'รังสิมันต์' จี้ 'รบ.' แสดงบทบาทสร้าง 'ปชต.'ในเมียนมาร์
"สภาฯ" รับญัตติศึกษาแนวทางแก้ปัญหาผู้หนีภัย จาก "เมียนมาร์" ด้าน "รังสิมันต์" ชง 4 ข้อเสนอ จี้ "รัฐบาล" โชว์บทบาทส่งเสริมประชาธิปไตยในเมียนมาร์
ในการประชุมสภาฯ ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาญัตติ เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีผู้ลี้ภัยจากการสู้รบในพื้นที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งในประเทศไทยและผู้หนีภัยจากการสู้รบตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาร์ ซึ่งมีผู้เสนอญัตติในทำนองเดียวกัน 3 ญัตติ ทั้งนี้เป็นการพิจารณาต่อเนื่องจากการประชุมสภาฯ ครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้หลังการอภิปรายครบถ้วน ที่ประชุมได้ส่งญัตติประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาฯ ให้พิจารณาศึกษา 90 วัน
ทั้งนี้ในช่วงหนึ่งของการอภิปราย นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า สำหรับปัญหาชายแดนที่เกิดขึ้น ทั้งกรณีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือ ปัญหาการสู้รบที่ล้าวก่าย เมียนมาร์ พบว่า นายเศรฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง ไม่เข้าใจในทิศทางของความมั่นคง และไม่ได้หยิบยกการแก้ปัญหาประเด็นดังกล่าว ซึ่งตนฐานะประธาน กมธ. ความมั่นคงแห่งรัฐฯ ได้ทำงานอย่างจริงจัง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายรัฐบาล โดยขณะนี้สิ่งที่ต้องการมากที่สุด คือ เจตจำนงทางการเมือง ที่รัฐบาลไม่มี
นายรังสิมันต์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการแก้ปัญหาชายยแดนจากประเด็นผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมา ตนมีข้อเสนนอไปยังรัฐบาล คือ 1.ให้ผู้หนีภัยมีโอกาสได้ทำงานอย่างถูกกฎหมาย เนื่องจากไทยเข้าสู่ภาวะขาดแคลนแรงงานจากสังคมสูงวัย ดังนั้นต้องให้ผู้หนีภัยยมาช่วยสร้างชาติไทย โดยต้องรับรองให้ผู้หนีภัยทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีรายได้เพียงพอเลี้ยงชีพ ไม่มีการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่
2.ต้องต้องเปิดพรมแดนไทย- เมียนมาร์ เพื่อให้ผู้หนีภัยสู้รบ มีพื้นที่ปลอดภัยในประเทศไทย มีการลงทะเบียนอย่างถูก รวมถึงต้องปิดช่องว่างไม่ให้สิ่งไม่ถูก หรือ สิ่งผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนั้นต้องสร้างแนวร่วมกับประเทศต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้หนีภัยการสู้รบ ซึ่งสิ่งดังกล่าวตนทราบว่าาไม่ง่าย ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก แต่หากได้นายกฯที่มีวิสัยทัศน์การสร้างแนวร่วมดังกล่าวทำได้
3.ให้โอกาสผู้หนีภัยการสู้รบเข้าถึงการศึกษา เพื่ออให้มีวิชาชีพติดตัว ทั้งความรู้ทางวิชาการ วิชาชีพ เพื่อให้มีโอกาสหางานทำรวมถึงพิจารณาให้สัญชาติเด็กที่เกิดในศูนย์ผู้ลี้ภัย โดยอาจวางหลักเกณฑ์ที่มั่นใจว่าสอดคล้องกับความมั่นคงของไทย หากทำสำเร็จจะมีทรัพยากรแรงงาน และกลุ่มบุคคลที่ไม่ทำผิดกฎหมาย รวมถึงการพัฒนาชายแดนยั่งยืน
4.พิจารณาบทบาทของประเทศไทย ต่อการแก้ปัญหาวิกฤตในเมียนมาร์ เพราะประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีส่วนได้เสียเนื่องจากมีพรมแดนติดกันกว่า 2,400 กม. ดังนั้นเชื่อว่าประเทศไทยต้องการแบกรับผู้หนีภัยสู้รบต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้นต้องส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาร์ที่สร้างสรรค์ โดยผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีบทบาทชัดเจน ดังนั้นถือเป็นโอกาสส่งเสริมให้เกิดสันติภาพในเมียนมาร์
และ 5.แก้ไขหลักการปฏิบัติของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อให้เตรียมพร้อมต่อการรับผู้หนีภัย ซึ่งปัจจุบันรองรับได้ 7.5หมื่นคน หากแก้ไขใหม่เพื่อเตรียมพร้อม เชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤต ที่อนาคตอาจมีคนนับแสน อพยพหนีภัยสู้รบมายังประเทศไทย หากไม่พร้อม จะกลายเป็นโศกนาฎกรรม
ขณะที่นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ตนยืนยันว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรมว.คลัง รวมถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าใจถึงปัญหาในเมียนมาร์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี ซึ่งกรณีที่นายกฯ ประชุมที่ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้น มีการประชุมเคียงข้างในประเด็นเมียนากับหลายประเทศ ดังนั้นเชื่อว่านายกฯ จะแถลงความคืบหน้าทันทีที่เดินทางกลับประเทศไทย
นายนพดล อภิปรายด้วยว่าสำหรับการแก้ปัญหาในเมียนมาร์ ต้องใช้หลักการทางการทูต การติดต่อและโน้มน้าวให้เขาแก้ปัญหาผ่านการพูดคุยโดยไม่มีการใช้ความรุนแรง ซึ่งกรณีดังกล่าวต้องใช้เวลา เพราะการใช้เทคนิคทางการทูตไม่สามารถสำเร็จได้เพียงการพูดคุยในครั้งแรก
“การแก้ปัญหานั้นต้องทำให้เกิดเสถียรภาพและเอกภาพในเมียนมาร์ เพื่อไม่ให้เกิดการอพยพ ทั้งนี้ผู้หนีภัยสงครามต้องใช้ความปรารถนาดีต่อกันเพื่อแก้ปัญหา ทั้งนี้ผมมองว่าสำหรับผู้หนีภัยในค่ายอพยพต้องได้รับการปลดทุกข์ ในด้านความมั่นคง สิทธิมนุษยชน เด็กต้องได้เรียนหนังสือ คนในวัยทำงานต้องได้โอกาสทำงาน รวมถึงต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพตามสิทธิขั้นพื้นฐาน” นายนพดล อภิปราย