‘ทักษิณ-ภท.’จุดพลิกดุลอำนาจ พักโทษ'นายใหญ่'-ยุบพรรคสีน้ำเงิน‘เกมล้างไพ่’
สัญญาณ"พักโทษ" นายใหญ่เพื่อไทย คืน "จันทร์ส่องหล้า" -บ่วงร้อน"ยุบภูมิใจไทย" สู่ "เกมล้างไพ่" จังหวะการเมืองพลิก-ดุลอำนาจเปลี่ยน จับตา "เศรษฐา" ฝ่าสารพัดมรสุม เดิมพันเก้าอี้ "นายกฯ" ครบเทอม?
Key Points:
- “ดุลอำนาจภูมิใจไทย” ซึ่งถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมของบรรดา “ซุ้มบ้านใหญ่” อาจถึงคราวถ่ายเลือดเจน3
-
“ดุลอำนาจในรัฐบาล” จากผลคำวินิจฉัยที่ “ศักดิ์สยาม” จะต้องรอเวลาอีก 2 ปี ต้องจับตาไปที่ “โควตารัฐมนตรี” ท่ามกลาง “เกมต่อรอง” ในขั้วรัฐบาล
-
อิสรภาพ “ทักษิณ” คืน “จันทร์ส่องหล้า” จุดปลี่ยน “ดุลอำนาจเพื่อไทย-ดุลอำนาจขั้วรัฐบาล-ดุลอำนาจนายกฯ” ?
“อาฟเตอร์ช็อก” จากคดี “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตรมว.คมนาคม และอดีตเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติ7ต่อ1 วินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบ มาตรา 82 จากคดีซุกหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ไม่เพียงแต่จะส่งผลไปถึงพรรคภูมิใจไทย ที่อาจติดบ่วงลามไปถึง “ยุบพรรค” ตามบทบัญญัติพ.ร.ป.พรรคการเมืองมาตรา72 แต่เพียงเท่านั้น แต่มีการจับตาไปถึง “อำนาจต่อรอง” ในซีกรัฐบาลในฐานะพรรคลำดับ2 ที่อาจเปลี่ยนไปหลังจากนี้หรือไม่
เช็กสัญญาณฝั่ง “ภูมิใจไทย” เวลานี้ แม้ “แกนนำ” จะประเมินว่า “คดียุบพรรค” ยังอีกยาวไกลเผลอๆอาจล่วงเลยเป็นปี
หรือแม้แต่การนำกรณียุบพรรคภูมิใจไทย ไปเทียบเคียงกับการ “ยุบพรรคอนาคตใหม่” จากกรณีที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับพรรคอนาคตใหม่
“แกนนำ” พยายามหักล้างว่า กรณีของพรรคอนาคตใหม่ ผู้ให้กู้คือ “ธนาธร” ซึ่งมีสัญญาปกปิด มีการกู้เงินอย่างตรงไปตรงมา
แต่ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคคือ มีการเก็บดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติทางการค้า และมองว่าการบริจาคเงินเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จึงถือว่า เงินของพรรคอนาคตใหม่ในครั้งนั้น ได้มาโดยมิชอบ จึงมีโทษไปถึงการยุบพรรค
- ปมร้อน"ยุบพรรค" ลุ้นตายเดี่ยว-ตายหมู่
แต่กรณี “ศักดิ์สยาม” ภูมิใจไทยพยายามแก้ต่างว่า ไม่ได้ใช้ชื่อ “ศักดิ์สยาม” ในการบริจาค แต่เป็นการนำเงินบริจาคจากบริษัทของตนมาให้กับพรรค โดยมีนอมินีถือแทน(ภูมิใจไทยอาจอ้างว่าไม่รู้มาก่อน)
ฉะนั้นจะเป็นเงินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนทำให้ไปถึงขั้นยุบพรรคหรือไม่ ก็ยังต้องไปสู้กันหลายยก
แต่ก็ใช่ว่า “บิ๊กสีน้ำเงิน” จะวางใจได้อย่างสนิท ในทางการเมืองอะไรที่ว่ามั่นใจก็อาจกลายเป็นตรงกันข้าม ยิ่งเป็น “คดียุบพรรค” ด้วยแล้วแน่นอนว่า ชี้เป็นชี้ตายทางการเมืองได้เลย ถ้ารอดก็รอดยกพรรค แต่ถ้าไม่รอดก็ลามทั้งพรรคเช่นกัน
โดยเฉพาะ “10กรรมการบริหารพรรค” เวลานี้มี2คนเป็นสส.ไม่ว่าจะเป็น อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค เป็นสส.บัญชีรายชื่อ และ ชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคและสส.อุทัยธานี หากที่สุดภูมิใจไทยถูกยุบ จะส่งผลให้กก.บห.จะติดโทษแบน10ปี
นั่นหมายความว่าเสียงภูมิใจไทยที่มี71เสียงก็จะหายไปอย่างน้อย2เสียง ยังไม่นับรวมบรรดาสส.ที่อาจแตกกระเซ็นไปยังพรรคต่างๆ
ฉะนั้นผลพวงจากคำวิจฉัยในคดีของศักดิ์สยาม แม้เวลานี้ยังต้องลุ้นว่าจะเลวร้ายไปถึงการ “ยุบพรรค” หรือไม่อย่างไร? แต่แน่นอนว่ากรณีที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการแรงกระเพื่อมในหลายประเด็นที่จะต้องจับตาหลังจากนี้
ประเด็นแรก “ดุลอำนาจภูมิใจไทย” ซึ่งถูกมองว่าเป็นแหล่งรวมของบรรดา “ซุ้มบ้านใหญ่” จากเดิมใช้สูตรดุลอำนาจ หัวหน้า-เลขาพรรค ระหว่าง “ชาญวีรกูล” และ “ชิดชอบ” ต้องจับตาไปที่การส่งต่อ “มรดกดุลอำนาจ” ซึ่งถึงที่สุดอาจ “เปลี่ยนสาย” หรือ “ถ่ายเลือด” ไปถึงรุ่น3
ไล่ดูแล้วพบว่า ตระกูล“ชาญวีรกูล” มี “เป๊ก”เศรณี ชาญวีรกูล ลูกชายอนุทิน เวลานี้ยังคงเดินในเส้นทางสายธุรกิจครอบครัว
- จับตาสภาวะ"ถ่ายเลือด" สีน้ำเงิน
ขณะที่ตระกูล“ชิดชอบ” มี “บิ๊กอุ้ม” พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ รวมถึง “นก” ไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายเนวิน ชิดชอบ ตีตั๋วผู้แทนบุรีรัมย์ เข้าสภาสมัยแรก
ที่ต้องจับตาคือ “ตระกูลรัชกิจประการ” เพราะอย่างที่รู้กันว่า การเลือกตั้งรอบที่ผ่านมาภาคใต้ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของพรรค
หรือแม้แต่การเลือกตั้งในอนาคต หากภูมิใจไทยยังเลือกที่จะเดินเกมปักธงด้ามขวาน โดยเฉพาะโซนอันดามัน โดยเฉพาะในยามที่พรรคคู่แข่งอาทิ พรรคประชาธิปัตย์อ่อนแอด้วยแล้ว แน่นอนว่า บทบาทของคนใน “ตระกูลรัชกิจประการ”ในฐานะแม่ทัพภาคใต้ย่อมต้องถูกจับตาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ที่ต้องจับตาในเวลาอันใกล้นี้แน่นอน คือตำแหน่งเลขาพรรค แทน “ศักดิ์สยาม” เวลานี้ปรากฏชื่ออาทิ ไชยชนก , พิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานกรรมการบริษัท บริษัท จีเอฟเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ พิบูลย์ รัชกิจประการ สส.สตูล คนใดคนหนึ่ง
หรือแม้แต่ ทรงศักดิ์ ทองศรี เพื่อรักนายใหญ่บุรีรัมย์ รองหัวหน้าพรรค ที่เวลานี้ ควบอีกตำแหน่งคือเหรัญญิกที่เปรียบเสมือนเป็น “กระเป๋าตังพรรค” ที่ต้องจับตาเช่นเดียวกัน
- เกมเขย่า"ดุลอำนาจรัฐบาล" เปลี่ยน?
ถัดมาประเด็นที่สอง คือ“ดุลอำนาจในรัฐบาล” อย่างที่รู้กันผลคำวินิจฉัยที่ออกมาจะส่งผลให้ “ศักดิ์สยาม” จะต้องรอเวลาอีก 2 ปี นับจากวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก่อนจะมีสิทธิ์กลับมาเป็นรัฐมนตรีได้อีกครั้ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 160 (8)
เป็นเช่นนี้ต้องจับตาไปที่ “โควตารัฐมนตรี” ทั้งในโควตา “ชิดชอบ” ที่ถูกถือครองแทนโดย “พล.ต.อ.เพิ่มพูน” พี่ชาย รวมไปถึงโควตาอื่นๆที่จะเกิด “เกมต่อรอง” สลับสับเปลี่ยนตำแหน่งหลังจากนี้ โดยเฉพาะบางกระทรวงที่อาจมีความเกี่ยวโยงกับนโยบายพรรคแกนนำ หรืออาจลามไปถึงมหาดไทยที่พรรคถือครอง
หากคิดยาวไปไปถึง “ช็อตยุบพรรค” แน่นอนว่าต้องคำนวณไปถึงจำนวนเสียงที่อาจจะหายไปหลังจากนี้เป็นได้
ยิ่งไปกว่านั้นจากผลพวงจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นมีการมองว่า ทำไปทำมาจะไม่ใช่แค่ภูมิใจไทยซึ่งถูกมองว่าเป็นเสาคำยันที่สำคัญของรัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น
แต่อาจลามเป็นเชื้อเพลิง “จุดชนวน” ไปถึงเกมชิงไหวชิงพริบใน “พรรคร่วมรัฐบาล” ในการสร้างอำนาจต่อรองไปในคราวเดียวกันอีกด้วย
- "ทักษิณ" คืน "จันทร์ส่องหล้า" สมการพลิก-นายกฯตัวจริงโผล่?
ขณะเดียวกันอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องจับตา เพราะอาจกลายเป็น “จุดพลิก” ที่สำคัญทางการเมือง นั่นคือ “อิสรภาพ” ของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี นายใหญ่เพื่อไทยตัวจริง ที่เตรียมหวนคืนบ้าน "จันทร์ส่องหล้า"
หลัง “สิทธิ สุธีวงศ์” รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และในฐานะโฆษกกรมราชทัณฑ์ ออกมายอมรับถึงการ “พักการลงโทษกรณีพิเศษ” พร้อมยอมรับ
“คุณสมบัติของทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัยและมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป)”
แม้เวลานี้กรมราชทัณฑ์ จะบอกว่า การเสนอพักโทษทักษิณยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา แต่หากไล่เรียงลำดับไทม์ไลน์ซึ่งมีการพูดถึงไปก่อนหน้านี้
ชัดเจนว่า “ทักษิณ” ได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยเหลือโทษจำคุกราว1ปีเศษ ซึ่งตามเกณฑ์“พักโทษ”ของกรมราชทัณฑ์ ระบุว่า “จะต้องเป็นนักโทษที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป มีภาวะป่วยชราภาพ และต้องโทษไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษจำคุก หรือต้องโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปขึ้นอยู่กับว่าอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า”
ฉะนั้นหากนับตั้งแต่วันที่เขาเดินทางกลับไทยและถูกนำตัวส่งศาลเมื่อวันที่22ส.ค. เขาจะเข้าเกณฑ์พักโทษในเดือนก.พ.2567หรืออีกราว1เดือนข้างหน้าสอดรับกับสัญญาณคนในตระกูลชินวัตร รวมถึงพลพรรค ณ ขณะนี้
อย่างที่รู้กันว่า ดุลอำนาจในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ ลึกๆแล้วมีศูนย์รวมที่เป็นเสมือนพระอาทิตย์4ดวง ดวงแรก คือ“เศรษฐา ทวีสิน”เบอร์หนึ่งตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล
ดวงที่สอง คือ“แพทองธาร ชินวัตร” หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ดวงที่สาม คือ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯสตรีหลังม่านพรรคเพื่อไทย และดวงที่สี่ เป็นใครไปไม่ได้นอกจากทักษิณ ในฐานะ“ผู้คุมเกมอำนาจตัวจริง”
เป็นเช่นนี้ย่อมชัดเจนว่า การคืนสู่อิสรภาพของ“ทักษิณ”ที่ออกสู่หน้าฉากคุมเกมด้วยตนเอง ย่อมนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนการเมืองครั้งสำคัญที่อาจไม่ใช่แค่ “ดุลอำนาจพรรคเพื่อไทย” แต่เพียงเท่านั้นแต่อาจรวมไปถึงดุลอำนาจใน “ขั้วรัฐบาล”
ไม่ว่าจะเป็นโฉมหน้า “ครม.เศรษฐา” อย่าลืมว่าเวลานี้ยังว่างอยู่2ตำแหน่งทั้งในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ ในโควตา “ไผ่ ลิกค์”ที่ติดปัญหาการตีความคุณสมบัติ เช่นเดียวกันโควตาพรรคเพื่อไทย ในส่วนของ“พิชิต ชื่นบาน” ที่เกิดปัญหาเดียวกัน
ช่วงที่ผ่านมามีกระแสเล็ดลอดมาเป็นระยะถึง “เกมต่อรอง” ภายในขั้วรัฐบาล ยิ่งในยามที่ภูมิใจไทยเผชิญวิบากกรรมเช่นนี้ด้วยแล้วแรงต่อรองย่อมมีเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณตามไปด้วย
ไม่เว้นแม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการจับตาว่า หลังการคืนสู่อิสรภาพของ “นายใหญ่” ตัวจริง ที่สุดนายกรัฐมนตรีจะยังชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” อยู่อีกหรือไม่ ต้องติดตาม!