เข็นแจก‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หืดจับ ภท.สะเทือน ลามยักษ์ ‘ดิวตี้ฟรี’
การเดินหน้านโยบายสำคัญของรัฐบาล ดูจะเหนื่อยพอสมควร ขณะที่ภูมิใจไทย หากเจออุบัติเหตุทางการเมืองที่ร้ายแรง ย่อมเกิดอาฟเตอร์ช็อก ไปถึงองคาพยพนอกเวทีการเมืองหลายเจ้า มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นเกมที่เลี่ยงไม่ได้
Key Points
- โครงการดิจิทัลวอลเล็ต มีผลทางการเมืองมากกว่าแลนด์บริดจ์ เพราะประชาชนมีส่วนได้เสียโดยตรง
- แต่การเดินหน้านับวันจะยิ่งมีอุปสรรคและแรงต่อต้าน โดยเฉพาะจากป.ป.ช. พรรคร่วมรัฐบาลเอง เมื่อถึงเวลาอาจจะต้องขยับท่าที
- ภูมิใจไทย ที่ลุ้นเกมเสี่ยงยุบพรรค หากเผชิญข่าวร้าย อาจส่งผลสะเทือนต่อพาร์ทเนอร์ในทางธุรกิจหลายเจ้า
- หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นอาณาจักรดิวตี้ฟรี ซึ่งบิ๊กรัฐบาลในเวลานี้ เคยพยายามล็อบบี้เพื่อแบ่งเค้กก้อนโตมาแล้ว
การเดินหน้าเต็มสูบของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ในการผลักดัน 2 เมกะโปรเจ็กต์สำคัญ ที่คาดหวังให้เป็นซิกเนเจอร์ของรัฐนาวา “นิด 1”ทั้งการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และแลนด์บริดจ์
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เซลล์แมนเศรษฐา หมายมั่นปั้นมือกับโปรดักส์ 2 ตัวนี้ค่อนข้างมาก ดิจิทัลวอลเล็ตที่หวังตีตลาดในประเทศกับคน 50 ล้านคน ขณะที่แลนด์บริดจ์ ถูกส่งไปตีตลาดต่างประเทศ เพื่อดึงเม็ดเงินลงทุนก้อนอภิมโหฬาร 1 ล้านล้านบาท
ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ชื่อว่าผลักดัน“โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก” หรือ EEC จนเป็นที่จดจำ รัฐบาลเศรษฐา ก็พยายามสร้างสตอรี่ให้เป็นที่จดจำด้วย“แลนด์บริดจ์” นั่นเอง แม้ว่าโครงการนี้จะมีไอเดียตั้งต้นจะมาจากรัฐบาลก่อนก็ตาม
แต่ทั้ง 2 โครงการที่เผชิญแรงเสียดทาน และแรงกดดันในมิติที่ต่างกันไป ก็ไม่ได้ทำลายความตั้งใจของรัฐบาลลงแต่อย่างใด
ข้อเสนอของอนุกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการแจกเงิน พร้อมกับแนะนำแนวทางที่เหมาะสมต่อรัฐบาล แต่การขยับของ ป.ป.ช. ยิ่งจะสร้างแรงต่อต้านจากฝ่ายบริหาร
เศรษฐา เองประเดิมเบิกร่อง ซัด ป.ป.ช.ไปแล้วว่า อย่าพูดลอยๆ ว่ามีทุจริต ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ ก็จวกป.ป.ช. ทำเกินหน้าที่ ด่วนสรุปว่าจะมีทุจริต หรือแม้แต่ พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกฯ ก็ซัดป.ป.ช. อีกดอก ว่าขยับไม่ถูกจังหวะ ทำตัวเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ
จะเห็นได้ว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ต เป็นเรือธงของรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย อย่างแท้จริง คีย์แมนรัฐบาลต่างไม่ยอมให้ใครหน้าไหน ด้อยค่าโครงการนี้ พร้อมปกป้องเต็มที่
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าดิจิทัลวอลเล็ตมีผลในทางการเมืองต่อรัฐบาลมากกว่าแลนด์บริดจ์ เป็นไหนๆ
การแจกเงินหมื่นเป็นสัญญาประชาคมที่ให้ไว้ตั้งแต่หาเสียง เป็นเหมือนมาตรการเฉพาะหน้า ที่รัฐบาลอยากให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นการซื้อใจคนก่อนการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมาถึง
ต่างจากแลนด์บริดจ์ ที่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้รู้สึกมีส่วนได้เสียโดยตรงมากเท่ากับแจกเงิน และไม่รู้อีกกี่ปีถึงจะเห็นโครงการนี้เกิดเป็นรูปธรรม
ถึงจะมีอุปสรรค แรงต้าน เช่นที่ ป.ป.ช. ตั้งท่าค้านการกู้เงิน 5 แสนล้านมาโปรยให้ประชาชน ตรงนี้ จึงเป็นสัญญาณไม่สู้ดีนักสำหรับรัฐบาล ที่อาจโดนเจาะยางระหว่างทาง
ไม่ต่างจาก “พรรคภูมิใจไทย” ที่ยังมีเกมเสี่ยงหลายสเต็ปให้ต้องลุ้นกันหืดขึ้นคอ ไม่ว่าเกมปรับ ครม. ที่คนในแวดวงการเมือง พูดกันมาระยะหนึ่งแล้ว ถึงโมเดลยึดคืนเก้าอี้ “มท.1” หรือที่พูดกันถึงขนาดว่าจะตัดออกจากกองมรดก หลุดจากความเป็นรัฐบาล
ถึงแม้ขณะนี้ เศรษฐาจะยืนยันไม่ปรับ ครม. แต่คนในรัฐบาลก็น่าจะรู้ดีว่า เศรษฐากับคนชั้น 14 เสียงใครศักดิ์สิทธิ์กว่ากัน
นอกจากนั้น ภูมิใจไทยยังมีบ่วงยุบพรรคให้ต้องลุ้น สืบเนื่องจากกรณีศักดิ์สยาม ชิดชอบ ซุกหุ้นหจก.บุรีเจริญฯ ที่พันกับเงินบริจาคให้กับพรรค ก็เป็นเกมเสี่ยงสิ้นชื่อ
พาร์ทเนอร์ในแวดวงธุรกิจที่เหนียวแน่นกับภูมิใจไทย มีโอกาสเจอเกมเสี่ยงตามไปด้วย เช่น ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี อาจเจอแรงกระเพื่อมอีกระลอก จากบิ๊กรัฐบาลบางคน ที่เคยล็อบบี้ให้มีคู่แข่งเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งตลาด หรือเปลี่ยนผู้เล่นตัวหลักเลยทีเดียว
โชคดีที่ตอนนั้น “บิ๊กคนสำคัญ” ในรัฐบาลก่อนไม่เอาด้วย อาณาจักรดิวตี้ฟรี จึงไม่ถูกแบ่งเค้ก
มารัฐบาลนี้ ก็ต้องจับตาว่าแนวคิดล้มยักษ์ยังมีอยู่หรือไม่ และเศรษฐาที่แนบแน่นกับเอกชนรายนั้น จะตัดสินใจอย่างไร หากวันที่ภูมิใจไทยเจอข่าวร้าย
การเดินหน้านโยบายสำคัญของรัฐบาล ดูจะเหนื่อยพอสมควร ขณะที่ภูมิใจไทย หากเจออุบัติเหตุทางการเมืองที่ร้ายแรง ย่อมเกิดอาฟเตอร์ช็อก ไปถึงองคาพยพนอกเวทีการเมืองหลายเจ้า มากบ้าง น้อยบ้าง เป็นเกมที่เลี่ยงไม่ได้ จนอาจต้องรีบขยับปรับตัวกันตั้งแต่วันนี้