พลิกปูม ‘นครินทร์ เมฆไตรรัตน์’ '1 เสียง'ศาลรธน. ฟัน‘พิธา’พ้น สส.
ฉากชีวิต “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ในวันที่สปอร์ตไลท์จับจ้อง ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และ 1 เสียงที่ฟัน “พิธา” ต้องรอติดตามเหตุผลและแง่มุมกฎหมายในคำวินิจฉัยส่วนตน ที่จะเผยแพร่ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้
KeyPoints:
- "นครินทร์ เมฆไตรรัตน์" ประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ เป็นเพียงหนึ่งเสียงของตุลาการฯ ที่วินิจฉัยให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" พ้นจากตำแหน่ง สส. กรณีถือหุ้นไอทีวี
- ก่อนหน้านี้เขาเป็นหนึ่งในเสียงข้างน้อย สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ หลังครบ 8 ปี ในวันที่ 24 ส.ค. 2565
- สำหรับที่เกี่ยวพันกับ พล.อ.ประยุทธ์ อีก 3 คดี ประกอบด้วย คดีบ้านพักหลวง คดีถวายสัตย์ คดีขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ "นครินทร์" อยู่ในเสียงข้างมาก ซึ่งมีมติเอกฉันท์ทั้ง 3 คดี
พลันที่มติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" รอดพ้นคดีถือหุ้นสื่อ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และได้กลับไปทำหน้าที่ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลต่อ
1 ใน 8 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อยก็กลายเป็นโฟกัสการเมืองทันที นั่นคือ “ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ตุลาการฯ ที่เห็นว่า สมาชิกภาพของ สส.ของพิธา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)
เขาจึงเป็นเพียงหนึ่งเดียวในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยให้ “พิธา” พ้นจากตำแหน่ง สส.
"นครินทร์" เพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2567 แทนที่ วรวิทย์ กังศศิเทียม ที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี
โดยก่อนหน้านี้เขาเป็น 1 ใน 7 เสียงข้างมาก พิจารณารับเรื่องดังกล่าวไว้ พร้อมสั่ง “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ชั่วคราว ส่งผลให้พรรคก้าวไกล ไม่สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯไปโหวตสู้กับคู่แข่งได้ เนื่องจากส่งชื่อ “พิธา” เพียงคนเดียว
นครินทร์ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือน พ.ย.2558 มีวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2550 จะพ้นจากตำแหน่งในเดือน พ.ย. 2567 นี้
ฟัน "ประยุทธ์" นั่งนายกฯครบ 8 ปี
ประสบการณ์ก่อนจะขึ้นมาเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ เขาผ่านการตัดสินคดีทางการเมืองมาสำคัญมาหลายคดี อย่างน่าสนใจ
โดยเฉพาะคดี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี นครินทร์เป็นหนึ่งในเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ที่มีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยกรณีดังกล่าว “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การดำรงตำแหน่งนายกฯ จะต้องเริ่มในวันที่ 24 ส.ค.2557 และจะสิ้นสุดครบ 8 ปีในวันที่ 24 ส.ค. 2565
จากนั้นยังเป็นเสียงข้างน้อย 6 ต่อ 3 วินิจฉัยให้วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ครบ 8 ปี โดยให้พ้นจากตำแหน่ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ โดยเขาให้เหตุผลในคำวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องยึดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ป้องกันผูกขาดอำนาจบริหาร
เสียงข้างมาก 3 คดี"ประยุทธ์"
ก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2563 เป็นเสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 คดีพักบ้านหลวงของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยวินิจฉัยว่า แม้จะเกษียณอายุไป 6 ปี (ในขณะนั้น) แต่เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 ชี้ว่า รัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกฯ
ปี 2562 เสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 คดีขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และปี 2562 เสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 คดีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบ
เสียงข้างมากคดี“ยุบอนาคตใหม่”
นอกจากนี้ นครินทร์ยังเป็นตุลาการศาลธรรมนูญเสียงข้างมาก พิจารณาคดียุบพรรคอนาคตใหม่ ทำผิด พ.ร.ป.พรรคการเมือง รับเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาใช้จ่ายเป็นทุน ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง มีความมุ่งหมายเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคเป็นไปโดยเปิดเผย ตรวจสอบได้ มีมาตรการกำกับให้พรรคดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่สมาชิกของพรรค
โดยการที่พรรคอนาคตใหม่รับเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาใช้จ่าย เป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ทั้งที่เป็นเงินที่ไม่ได้มีแหล่งที่มาและวิธีการได้มาตามกฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 62 จึงเป็นกรณีที่พรรคอนาคตใหม่รับบริจาคประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ม.72 จึงเป็นเหตุให้ยุบพรรคตาม ม.92 วรรคสอง
จากข้าราชการสู่มือกฎหมาย
เมื่อย้อนไปดูเส้นทางของประธานศาลรัฐธรรมนูญผู้นี้ “นครินทร์”มีที่มาจากนักวิชาการ เคยเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ปี 2528 ก่อนจะย้ายมาเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และได้เลื่อนขึ้นเป็นคณบดี คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระหว่างปี 2547 - 2553
เคยผ่านงานสำคัญ อาทิ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ปี 2549 - 2550) กรรมการอื่นใดในคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (ปี 2551 - 2554) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ค.2553 -ก.ย.2554)
ต่อด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร (เม.ย.2554) รองอธิการบดีฝ่ายบริหารทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก.ย. 2554 - ม.ค.2557)
จากนั้นดำรงตำแหน่ง กรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการเมือง (13 ส.ค.2557) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (4 พ.ย.2557) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (16 พ.ย. 2558 - ปัจจุบัน)
ทั้งหมดคือฉากชีวิต “นครินทร์ เมฆไตรรัตน์” ในวันที่สปอร์ตไลท์จับจ้อง ในฐานะประธานศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ และ 1 เสียงที่ฟัน “พิธา” ต้องรอติดตามเหตุผลและแง่มุมกฎหมายในคำวินิจฉัยส่วนตน ที่จะเผยแพร่ภายใน 1 เดือนหลังจากนี้