คำเตือน ปปช. ‘จำนำข้าว’ ถึง ‘เงินดิจิทัล’ บทเรียน ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’

คำเตือน ปปช. ‘จำนำข้าว’ ถึง ‘เงินดิจิทัล’ บทเรียน ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’

ในส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัล ยังอยู่ระหว่าง “เริ่มนับ 1” เพราะฉะนั้น “รัฐบาลเศรษฐา” ยังมีเวลา “ทบทวน” หรือ “เปลี่ยนแปลง” ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แต่หากยังไม่ยอมรับฟัง ผลักดันโครงการในรูปแบบเดิม อนาคตอาจจะ “ร้อน ๆ หนาว ๆ” ก็เป็นได้

KeyPoint:

  • ป.ป.ช.เคยส่งคำเตือนถึงโครงการประชานิยมใน "รัฐบาลเพื่อไทย" มาแล้ว 2 ครั้ง คือ "จำนำข้าว" และ "เงินดิจิทัล"
  • สาระสำคัญเห็นตรงกันคือ ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิด "ทุจริตเชิงนโยบาย" จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับเปลี่ยน หรือทบทวนโครงการดังกล่าว มิให้กระทบการเงินการคลัง และมีมาตรการป้องกันคอร์รัปชัน
  • เมื่อปี 2557 "ยิ่งลักษณ์" ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายโครงการจำนำข้าว ส่วนปี 2562 "เศรษฐา" ถูกตั้งคำถามถึงนโยบาย "แจกเงินดิจิทัล" ว่าจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่

“ไม่ตรงปกกับนโยบายที่หาเสียงไว้” คือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน ขีดเส้นใต้เอาไว้

โดยความคืบหน้าปัจจุบัน คณะกรรมการศึกษาโครงการแจกเงินดิจิทัลฯ ของ ป.ป.ช. ได้จัดทำ “ร่างข้อเสนอแนะ” เสร็จแล้วเรียบร้อย โดยจะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อพิจารณา ก่อนจะมีมติส่งไปยัง “รัฐบาลเศรษฐา

1.ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริต เช่น ประเด็นความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย เนื่องจากดำเนินนโยบายไม่ตรงปกกับที่หาเสียงไว้ หาเสียงโดยไม่มีความพร้อม ไม่ได้พิจารณาปัจจัยต่าง ๆ อย่างรอบคอบ เป็นกรณีตัวอย่างการหาเสียงที่มีลักษณะสัญญาว่าจะให้ อาจขัด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 มาตรา 73 (1) หรือมาตรา 136 วรรคหนึ่ง เสี่ยงผู้ได้รับผลประโยชน์โครงการ อาจเอื้อต่อบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใดได้ รวมถึงอาจเกิดการรับจ้างลงทะเบียนลักษณะ นอมินี หรือสมคบคิดกันทุจริตระหว่างผู้ประกอบการ กับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ ยังไม่มีกฎเกณฑ์หรือมาตรการป้องกันการทุจริตอย่างเป็นรูปธรรม

2.ประเด็นความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น ข้อมูล ข้อเท็จจริง ตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจ ไม่ได้บ่งชี้ว่าไทยอยู่ในสภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจ จากการศึกษาเชิงประจักษ์ของ กนง. พบว่า ตัวทวีคูณทางการคลัง ในกรณีมาตรการเงินโอนให้ประชาน มักต่ำกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุนโดยตรงของรัฐบาล รวมถึงอาจเกิดผลกระทบสำคัญการคลัง เช่น ดอกเบี้ยหนี้สาธารณะเพิ่ม 15,800 ล้านบาท/ปี หนี้สาธารณะต่อ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 เป็นต้น

3.ประเด็นความเสี่ยงด้านกฎหมาย เช่น อาจขัดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ หลายมาตรา เช่น มาตรา 71, 75 ที่รัฐต้องคำนึงถึงความจำเป็นและความต้องการที่แตกต่างกันของเพศและวัย มาตรา 140 ที่รัฐต้องรักษามาตรฐานด้านวินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วน เพื่อแก้วิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทันหรือไม่ อย่างไร

คำเตือน ปปช. ‘จำนำข้าว’ ถึง ‘เงินดิจิทัล’ บทเรียน ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’

4.ประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมีจุดอ่อน คือเป็นระบบที่ไม่สามารถป้องกันการทุจริตได้ ควรกลับไปใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เพราะเป็นระบบที่มีสถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการทำธุรกรรม ตรวจสอบได้ ประเด็นเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรตรวจสอบนโยบายให้ครบถ้วน และต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ เพื่อสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย

โดย ป.ป.ช.มีข้อเสนอแนะ 8 ข้อ สรุปสาระสำคัญเน้นย้ำเรื่อง “ทุจริตเชิงนโยบาย” กังวลว่า “ผลประโยชน์” ในการทำโครงการแจกเงินดิจิทัล จะตกไปอยู่กับคนบางกลุ่ม หรือพรรคการเมืองบางพรรค มากกว่าประชาชนส่วนรวม 

นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้น “วิกฤติ” เพราะฉะนั้นรัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนกว่าการทำโครงการนี้ รวมถึงการใช้พัฒนาผ่าน “บล็อกเชน” ที่มีช่องโหว่ไม่มีมาตรการป้องกันการทุจริต ควรใช้แอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่มีสถาบันการเงินของรัฐรองรับ ตรวจสอบได้มากกว่า ขณะเดียวกัน ครม.ต้องประเมินความเสี่ยงให้รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่อง “ข้อกฎหมาย” ที่เข้าข่ายขัดกับรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายลูกด้านการเงินการคลัง หลายมาตราด้วยกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี นี่มิใช่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช.เคยมีมาตรการนำเสนอต่อรัฐบาลมาแล้วหลายครั้ง เช่น รัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ในการทำโครงการประกันราคาข้าว และสมัย “รัฐบาลนารีขี่ม้าขาว” ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการทำโครงการรับจำนำข้าว 

แต่สิ่งที่เหมือนกันในยุค “รัฐบาลเศรษฐา-รัฐบาลยิ่งลักษณ์” คือ ป.ป.ช.เน้นย้ำความเสี่ยงของโครงการ “จำนำข้าว-แจกเงินดิจิทัล” ประเด็น “ทุจริตเชิงนโยบาย” เป็นหลัก

โดยในยุค “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ป.ป.ช.เคยทำหนังสือเมื่อ เม.ย. 2555 นำเรียน “นายกฯยิ่งลักษณ์” โดยตรง โดยมีข้อเสนอแนะ และข้อทักท้วงในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก

สรุปสาระสำคัญได้ว่า การทำโครงการจำนำข้าว จะก่อให้เกิดการทุจริตอย่างมหาศาลในทุกขั้นตอน โดยมีสาระสำคัญคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ทำการศึกษา ติดตาม และเฝ้าระวังการทุจริต สืบเนื่องมาจากการดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวข้าวเปลือกอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง 

โดยได้เชิญผู้แทนจากส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนจากองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายข้าวและส่งออก มาชี้แจง ให้ข้อเท็จจริง รวมทั้งพิจารณาจากพฤติการณ์ ที่ปรากฎต่อสาธารณะทางสื่อมวลชนต่างๆ แล้วพบว่า การดำเนินตามนโยบายของรัฐบาลในการรับจำนำข้าวเปลือก ยังคงก่อให้เกิดปัญหาด้านต่าง ๆ อย่างมากมายดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการทุจริตทั้งในเชิงนโยบาย และในส่วนของขั้นตอน และกระบวนการในการดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ดี หากรัฐบาลยังคงต้องดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป เนื่องจากเป็นนโยบายหลักที่สำคัญ ซึ่งได้หาเสียงไว้กับประชาชนและแถลงต่อรัฐสภา เพื่อให้การดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกบังเกิดประโยชน์และเป็นธรรมแก่เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวจริงและสุจริต  

รวมทั้งเป็นการป้องกันการทุจริตและป้องกันมิให้ดำเนินการโครงการรับจำนำข้าวเปลือกก่อให้เกิดความสูญเสียด้านงบประมาณที่อาจจะเกิดขึ้นได้ 

จึงมีข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. เช่น การขึ้นทะเบียนและรับรองเกษตรกร การไม่บิดเบือนกลไกตลาด การระบายข้าวสารจากคลังของรัฐอย่างโปร่งใส การติดตามและประเมินผลโครงการ เป็นต้น

สุดท้ายปลายทางของ “รัฐบาลนารีขี่ม้าขาว” ก็สิ้นสุดลง ด้วยปัจจัยสำคัญคือการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ป.ป.ช.มีการชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์” พ่วงด้วยรัฐมนตรี-ข้าราชการ-เอกชนที่เกี่ยวข้องกราวรูด

แบ่งเป็น กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก “ยิ่งลักษณ์” 5 ปี แต่เธอหลบหนีไปต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน

ส่วนบรรดารัฐมนตรี-ข้าราชการ-เอกชนที่เกี่ยวข้องถูกจำคุกระนาวในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เสียหายหลายหมื่นล้านบาท นี่ยังไม่รวมคดี “ระบายข้าวจีทูจีภาค 2” ที่ ป.ป.ช.มีมติชี้มูลผิดไปอีกหลายคน แต่ยกคำร้องกล่าวหา “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ (อดีต สส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย น้องสาวทักษิณ)” เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอเอาผิด

นี่คือบทสรุปในคดีเกี่ยวกับความผิด “ทุจริตเชิงนโยบาย” ซึ่งปลายทางก็อย่างที่เห็นและเป็นอยู่  

ในส่วนโครงการแจกเงินดิจิทัล ยังอยู่ระหว่าง “เริ่มนับ 1” เพราะฉะนั้น “รัฐบาลเศรษฐา” ยังมีเวลา “ทบทวน” หรือ “เปลี่ยนแปลง” ตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แต่หากยังไม่ยอมรับฟัง ผลักดันโครงการในรูปแบบเดิม อนาคตอาจจะ “ร้อน ๆ หนาว ๆ” ก็เป็นได้