‘พิชิต’ ชี้ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ จบที่ ‘ศาลรัฐธรรมนูญ’ ซัด ‘ป.ป.ช.’ อย่ารีบขวาง
“พิชิต ชื่นบาน“ ซัด “ป.ป.ช.” ขยับไม่ถูกจังหวะ หลังมีข้อเสนอทักท้วง “ดิจิทัลวอลเล็ต” ทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ ทั้งที่โครงการยังไปไม่ถึงไหน วอน ให้อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง อย่ารีบออกตัว ลั่น ท้ายสุด “ศาลรัฐธรรมนูญ” ชี้ขาด พ.ร.บ.กู้เงิน ขัดกฎหมายหรือไม่
นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวระบุว่า “ข้อเสนอแนะ ที่ไม่ถูกจังหวะ”
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเผยแพร่ข้อเสนอแนะที่เกี่ยวกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตโดยมีการกล่าวอ้างว่าเป็นข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อคณะรัฐมนตรี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 32 ต่อมานายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้แจงว่า ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่มีความเห็นใดๆ เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว เพราะต้องรอคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ละท่านส่งความเห็นสรุปกลับมาก่อนจะมีมติและส่งความเห็นไปยังรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ร่างเอกสารที่เกี่ยวกับข้อเสนอแนะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ที่เผยแพร่ออกมานั้น มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตถึงช่วงเวลาความเหมาะสม ต่อข้อเสนอแนะ ว่าถูกจังหวะหรือไม่ เพราะโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต เป็นหนึ่งในโครงการที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มี มติเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 เห็นชอบในหลักการให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินฯ เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ และแนวทางการดำเนินโครงการ ฯ หลักเกณฑ์และเงื่อนไข และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
ภายหลังคณะกรรมการนโยบายฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ เพื่อทำการศึกษา พิจารณา วิเคราะห์การดำเนินโครงการฯ และแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการฯ รวมทั้งเสนอแนะนโยบาย วัตถุประสงค์ แนวทาง หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการดำเนินโครงการฯ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ ปัจจุบันโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่จะพิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องพิจารณาข้อเท็จจริง ความเห็น หรือข้อสังเกตของกรรมการในคณะกรรมการนโยบาย ฯ รวมทั้งข้อมูลจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนที่เกี่ยวข้องให้รอบคอบและรอบด้านเสียก่อนตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นไว้ และเมื่อคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
หากคณะรัฐมนตรี เห็นชอบก็ยังมีกระบวนการและขั้นตอนต่างๆ ที่จะดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติกู้เงินต่อสภา ผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 133 อีกเมื่อร่างพระราชบัญญัติกู้เงินเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร ยังมีขั้นตอนที่ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยจะได้ร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่างๆ ของ โครงการฯ ร่วมกันอีกครั้ง หากได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ยังมีกระบวนการ ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติกู้เงินจากศาลรัฐธรรมนูญอีก
ท้ายสุดหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติกู้เงินไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็จะเข้าสู่การประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย และจะทำให้กระทรวงการคลังก็จะมีอำนาจในการกู้เงินได้
กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นกระบวนการตามกฎหมายอันเป็นกระบวนการตรวจสอบ ตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตยที่รัฐบาลได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตตามหลักการของรัฐธรรมนูญ ไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการฯ ดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน โดยที่ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังคงเฝ้ารอโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตอยู่
ซึ่งรัฐบาลพยายามที่จะเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่ แม้ข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลที่ ภาคส่วนต่างๆ ดำเนินการตรวจสอบอยู่จะเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่เป็นที่ยุติ ไม่ควรสมมติฐาน หรือคาดหมายล่วงหน้าในสถานการณ์ที่ไกลเกินกว่าที่ควรจะเป็น
เมื่อปัจจุบันโครงการฯ ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายฯ ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้น ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดำเนินการใดๆ เพื่อที่จะกู้เงิน การที่หลายฝ่ายเร่งรีบให้ข้อเสนอแนะต่อโครงการ ฯ จึงอาจเร็วไปหน่อย ไม่ถูกจังหวะเท่าที่ควรและอาจกลายเป็นอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้แต่วิงวอนผู้มีอำนาจทั้งหลาย โปรดเหลียวตา มองดูประชาชน และรอดูจังหวะที่เหมาะสมดีกว่าไหม