวชี้ขาด เพราะถือเป็นกฎหมายเหมือนกัน อยู่ที่ความจำเป็นเร่งด่วน และต้องดำเนินการเพราะจะเกิดวิกฤตจริงหรือไม่” แหล่งข่าว ระบุ
เมื่อคำถามส่งถึง “กฤษฎีกา” ผ่านมาเกือบ 2 เดือนเหมือนจะไร้คำตอบ จึงต้องวัดใจ “รัฐบาล” จะเลือกแนวทางไหน เพราะเหมือนจะมีกับดักวางเอาไว้อยู่
แม้ “เพื่อไทย” จะกลายร่างมาร่วม “ขั้วอนุรักษนิยม” แต่สถานการณ์ทางการเมืองเอาแน่นอนไม่ได้ เพราะ “คนคุมเกม” ยังต้องสร้างเงื่อนไขกุมความได้เปรียบเอาไว้